เมื่อถึงวันครู หลายคนมักจะคิดถึงครูในชุดเรียบร้อยหน้าเสาธงที่สอนนักเรียนด้วยความรัก ความตั้งใจ และไม้เรียวอยู่บ้าง แต่ในยุคดิจิทัลแบบนี้ บทบาทของครูไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนอีกต่อไป เพราะพวกเขายังเป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ นักคิดนอกกรอบ และบางครั้งยังเป็นดาวเด่นในโลกโซเชียล! วันครู 2568 ปีนี้ จึงไม่ใช่แค่การรำลึกถึงคุณครูในอดีต แต่ยังเป็นโอกาสให้เราได้ชื่นชมครูยุคใหม่ที่เปลี่ยนการเรียนรู้ให้ทันสมัยและใกล้ชิดกับโลกจริงมากขึ้น
"ครูเฟิร์น" ครูอินฟลูฯ ติ๊กต็อก เปลี่ยนการเรียนเป็นเรื่องสนุก
หนึ่งในครูที่เป็นกระแสมาแรงตอนนี้คือ "ครูเฟิร์น" ครูสอนภาษาอังกฤษที่โด่งดังในติ๊กต็อก ด้วยการนำเนื้อหาวิชาการที่ดูเหมือนจะหนักหนามาสอนใหม่ในแบบฉบับที่ทั้งสนุกและเข้าใจง่าย ผ่านคลิปไวรัลที่มียอดวิวทะลุล้านหลายโพสต์ ชาวต๊อกต๊อกหลายคนต้องเคยไถฟีดแล้วเจอ ครูเฟิร์นสอนภาษาอังกฤษสำเนียงเป๊ะเวอร์ แต่คำตอบภาษาไทยที่นักเรียนตัวน้อยตอบกลับมาแต่ละคำนั้น เรียกรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ จนต้องกดใจส้ม คอมเมนต์ชื่นชมให้กำลังใจกับความพยายามในวิชาภาษาอังกฤษของทั้งผู้สอนและผู้เรียนจริง ๆ
วันครู 2568 ปีนี้ ไทยพีบีเอสออนไลน์เลือกสัมภาษณ์ ครูเฟิร์น-ชญานิศ รัตนวงศ์ชัย ครูประจำชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านอุ่มจาน จ.สกลนคร ครูเฟิร์นเล่าว่าเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษที่ชาวเน็ตได้เห็นผ่านโซเชียลของครูนั้น คือตัวตน คือธรรมชาติ จริง ๆ ของครูเฟิร์น และเธอสอนแบบนี้มานานมากแล้ว
เริ่มต้นจากการลองผิดลองถูก เมื่อก่อนก็สอนแบบเคร่งเครียด คาดหวังอยากให้เด็กนักเรียนเป็นแบบที่ตัวเองสอน แต่สุดท้ายสภาพความเป็นจริงทุกอย่างก็ทำให้ครูเฟิร์นรู้ตัวว่า "ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว" เด็ก ๆ เติบโตมาอีกแบบ
จะมาบอกว่า สมัยก่อนครูโตมาแบบนี้ สมัยนี้ก็ต้องเป็นเหมือนกัน มันไม่ใช่แล้ว
Soft Power โรงเรียนขนาดเล็ก "1 คุณครู 1 ชั้นเรียน"
การมาถึง โรงเรียนบ้านอุ่มจาน ของครูเฟิร์นเมื่อ 9 ปีก่อน หลังจากบรรจุมาเป็นครูประจำชั้นโรงเรียนขนาดเล็กใน จ.สกลนคร แล้ว ครูเฟิร์นบอกว่าเธอพอรู้เรื่อง "โลกแห่งความเป็นจริงของการเป็นบรรจุเป็นครู" อยู่บ้าง แต่เมื่อได้สัมผัสจริง ๆ ต้องเรียกว่า นี่สิของจริง!
