เคยรู้สึกเจ็บบริเวณทวารหนัก หรือมีเลือดปนมากับอุจจาระโดยไม่รู้สาเหตุ อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของ "ริดสีดวงทวาร" โรคที่หลายคนเป็นแต่ไม่กล้าพูดถึง วันนี้พามาทำความเข้าใจโรคนี้ให้มากขึ้น และหาทางป้องกันก่อน แต่แม้เป็นโรคที่พบบ่อยแต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดอยู่
เมื่อไม่กี่วันมานี้เพจดัง Drama-addict โพสต์เตือนเกี่ยวกับวิธีที่อ้างรักษา "ริดสีดวงทวาร" ที่แพร่หลายในโลกออนไลน์ แนะนำให้นำ "ว่านหางจระเข้ปอกเปลือก เหลาให้ปลายแหลม แช่แข็ง แล้วสอดเข้าทางทวารหนัก โดยอ้างว่าวิธีนี้จะช่วยให้หัวริดสีดวงฝ่อลง และสมานแผล"
คนเป็นริดสีดวงห้ามทำแบบนี้เด็ดขาด วิธีใช้ว่านหางจระเข้กับคนเป็นริดสีดวงคือ กินวุ้นของว่านหางจระเข้ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนอ่อน ช่วยให้ขี้นิ่มช่วยให้ริดสีดวงบรรเทาอาการลงได้ ไม่ใช่ทำแบบนี้ตุดแหกกันพอดี
ในเคสนี้ "อย่าหาทำ" วิธีดังกล่าวเสี่ยงต่อการทำให้เนื้อเยื่อบริเวณทวารหนักถูกทำลายจากความเย็นจัด และอาจนำไปสู่การติดเชื้อรุนแรงที่ลามไปถึงลำไส้ด้วย การรักษาจึงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมของแต่ละคน

"ริดสีดวงทวาร" อาการเจ็บปวดที่สร้างความกังวลใจให้กับหลายคน บางคนอาจอยากหาทางเพื่อรักษาและบรรเทา แต่อย่าไปเสี่ยงกับวิธีที่ไม่ปลอดภัยดีกว่า ที่แน่ ๆ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดีที่สุด
ประสบการณ์คุณแม่ตั้งครรภ์ กับ "ริดสีดวงทวาร"
ริดสีดวงทวารสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย รวมถึงคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์เช่นกัน เรื่องราวนี้มาจากคุณแม่ท่านหนึ่ง ซึ่งกำลังตั้งครรภ์ได้ประมาณ 6-7 เดือน วันหนึ่งเธอสังเกตว่าขณะขับถ่ายมีเลือดติดออกมา แม้ในตอนแรกจะคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่มากนัก แต่ด้วยความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อลูกในครรภ์ เธอจึงรีบไปพบหมอ และนั่นเป็นครั้งแรกที่เธอได้รู้จักกับ "ริดสีดวงทวาร" ครั้งนั้นหมอแนะนำให้ใช้ "ยาเหน็บ" ในการรักษา ซึ่งช่วยบรรเทาและทำให้อาการดีขึ้นในที่สุด

ไม่เพียงกรณีนี้ยังมีหลายคนที่เป็น ริดสีดวงทวาร เจอลองจินตนาการดูว่าเมื่อต้องเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งด้วยความเจ็บปวด เหมือนมีอะไรทิ่มอยู่ข้างในหรือทุกครั้งที่นั่งนานรู้สึกเหมือนมี "บางอย่าง" ยื่นออกมาจากทวารหนัก ฟังดูน่ากลัวใช่ไหม แต่นี่คือสิ่งที่ผู้ป่วยริดสีดวงทวารต้องเผชิญ
ริดสีดวงทวาร คืออะไร
เกิดจากเส้นลือดดำบริเวณทวารหนัก หรือส่วนปลายของลำไส้ใหญ่มีการบวม ยืดตัว หรือยื่นนูนออกมาจากทางทวารหนัก
ริดสีดวงทวาร มีกี่ประเภท อะไรบ้าง
ริดสีดวงทวารแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
1. ริดสีดวงทวาร ภายใน มี 4 ระยะ
เกิดขึ้นเหนือแนวเส้นประสาททวารหนักขึ้นไป จะไม่สามารถคลำได้และโผล่ออกมาให้เห็น ต้องวินิจฉัยโดยการส่องกล้องเท่านั้น หากไม่มีอาการแทรกซ้อนจะไม่มีความเจ็บปวด แบ่งได้ 4 ระยะ
- ระยะที่ 1 ริดสีดวงมีขนาดเล็ก อยู่ข้างในรูทวาร ไม่ยื่นออกมา อาจมีเลือดออกขณะถ่ายหรือหลังถ่ายอุจจาระ
- ระยะที่ 2 หัวริดสีดวงโตขึ้นโผล่ออกมาขณะเบ่งถ่าย และหดกลับเข้าไปได้เองหลังถ่ายอุจจาระเสร็จ จะมีเลือดออกได้บ่อยขึ้น ลักษณะเป็นสีแดงสด
- ระยะที่ 3 หัวริดสีดวงขนาดใหญ่ โผล่ออกมาขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ ไม่สามารถกลับเข้าไปเองได้ ต้องใช้มือดันเข้าไป จะมีเลือดออกบ่อยๆ และ มีอาการระคายเคืองมากขึ้น
- ระยะที่ 4 หัวริดสีดวงโตมากโผล่ออกมาด้านนอก ไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ อาจรู้สึกปวดและรบกวนชีวิตประจำวัน
2. ริดสีดวงทวารภายนอก
เกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นรอบทวารหนัก จากการที่กลุ่มหลอดเลือดดำใต้ผิวหนังปากทวารหนักโป่งพอง สามารถมองเห็นและคลำได้ เวลาอักเสบจะมีอาการเจ็บปวด
