ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ราคาทอง "ดีดตัวแรงขึ้น" เป็นประวัติการณ์ และสร้าง "All-time High" อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในประเทศไทย เปิดตลาดบวกแรง 850 บาท (ครั้งที่ 2) ส่งผลให้ราคาทองคำแท่งขายออกบาทละ 47,450 บาท รับซื้อบาทละ 47,350 บาท ส่วนราคาทองรูปพรรณรับซื้อบาทละ 46,495.72 บาท ขายออกบาทละ 47,950 บาท
ส่วนราคาทองคำตลาดโลก (Gold Spot) อยู่ที่ 2,942ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ณ อัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 34.07 บาทต่อดอลลาร์ ภาพรวมราคาทองปี 2568 บวก 4,050 บาท เฉพาะเดือน ก.พ. ทองคำปรับขึ้น 3,000 บาท
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDh7j7bjxHSo6AucZEoZ8naRX.png)
อ่านข่าว: ทองคำแท่ง พุ่งแรง 850 บาท ทำ All-time High ใหม่ "รูปพรรณ" ขายออก 47,950
หากย้อนสำรวจราคาทองคำช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่า มีการ "ปรับขึ้นลง" อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดราคาทองจึง "สวิง" มากมายเพียงนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า ราคาทองคำที่ผันผวนในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจาก "นโยบาย" ของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน และภาคการต่างประเทศ ที่เริ่มมีการทำลาย "ความเชื่อมั่น" ของนักลงทุนและผู้เล่นใน "ตลาดเก็งกำไร" ดังกล่าว
ทองคำ "สินทรัพย์ปลอดภัย" พุ่งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่
"ความเชื่อมั่น (Trust)" เป็นหลักการพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ ในตลาดเก็งกำไรที่มีความเสี่ยงสูง ความเชื่อมั่นเป็นหลักประกันว่า ผู้เล่นจะ "ไม่คดโกง" เมื่อความเชื่อมั่นเพิ่มสูงขึ้น ราคาของสินทรัพย์ก็จะสูงขึ้นตามกลไกตลาด โดยเฉพาะ ทองคำ ที่มีความพิเศษในฐานะ "จุดอ้างอิงค่าเงิน" ของทุกประเทศทั่วโลก จึงทำให้เป็น "สินทรัพย์ปลอดภัย" ไม่เสื่อมมูลค่าง่าย ๆ
อ่านข่าว: กูรูฟันธง "ทองคำ" ยังขาขึ้น จับตาปัจจัยโลกส่งผลราคาทอง
ในช่วงเวลาที่ นโยบายทางการเงินสหรัฐฯ โดยธนาคารกลาง หรือ "Fed" ปรับลด "อัตราดอกเบี้ย" หมายความว่า เงินฝากจะได้ผลตอบแทนลดลง การกู้เงินจะได้มูลค่าลดลง รายได้ก็จะลดลง หมายความว่า การเก็บเงินสดจะเกิด "ความเสื่อมมูลค่า" ตามอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 3 ได้ง่ายมากขึ้น
นักลงทุนส่วนใหญ่ จึงนำเงินมาลงทุนในตลาดเก็งกำไร โดยมี ทองคำ เป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะอย่างไรก็เป็นสินทรัพย์อิงค่าเงิน ความผันผวนย่อมน้อยกว่า ตลาดหุ้น หรือตราสารหนี้
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDh7j7bjxHSpBCQ5KdOqM4WIR.jpg)
มีรายงานจากเว็บไซด์ Money Week ระบุว่า ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แห่ซื้อทองคำเกิน 1,000 ตันติดต่อกันปีที่ 3 โดยเมื่อปี 2567 ธนาคารกลางยังคงเดินหน้าเข้าซื้อทองคำแท่ง 1,044.6 ตัน จากปี 2566 และปี 2565 ที่เข้าซื้อ 1,050.8 ตัน และ 1,080.01 ตัน ตามลำดับ
แม้แต่ จีน ระดับมหาอำนาจของโลก ยังได้ธนาคารกลาง เข้าซื้อทองคำเพิ่มอีกประมาณ 5 ตัน ในเดือน ม.ค. 2568 ซึ่งเป็นการเข้าซื้อทองคำติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2567
แสดงให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นในสินทรัพย์ปลอดภัย มีมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะในโลกการเงินปัจจุบันนี้ ความไม่แน่นอน เกิดขึ้นได้เสมอ เห็นได้จากการ Disruption ของ "DeepSeek" ที่ทำให้หุ้น NASDAQ ปรับตัวลดลงมากกว่า 13 จุด ภายในระยะเวลาไม่พ้นวันมาแล้ว ดังนั้น หากจะ "Play Save" ทองคำ คือ ตัวเลือกที่ดีที่สุด
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDh7j7bjxHSpBjgErXSjVb5iy.jpg)
"นโยบายต่างประเทศ" ทำตลาดเก็งกำไร" ขึ้น-ลง
ความเชื่อมั่นในสินทรัพย์ปลอดภัย ภายใต้โลกทางการเงินที่โง่นเง่น เช่น Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือมีสิ่ง Disrupt ตลาดเก็งกำไรให้สั่นคลอน ฟังขึ้นอย่างมาก แต่ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้ราคาทองพุ่งไม่หยุด เพราะยังมีเงื่อนไข คือ "นโยบายต่างประเทศ" เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ตามหลักการวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หาก "มหาอำนาจ" ของโลก เกิดไม่ชอบพอกัน กีดกันทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน หรือไม่เชื่อมั่นต่อกันและกัน จะทำให้ "ความกังวล (Anxiety)" ของผู้ลงทุนเพิ่มสูงขึ้น
