ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"คอร์ติซอล" ตัวการอ้วน เมื่อความเครียดทำ "พุงพุ่ง" แบบไม่รู้ตัว

ไลฟ์สไตล์
17 ม.ค. 68
06:06
73
Logo Thai PBS
"คอร์ติซอล" ตัวการอ้วน เมื่อความเครียดทำ "พุงพุ่ง" แบบไม่รู้ตัว
เครียดไม่ได้แค่ทำให้ปวดหัว แต่ยังอ้วนได้ด้วย! ฮอร์โมนคอร์ติซอลที่หลั่งออกมาช่วงที่เครียด ทำให้ร่างกายพร้อม "สู้หรือหนี" แต่ถ้าเครียดบ่อย ๆ ก็ทำให้คอร์ติซอลพุ่งสูงเกินไปจนสะสมไขมันที่หน้าท้อง เสี่ยงทั้งโรคอ้วน โรคหัวใจ เบาหวาน และหลอดเลือดสมองได้

เครียดมากไปไม่ใช่แค่ปวดหัว แต่มันทำให้ "อ้วน" ได้ด้วย! เวลาร่างกายเราเจอกับความเครียดหนัก ๆ สมองจะสั่งให้หลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา เพื่อเตรียมพร้อมให้เราสู้กับปัญหา แต่พอเครียดบ่อย ๆ ฮอร์โมนตัวนี้ก็พุ่งกระฉูดจนเกินไป และแทนที่จะช่วยให้ร่างกายสมดุล กลับทำให้ระบบเผาผลาญรวนไปหมด ไขมันที่ควรจะถูกใช้ กลายเป็นสะสมแน่น ๆ ที่หน้าท้องแบบไม่ทันตั้งตัว

ยิ่งไปกว่านั้น คอร์ติซอลยังเล่นเกมกับสมองเรา ทำให้เราอยากกินของหวาน ๆ มัน ๆ ตลอดเวลา เครียดทีไรก็ต้องพึ่งขนมหวานหรือชานมแก้เซ็ง พอนานเข้าไขมันก็พุ่งไม่หยุด และที่หนักกว่านั้นคือไขมันพวกนี้ส่วนใหญ่ไปสะสมตรงท้อง ซึ่งเสี่ยงสุด ๆ ต่อโรคเรื้อรังต่าง ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องรูปร่างที่เปลี่ยนไป แต่สุขภาพโดยรวมก็แย่ตามไปด้วยถ้าไม่รีบจัดการ!

เครียด สู้ หนี วิวัฒนาการจากยุคหิน

รู้ไหมว่าทุกครั้งที่มนุษย์เครียด ร่างกายจะเปิดโหมด "สู้หรือหนี" หรือที่เรียกว่า Fight or Flight Response ซึ่งเป็นกลไกที่วิวัฒนาการมาจากยุคบรรพบุรุษมนุษย์ถ้ำ

เมื่อก่อนมนุษย์ยุคหินต้องเจอเรื่องชวนหัวใจวายตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นสัตว์นักล่าที่พร้อมจะจู่โจม หรือสภาพอากาศโหด ๆ ร่างกายเลยต้องมีระบบเตรียมพร้อมให้ "ลุย" กับอันตรายเหล่านี้ เมื่อสมองจับสัญญาณว่ามีภัย ระบบประสาทจะสั่งให้ปล่อยฮอร์โมน 2 ตัวหลัก "อะดรีนาลิน และ คอร์ติซอล" เพื่อช่วยให้ร่างกายพร้อมสู้เต็มที่ เช่น ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ส่งเลือดไปกล้ามเนื้อเยอะ ๆ น้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นเพื่อเติมพลังทันที แบบถ้าต้องวิ่งหนีเสือหรือสู้กับแมมมอธ ก็พร้อมบวกเต็มร้อย!

แต่พอโลกเปลี่ยนมาถึงยุคปัจจุบัน มนุษย์ไม่ต้องหนีเสือหรือออกล่าสัตว์เหมือนในอดีตอีกต่อไป แต่ปัญหา คือ สมองยังมองความเครียดในชีวิตปัจจุบันเป็นภัยคุกคามเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นงานที่กองเป็นภูเขา การเรียนที่กดดัน หรือดรามาชีวิตป้าข้างบ้าน ร่างกายก็ยังตอบสนองเหมือนกับว่าเรากำลังเผชิญหน้าเสือโคร่งตัวใหญ่ 

ผลก็คือ "คอร์ติซอล" พุ่งกระฉูด แต่แทนที่เราจะได้วิ่งสู้หนีเพื่อใช้พลังงาน ร่างกายกลับต้องนั่งอยู่กับโต๊ะเรียน โต๊ะทำงาน หรือจมอยู่บนโซฟา นานวันเข้ากลไกนี้ก็พาให้ระบบเผาผลาญรวน ไขมันสะสมที่พุง สุขภาพจิตก็เริ่มแย่ แถมบางคนยังเครียดจนเสพติดความรู้สึก "พร้อมสู้" แบบไม่รู้ตัว จนร่างกายทำงานผิดปกติ

"คอร์ติซอล" ตัวการลับทำพุงป่อง

คอร์ติซอล (Cortisol) ฟังชื่อแล้วดูเท่ ๆ แต่ถ้าหลั่งมากเกินไป ก็กลายเป็นวายร้ายที่ทำให้หลายคนพุงป่องแบบไม่รู้ตัว กลไกการหลั่งคอร์ติซอลเกิดขึ้นเมื่อเวลาที่ร่างกายเราเครียด คอร์ติซอลจะถูกปล่อยออกมาจากต่อมหมวกไตทันที เหมือนเป็นตัวช่วยฉุกเฉินที่ทำให้เราพร้อมสู้กับปัญหา 