บางคน อาจมีทั้งริดสีดวงภายในและภายนอกอักเสบในเวลาเดียวกันได้
อาการของ "ริดสีดวงทวาร" เป็นอย่างไรบ้าง
- มีเลือดออกเมื่อเบ่งหรือถ่ายอุจจาระออกมา
- คันรอบบริเวณปากทวารหนัก
- มีก้อนหรือติ่งเนื้อออกมาจาก ทวารหนัก เมื่อขับถ่าย
- เจ็บบริเวณทวารหนัก
ริดสีดวงทวารหนัก เกิดจากอะไร
- ท้องผูกเรื้อรัง เวลาถ่ายต้องเบ่งมาก เป็นประจำ
- รีบเร่ง พยายามเบ่งถ่ายแรง ๆ ให้หมดเร็ว ๆ
- กินผักผลไม้น้อย
- ดื่มน้ำน้อย ทำให้อุจจาระแห้งแข็ง
- การตั้งครรภ์ มดลูกที่โตขึ้นจะทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณอุ้งเชิงกรานไม่สะดวก ริดสีดวงจะขยายตัวมากขึ้น
- อายุที่มากขึ้น ทำให้มีการหย่อนยานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเยื่อบุช่องทวารหนักมากขึ้น และริดสีดวงทวารหนักอักเสบง่ายขึ้น
รักษา ริดสีดวงทวาร
วิธีการรักษา "ริดสีดวงทวารหนัก" ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของแต่ละบุคคล
1.รักษาโดยไม่ผ่าตัด ใช้ในการรักษาผู้ป่วย ในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ด้วยวิธีดังนี้
- การเหน็บยา รักษาริดสีดวงเมื่อมีเลือดออกหรือมีการอักเสบให้อาการดีขึ้น
- การฉีดยา ฉีดยาเข้าไปในตำแหน่งใต้ริดสีดวงเพื่อให้ริดสีดวงยุบลง จะมีการฉีดซ้ำทุก 2 – 4 สัปดาห์ เพื่อให้อาการดีขึ้น
- การใช้ยางรัด บริเวณหัวริดสีดวงที่โผล่ออกมาเพื่อให้ฝ่อและหลุดออก วิธีนี้ต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์ นั้นเพราะอาจเสี่ยงเกิดการติดเชื้อและผลข้างเคียงอื่นตามมาได้
2. รักษาโดยการผ่าตัด เป็นการรักษาภายนอกที่มีการอักเสบ ในช่วงระยะที่ 3 และ 4 แบ่งรูปแบบการผ่าตัดออกได้ดังนี้
- ผ่าตัดแบบมาตรฐาน จะผ่าตัดนำเนื้อเยื่อริดสีดวงที่โตออกและตัดไปถึงขั้วเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวริดสีดวงนั้น ผู้ป่วยสามารถขับถ่ายได้เป็นปกติหลังผ่าตัดและมีโอกาสน้อยที่จะเกิดขึ้นซ้ำ
- ผ่าตัดแบบใช้เครื่องมือตัดเย็บโดยอัตโนมัติ เหมาะสำหรับผู้ป่วยริดสีดวงทวารที่เกิดขึ้นภายในเท่านั้นและมีหัวริดสีดวงหลายหัว
- ผ่าตัดแบบเลเซอร์ เหมาะสำหรับริดสีดวงที่ไม่มีอาการรุนแรง ซึ่งทางแพทย์จะใช้แสงเลเซอร์เข้าไปทำลายเส้นเลือดที่หัวริดสีดวงให้ค่อย ๆ ฝ่อลง แต่กรณีริดสีดวงขนาดใหญ่หรือระยะที่ 4 มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นซ้ำได้มากขึ้น
ป้องกัน ริดสีดวงทวาร ทำอย่างไร
เห็นได้ว่า "ริดสีดวงทวารหนัก" เป็นโรคที่ใกล้ตัวทุกคน และเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาริดสีดวงทวาร ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำให้เหมาะสม ดังนี้
- ขยับร่างกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนนานเกินไป ควรลุกขึ้นขยับตัวหรือเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- สร้างนิสัยการขับถ่ายที่ดี ควรถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงการเบ่งแรงๆ และไม่กลั้นอุจจาระเป็นเวลานาน
- ปรับพฤติกรรมการกิน รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช เพื่อช่วยให้อุจจาระนิ่มและขับถ่ายง่าย
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยง งดการยกของหนัก ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน ซึ่งอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำและเกิดอาการท้องผูก
ริดสีดวงทวารเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ฉะนั้นการดูแลตัวเอง ปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม หมั่นสังเกตร่างการอยู่เสมอ นอกจากจะห่างไกล "ริดสีดวงทวารหนัก" ยังห่างไกลจากโรคอื่น ๆ ได้ด้วย หากพบอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม
อ้างอิงข้อมูล : คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลมิติเวช
อ่านข่าว :
"หลิว จงอี" พบ "หม่อง ชิตตู"ปราบแก๊งคอลเซนเตอร์เมียนมา