แม้ว่าจะจบเอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาก็ตาม แต่เมื่อบรรจุเข้าโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้ครูเฟิร์นต้องรับหน้าที่เป็นครูที่สอน "ทุกวิชา" ให้กับเด็กชั้น ป.4 และก็เป็นเช่นนี้กับคุณครูอีก 7 คนที่เหลือ ที่ต้องรับผิดชอบกัน 1 คนต่อ 1 ระดับชั้น หน้าฉากที่หลายคนเห็นว่าครูสอนภาษาอังกฤษ แต่หลังฉากยังมีอีกหลายวิชาที่เธอต้องสอน
เฟิร์นจะเน้นเรื่องสุขอนามัยของเด็กมาก ๆ เพราะเด็กส่วนใหญ่ในโรงเรียนไม่มีพ่อแม่ ไม่มีใครสอน เฟิร์นต้องสอนแม้กระทั่งเข้าห้องน้ำแล้วต้องเช็ดล้างยังไง เด็กผู้ชายก็ต้องสอนเรื่องการคุมกำเนิดเพราะเข้าสู่วัยรุ่น
ที่ ๆ ครูเฟิร์นสอนห่างจากสนามบินสกลนครเพียง 30 กิโลเมตร แต่ดูห่างไกลความเจริญมาก พวกอาหารที่อยู่ในห้าง เช่น ไก่ทอดผู้พัน เด็ก ๆ แทบไม่มีโอกาสได้กินเลย แต่ในความเหลื่อมล้ำก็มีข้อดีที่ครูเฟิร์นพอมองเห็นแล้วจัดการได้ ด้วยจำนวนนักเรียนที่น้อย เด็กหลาย ๆ คนก็จะมีโอกาสเยอะที่ได้เข้ามาแข่งขันวิชาการในตัวเมือง ก็จะได้กินอาหารในห้างอยู่บ้าง
ห้างในตัวเมืองแค่ชั้นเดียว แต่เด็ก ๆ ตื่นตาตื่นใจมาก ครูก็ดีใจไปกับเด็ก แต่อีกมุมก็สะท้อนใจในที่โอกาสต่าง ๆ เข้าถึงเด็กนักเรียนน้อยเหลือเกิน
ครูเฟิร์นบอกว่า อยากให้เด็ก ๆ ได้เห็นว่านอกจากที่ที่พวกเราอยู่นั้น มีอีกสถานที่หนึ่งที่เรียกว่า "โลกภายนอก" อยู่นะ เป็นที่ที่มีทั้งโอกาสและอันตรายอยู่เยอะมาก ครูเฟิร์นมักจะถ่ายรูปสถานที่ต่าง ๆ นอกโรงเรียนแล้วมาโชว์ให้เด็ก ๆ ดู แม้บางคนจะไม่เข้าใจว่าเธอต้องการสื่อถึงอะไร แต่เธอก็หมั่นทำไปเรื่อย ๆ เพราะต้องการเปิดโลกกว้างให้กับเด็ก ๆ
ไม่มี = ไม่มี
"เด็กที่ไม่มีก็คือไม่มีจริง ๆ ไม่รู้จะเอาอะไรมาให้มีได้" นั่นคือประโยคที่ครูเฟิร์นย้ำกับไทยพีบีเอสออนไลน์หลายรอบ ก่อนจะบรรจุเข้ามาที่โรงเรียนบ้านอุ่มจาน ครูเฟิร์นเคยเป็นครูฝึกสอนที่โรงเรียนในตัวเมืองแห่งหนึ่ง ทุกอย่างดูดีมาก เด็ก ๆ ทุกคนมีเสื้อผ้าสะอาดใส่ มีคนขับรถมาส่ง ถามอะไรเด็ก ๆ ตอบได้หมด
แต่พอมาอยู่ที่นี่ ถามอะไรก็ไม่ตอบเลย
กลายเป็นว่านอกเหนือจากการสอนวิชาการแล้ว ครูเฟิร์นยังต้องรับหน้าที่สอนการใช้ชีวิตให้เด็ก ๆ อีกด้วย บางบ้านพ่อแม่ ผู้ปกครองไม่ได้ปลูกฝังลูกเรื่องความสำคัญของการศึกษา แต่ในมุมของผู้ให้การศึกษา จำเป็นอย่างมากที่พยายาม "ให้" ให้ได้มากที่สุด
ผู้ปกครองบางคนบอกว่า จะให้เรียนสูง ๆ ไปทำไม ในเมื่อจบมาก็ไปทำนา เด็กอ่านหนังสือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ลูกฉันขับรถไถเก่งนะ
คำพูดเหล่านี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึง "ความเหลื่อมล้ำ" ในสังคมที่กลายเป็นเรื่องปกติที่คนในพื้นที่ "ยอมรับ" แต่ครูเฟิร์นกลับมองว่า ยิ่งไม่มี ยิ่งต้องทำให้มี
เช่นเดียวกับ "ผู้ใหญ่ใจดี" หลาย ๆ คนที่อยากส่งของให้เหล่านักเรียนที่ รร.บ้านอุ่มจาน หลังเพลิดเพลินกับความน่ารักจากคลิปที่ครูเฟิร์นโพสต์ แน่นอนว่าเหล่าผู้ใหญ่ใจดีไม่ได้นัดกันว่าใครจะส่งของให้เด็ก ๆ กันวันไหน บางวันมีคนอินบ๊อกซ์มาหาครูเฟิร์นพร้อม ๆ กันจำนวนมาก ครูเฟิร์นบอกว่าเธอดีใจมากที่มีคนหลาย ๆ คนเอ็นดูเด็กนักเรียนเหล่านี้ และอยากให้พวกเด็ก ๆ ได้มีโอกาสต่าง ๆ มากมาย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เธอก็ต้องสอนเด็ก ๆ ให้รู้และเข้าใจว่า ไม่มีอะไรที่ได้มาง่าย ๆ หากเด็ก ๆ ได้รับของที่ส่งมาให้มากเกินไป ก็จะเหลิงได้ หลาย ๆ ครั้งครูเฟิร์นต้องหากิจกรรมให้เด็ก ๆ ทำเพื่อแลกกับของขวัญจากเหล่าเอฟซีใจดีที่อยากส่งมอบโอกาสดี ๆ เป็นการตอบแทนที่เธอทำคลิปสนุก ๆ ผ่านช่องทางโซเชียล
