จากกรณีที่ ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาฯ เปิดชื่อบริษัทคู่สัญญากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค วานนี้ (24 ม.ค.2568) เมื่อตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบเป็น บ.ที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย
ขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่มีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนเป็นหลักปฏิบัติ ยืนยัน บริษัทคู่สัญญา ได้รับการรับรองจากรัฐบาลเมียนมา บริษัทที่เคยทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจาก กฟภ.ส่งไปที่ จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา เมื่อปี 2561-2566 คือ บริษัท SMTY
นอกจากนี้ ยังพบว่า เฟซบุ๊ก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้โพสต์ภาพวันลงนามสัญญาวันที่ 12 ม.ค.2561 โดยมี พ.ต.เต่ง วิน ผู้บัญชาการ กองบังคับการควบคุมพื้นที่ 2 กองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ปรากฏอยู่ในภาพด้วย
ชายเดียวกันยังปรากฏในภาพการประชุมร่วมระหว่างกองกำลัง BGF กองกำลัง DKBA กับนักธุรกิจชาวจีน เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมช้ามชาติ การหลอกลวงผ่านออนไลน์ และการค้ามนุษย์ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา
ส่วนบริษัทที่ทำสัญญาซื้อไฟฟ้าส่งไปที่เมืองท่าขี้เหล็กตามข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยจากนายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาฯ คือ บริษัท แอสตร้า อิเล็กทริค จำกัด
เมื่อสืบค้นข้อมูลในเว็บไซด์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัทนี้ จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2566 ทุนจดทะเบียน 2,000,000 บ. ระบุประเภทธุรกิจ การจ่ายไฟฟ้า วัตถุประสงค์เพื่อรับซื้อและจำหน่ายไฟฟ้า ทั้งภายในและนอกประเทศ ผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยร้อยละ 51 สัญชาติพม่า ร้อยละ 49
ขณะที่ บริษัทที่ทำสัญญากับ กฟภ. และ เป็นข่าวก่อนหน้านี้ คือ บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) จำกัด เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย เมื่อปี 2563 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยร้อยละ 51 สัญชาติเมียนมาร้อยละ 49 เริ่มทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ.ตั้งแต่ปี 2565
ผู้ถือหุ้นทั้งชาวเมียนมาและไทย เคยตกเป็นผู้ต้องหาเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด และ การฟอกเงินเมื่อปี 2565 ก่อนศาลพิพากษายกฟ้องในเดือน ม.ค.2567
มีคำยืนยันจาก กฟภ.ว่า บริษัทคู่สัญญาซื้อขายไฟได้รับการรับรองจากรัฐบาลเมียนมา ซึ่งหากเข้าไปในเว็บไซต์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในส่วนของการกำกับดูแลกิจการที่ดี จะพบว่า กฟภ.มีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนที่เผยแพร่สู่สาธารณะ ระบุว่า นโยบายนี้ครอบคลุมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุกิจ ของ กฟภ.ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อเป็นหลักปฏิบัติให้เป็นแนวทางเดียวกัน
นโยบายมี 5 ข้อคือ เคารพหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ล่วงละเมิด ไม่เลือกปฏิบัติ ทวนสอบสิทธิด้านสิทธิมนุษยชนรอบด้าน ขยายความข้อนี้คือ การตรวจสอบประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านจากการดำเนินธุรกิจ และ ตรวจสอบผลกระทบอันเกิดจากผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่าที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุน และข้อสุดท้าย สื่อสาร เผยแพร่ และ ให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน
อ่านข่าว : "กลาโหม" เปิดข้อมูล 2 จุดระงับส่งไฟให้ประเทศเพื่อนบ้าน
วิกฤตฝุ่น PM2.5! กลาโหมบูรณาการเร่งแก้ปัญหาคุกคามสุขภาพ
"ภูมิธรรม" ยืนยันต้นตอแก๊งคอลเซนเตอร์ไม่ได้มาจากไทย