วันนี้ ( 15 ม.ค.2568) นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าในแต่ละท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งช่วยให้สินค้า GI เป็นสินค้าสำคัญที่ขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาล
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
ล่าสุด กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียน หอยนางรมท่าโสม เป็นสินค้า GI ลำดับที่ 4 ของจ.ตราด ต่อจากสับปะรดตราดสีทอง ทุเรียนชะนีเกาะช้าง และทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด
ทั้งนี้ หอยนางรมท่าโสม เดิมพบในแหล่งน้ำอ่าวท่าโสมบริเวณชายฝั่งป่าชายเลนจังหวัดตราด เกาะติดกับรากไม้โกงกาง และก้อนหิน ต่อมาได้มีการนำท่อซีเมนต์ปักลงในดินเลนแถบพื้นที่ชายฝั่งทะเลจ.ตราด พบว่ามีลูกหอยนางรมเกาะอาศัยเป็นจำนวนมาก รวมกับสภาพน้ำบริเวณปากแม่น้ำเวฬุที่มีทั้งน้ำทะเล น้ำจืด และน้ำกร่อย ไหลมาบรรจบกัน ทำให้มีระบบการไหลเวียนน้ำที่ดี อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแพลงก์ตอน
หอยนางรมท่าโสม สินค้าจีไอ จ.ตราด
หอยนางรมท่าโสม สินค้าจีไอ จ.ตราด
ทำให้หอยนางรมท่าโสมมีคุณภาพดี เนื้อสีขาวครีม อวบอ้วน และเนื้อแน่นคงรูปเต็มฝาหอย รสสัมผัสนุ่ม หวานฉ่ำ มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ จึงทำให้มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของผู้บริโภค โดยพื้นที่การเลี้ยงหอยนางรมท่าโสมที่ขึ้นทะเบียน GI ประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านท่าโสม บ้านละมีบ บ้านสลัก และบ้านอ่างกระป่อง ต.ท่าโสม อ.เขาสมิง จ.ตราด
นายนภินทร กล่าวต่อว่า หลังจากประกาศขึ้นทะเบียน GI แล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญายังคงเดินหน้าส่งเสริม และสนับสนุนสินค้า GI แบบครบวงจรผ่านการควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าหอยนางรมท่าโสม รวมทั้งส่งเสริมการตลาด เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน และเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป
อ่านข่าว:
“บ้านเพื่อคนไทย” ยุคเศรษฐกิจขาลง “Genใหม่” เช่า มากกว่า ซื้อ
“FTA ไทย – เอฟต้า” ลงนาม 23 ม.ค.นี้ กรุยทางสินค้าไทยรุกตลาดยุโรป
ห่วงกระสุนหมด! บิ๊กเอกชน เสนอรัฐฟื้น “คนละครึ่ง” กระตุ้นกำลังซื้อ