ครูคือ "ผู้ให้"
เมื่อเจอเด็กที่ถามอะไรก็ตอบไม่ได้ ให้บวกเลขก็บวกไม่เสร็จสักที ทิ้งโจทย์ไว้ตอนเช้าแบบไหน บ่ายค่ำมาโจทย์ก็ยังอยู่แบบนั้น เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งมหัศจรรย์ที่นาน ๆ จะเกิดขึ้นทีกับชีวิตครูโรงเรียนขนาดเล็กของครูเฟิร์นเลย สิ่งที่ตามมาคือ "ความท้อแท้" ที่เกิดขึ้นในใจ ตามต่อมาด้วยทัศนคติเชิงลบที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน
ครูเฟิร์นเล่าว่า เมื่อก่อนครูเฟิร์นก็อาจจะเป็นครูที่นิสัยไม่ดีคนหนึ่ง สอนก็สอนไป ไม่ได้ใส่ใจอะไร มิหนำซ้ำถ้ามาเจอกับความไม่ได้ดั่งใจ ไม่เป็นดั่งที่คาดหวัง ความน้อยเนื้อต่ำใจถึงขั้นร้องไห้ระบายความเครียดออกมาก็เกิดขึ้น จนเมื่อเธอกลับไปหาอาจารย์ที่สอน "ความเป็นครู" ให้เธอ เธอกลับได้แรงบันดาลใจและมุมมองที่เปลี่ยนไปกลับมา
อย่าท้อ อย่าโฟกัส อย่าคาดหวังว่าเด็กจะรับได้มากน้อยแค่ไหน แต่ให้สนใจว่าเราได้ให้อะไรเด็ก ๆ ไปบ้าง
อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้ครูเฟิร์นอยากเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กนักเรียนมากขึ้นให้ได้คือ "ความเป็นแม่ยุคเจน Y" เพราะเจน Y เป็นเจนที่ทำทุกอย่างเพื่อลูก เธอเล่าว่าเธอไม่อยากให้ลูกเจอครูนิสัยไม่ดีอย่างที่เธอเคยเป็น มุมมองต่าง ๆ เหล่านี้จึงทำให้ครูเฟิร์นเริ่มเข้าใจและดูแลเด็ก ๆ ที่โรงเรียนด้วยความเอาใจใส่มากขึ้น
นี่อาจจะเป็นบทสัมภาษณ์ที่ออกแนวดรามาเล็ก ๆ ขัดกับตัวตนครูเฟิร์นที่เราได้เห็นผ่านช่องทางโซเชียลของเธอ แต่สิ่งที่ครูเฟิร์นสะท้อนออกมา ทำให้เห็นถึงระบบการศึกษาที่เหลื่อมล้ำในหลาย ๆ มุม รวมถึงโอกาสในสังคม การดูแลในท้องถิ่น ที่เมื่อรวมกันแล้ว การจะปั้นเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในสังคมเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศไปได้นั้น จะเป็นครกใบใหญ่ ๆ ที่ครูในโรงเรียนชนบท หรือ "ครูบ้านนอก" ที่หลายคนเรียกกันต้องเข็นขึ้นภูเขาไปให้ได้
ครูรุ่นน้องหลาย ๆ คนถึงกับเอ่ยปากอยากลาออกจากการเป็นครูชนบท เพราะทรัพยากรทางการศึกษารวมถึงทรัพยากรทางบุคคลนั้น ไม่ได้เอื้อต่อการทำหน้าที่ครูเลย ปัจจุบันครู 1 คนไม่ได้ทำหน้าที่สอนนักเรียนเท่านั้น แต่ต้องทำเอกสาร งานวิจัยเลื่อนขั้น การเงิน รับพัสดุ ประชุม ถ้ารวม ๆ กันอาจมากกว่าเวลาที่ต้องสอนนักเรียนอีกด้วยซ้ำ ครูเฟิร์นกล่าวปิดท้ายการสนทนาว่า
ในวันครูปีนี้ ครูอยากให้กำลังใจครูทุกคนทั่วประเทศ และครูที่ดีคือครูที่ได้สอนเฉย ๆ ค่ะ
ครูเฟิร์นไม่ได้เป็นแค่ครู แต่ยังเป็นอินฟลูฯ ที่จุดประกายให้เด็ก ๆ หลายคน รักการเรียนรู้และมองเห็นว่าภาษาอังกฤษนั้น "คูล" แค่ไหน!
อ่านข่าวอื่น :
"วันครู" หยุดไหม ? เปิดปฏิทินวันสำคัญที่ไม่นับว่าเป็นวันหยุด
นายกฯ ชวนคนไทยร่วมงาน “วันครู” 16 ม.ค.68