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDh7j7bjxHSoswbLFSAJxSTea.jpg)
โดยเฉพาะนโยบายทางด้านภาษีของทรัมป์ ที่ประกาศระลอกใหม่ โดยจะจัดเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม ทั้งหมดในอัตราร้อยละ 25 ในทุกประเทศ แม้ยังไม่ได้มีการระบุว่าจะเริ่มบังคับใช้เมื่อใด แต่นับเป็นการยกระดับนโยบายครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของทรัมป์ ได้สร้างความวิตกกังวลอย่างสูงต่อผู้ลงทุนทั้งใน Real Sector และ Market Sector
อ่านข่าว: โลกจับตา "ทรัมป์" สั่งขึ้นภาษีเหล็ก-อะลูมิเนียมนำเข้า 25%
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้กระบวนการตัดสินใจในการลงทุน เปลี่ยนแปลงจาก สินทรัพย์ที่มีมูลค่าจากความเชื่อใจ หากเชื่อว่ามีราคาสูงจำนวนมาก ๆ ย่อมดันเพดานให้ราคาสูง เช่น ตลาดหลักทรัพย์ หรือ ตราสารหนี้ ไปสู่ สินทรัพย์ที่มีมูลค่าในตนเอง ไม่เปลี่ยนแปลงง่าย ๆ ทองคำ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ถือว่าเข้าข่ายมาก
แต่ต้องไม่ลืมว่า ตลาดเก็งกำไรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทองคำ ตลาดหุ้น เงินดอลลาร์ หรือตลาดน้ำมัน มีความสัมพันธ์แบบ "พึ่งพาอาศัย (Interdependence)" ต่อกันและกัน
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDh7j7bjxHSorSPm6AYBpWHOR.jpg)
บทความวิจัย Oil, gold, US dollar and stock market interdependencies: a global analytical insight เขียนโดย Mongi Arfaoui และ Aymen Ben Rejeb รวมทั้ง บทความวิจัย Intermarket Analysis: Oil, Gold, US Dollar and Stock Market เขียนโดย Daniele Khalife Elia Richard Hani El-Chaarani และ Bou Nader Elsa เสนอว่า หากตลาดใดตลาดหนึ่ง "ปรับตัวขึ้นหรือลง" ตลาดอื่น ๆ ย่อมปรับตัวขึ้นหรือลงตามไปด้วย เช่น หากเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจมีมากขึ้น หมายความว่า เม็ดเงินสำหรับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มีมากขึ้น และหากใครไม่อยากเสี่ยง ก็ให้ลงทุนในรูปแบบทองคำ
ดังจะเห็นได้จาก ราคาทองคำตอนนี้ปรับขึ้นสูงมาก ดัชนีหุ้นต่าง ๆ อาทิ NASDAQ100, S&P500 หรือกระทั่ง Dow Jones ก็ปรับขึ้นเช่นกัน แต่ไม่ได้มากเท่ากับทองคำ
บทความวิจัย The interdependence of gold, US dollar and stock market in the context of COVID-19 pandemic: an insight into analysis in Asia and Europe เขียนโดย Oanh Tran และ Ha Nguyen ชี้ว่า รูปแบบ Interdependence เกิดขึ้นเฉพาะสถานการณ์ปกติ แต่หากเป็น "สถานการณ์ฉุกเฉิน" เช่น Covid-19 จะไม่สามารถอธิบายแบบนี้ได้ เพราะในช่วงที่เกิดโรคระบาดนี้ ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ดอลลาร์และตลาดหลักทรัพย์แทบจะดิ่งลงเหว
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDh7j7bjxHSpC24Z6WluAW9ND.jpg)
ขณะที่นาสซิม นิโคลัส ทาเล็บ (Nassim Nicholas Taleb) เสนอไว้ใน หนังสือ The Black Swan: The Impact of the Highly Improbable ความว่า โลกของการลงทุนและเก็งกำไรนั้น "คาดเดาไม่ได้" และ "ต้องใช้โชคชะตาเข้าช่วย" อย่างมาก นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ ได้กำไรจากตลาดในอัตราส่วนที่น้อยกว่า "ขาดทุน" ทั้งสิ้น
"คุณลองไปถามโบรกเกอร์ใน Wall Street กับพนักงานขับแท็กซี่นิวยอร์ก ให้ลองทำนายหุ้น จะพบว่า อัตราสำเร็จไม่ต่างกันเลย" นาสซิม นิโคลัส ทาเล็บ ทิ้งท้าย
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDh7j7bjxHSo9iOoAw5awyAnw.jpg)
แหล่งอ้างอิง
- หนังสือ The Evolution of Cooperation
- หนังสือ The Black Swan: The Impact of the Highly Improbable
- บทความวิจัย Oil, gold, US dollar and stock market interdependencies: a global analytical insight
- บทความวิจัย The interdependence of gold, US dollar and stock market in the context of COVID-19 pandemic: an insight into analysis in Asia and Europe
- บทความวิจัย Intermarket Analysis: Oil, Gold, US Dollar and Stock Market
- https://moneyweek.com/investments/commodities/gold/gold-price
- https://finance.yahoo.com/news/gold-rises-another-record-high-235124378.html