หน้าที่หลักของคอร์ติซอล คือ ช่วยให้ร่างกายปรับตัวในระยะสั้น เพิ่มพลังงานและความพร้อมเพื่อรับมือกับความเครียด แต่ถ้าร่างกายเผชิญกับความเครียดเรื้อรัง ระดับคอร์ติซอลก็จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นในบางคน ความเครียดไม่ได้เป็นเพียงแค่ปฏิกิริยาชั่วคราวต่อสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่กลับกลายเป็น "ความเสพติด" โดยที่พวกเขาอาจรู้ตัวก็ดี ไม่รู้ตัวก็ดี จะทำให้ร่างกายปรับตัวให้คุ้นชินกับระดับคอร์ติซอลที่สูงอยู่ตลอดเวลา

เมื่อร่างกายหลั่งคอร์ติซอลในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง สมองจะเริ่มสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความเครียดกับการหลั่งฮอร์โมนนี้ บางครั้งทำให้เกิดความรู้สึก "กระปรี้กระเปร่า" หรือ "พร้อมต่อสู้" จนกลายเป็นวงจรที่ทำให้บางคนเสพติดความเครียดโดยไม่รู้ตัว

บางทีการทำงานหนัก พยายามเกินตัว หรือใช้ชีวิตแบบไม่มีวันพักผ่อน ก็เหมือนการเติมคอร์ติซอลให้ตัวเองวนไป

ผลที่ตามมาคือ พุง! คอร์ติซอลจะกระตุ้นให้ร่างกายสะสมไขมัน หลายคนที่รู้สึกว่าพุงออกง่ายเกินไป ทั้ง ๆ ที่ก็กินอาหารไม่ได้เยอะมากมาย อาจต้องนึกถึง "คอร์ติซอล" ไว้ก่อนความเครียดเรื้อรังทำให้คอร์ติซอลหลั่งออกมาเยอะเกินไป ซึ่งส่งผลให้ร่างกายสะสมไขมันบริเวณหน้าท้องและลำตัวส่วนกลางโดยเฉพาะที่เรียกว่า ไขมันอวัยวะภายใน (Visceral Fat) ซึ่งไม่ใช่แค่ทำให้รูปร่างเปลี่ยน แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เบาหวาน และหลอดเลือดสมองอีกด้วย

ข้อมูลของสมาคมโรคอ้วนในสหรัฐฯ (Obesity Society) พบว่าคนที่มีระดับคอร์ติซอลสูงนาน ๆ จะมีไขมันหน้าท้องเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับคนที่คอร์ติซอลอยู่ในระดับปกติ

เห็นตัวเลขยิ่งเครียดไปอีก

ผลการวิจัยในปี 2566 จากวารสาร Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism ระบุว่า คนที่มีคอร์ติซอลสูงเสี่ยงอ้วนมากขึ้นถึงร้อยละ 21 โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่อายุมากกว่า 35 ปี อีกทั้งยังพบว่าร้อยละ 70 ของคนที่เครียดนานเกิน 6 เดือน มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับในประเทศไทย สถิติจากกรมอนามัยปี 2565 บอกว่ากว่าร้อยละ 45 ของคนที่มีภาวะอ้วน เกี่ยวข้องกับความเครียดในชีวิตประจำวัน เช่น ความกดดันจากที่ทำงานหรือปัญหาในครอบครัว นอกจากนี้ การสำรวจคนทำงานในกรุงเทพฯ ยังพบว่าคนที่มีระดับคอร์ติซอลสูงมีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนมากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า

คอร์ติซอลไม่ได้แค่ทำให้พุงป่อง แต่มันยังทำลายสุขภาพในหลายด้าน เช่น เพิ่มความดันโลหิตทำให้เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด กดภูมิคุ้มกันทำให้ร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อง่าย รวมไปจนถึงนอนหลับยาก ยิ่งนอนน้อย คอร์ติซอลก็ยิ่งเพิ่ม วนไปในวงจรความเครียดที่ไม่มีที่สิ้นสุด

เคล็ดลับง่าย ๆ หยุดคอร์ติซอลไม่ให้พุ่ง

อยากให้คอร์ติซอลอยู่ในระดับสมดุลต้องเริ่มจากการจัดการ "ความเครียด" ให้ดี ลองหาเวลาทำสิ่งที่ช่วยให้ใจสงบ เช่น นั่งสมาธิ หายใจลึก ๆ หรือฟังเพลงโปรดบ้าง งานวิจัยบอกว่าการพักผ่อนจิตใจแค่วันละ 10-15 นาที ก็ช่วยลดระดับคอร์ติซอลได้เยอะ แถมยังทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

อีกอย่างที่ช่วยได้คือ "การดูแลร่างกาย" ให้แข็งแรง เช่น นอนหลับให้เพียงพอ (อย่างน้อย 7-8 ชม./วัน) ออกกำลังกายเบา ๆ อย่างเดินเล่นหรือโยคะ จะช่วยลดฮอร์โมนเครียดได้แบบธรรมชาติ และอย่าลืมกินอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ผลไม้ และโปรตีนดี ๆ เพื่อลดการอักเสบในร่างกาย จัดตารางชีวิตให้สมดุล หยุดทำงานบ้าง ชีวิตดีขึ้นแน่นอน

อ่านข่าวอื่น :

สายดื่มระวัง! แอลกอฮอล์ทุกหยด เสี่ยง "มะเร็ง" ทุกคน

เริ่มวันแรก Easy E-Receipt 2.0 ช้อปสินค้าลดหย่อนภาษี

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง