ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ข้าวไทยราคาตก ! เผือกร้อนลวกมือ "พิชัย" รัฐบาลยังตีมึนแก้ปัญหา

เศรษฐกิจ
19 ก.พ. 68
18:03
460
Logo Thai PBS
ข้าวไทยราคาตก ! เผือกร้อนลวกมือ "พิชัย" รัฐบาลยังตีมึนแก้ปัญหา

เผือกร้อนโยนเข้าใส่ จนรัฐบาลตั้งตัวไม่ติด หลังราคาข้าวนาปรังตกต่ำขีดสุด ทำม็อบชาวนาจากทั่วทุกสารทิศลุกฮือบุกกระทรวงพาณิชย์และทำเนียบรัฐบาล จี้ "แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี และ "พิชัย นริพทะพันธุ์ "รมว.พาณิชย์ เร่งแก้ปัญหาก่อนจะบานปลาย พร้อมเสนอ 3ข้อเรียกร้อง

ในขณะที่นายพิชัย ซึ่งขณะนี้ติดภาระกิจที่ต่างประเทศ ก็ยังถูกส.ส.เพื่อไทยรุมสับ ในที่วงประชุมพรรคที่ปล่อยราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเดินทางต่างประเทศฉ่ำ ไม่สนใจเรื่องภายในประเทศ เชื่อตัวเลขราชการรายงานสวนทางความเป็นจริง

ทั้งๆที่ปัญหาปากท้องเป็นเรื่องที่ทุกรัฐบาล ทุกพรรคการเมืองต่างให้ความสำคัญเพราะนอกจากจะเป็นฐานเสียงแล้วยังเป็นตัวบ่งชี้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน

สาเหตุหลักที่ชาวนาต้องออกมาประท้วง ด้วยเหตุ ราคาข้าวเปลือกเจ้า เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 68 มีราคาลดลง ข้าวเปลือกเจ้า เฉลี่ย 8,650 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก 12,445 บาท/ตัน (ลดลง 30%) ทั้งนี้ ราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ก.ย. 67 เป็นต้นมา

ส่วนข้าวชนิดอื่นๆ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ข้าวเปลือกหอมมะลิ เฉลี่ย 16,000 บาท/ตัน ปรับเพิ่มขึ้นจาก 14,850 บาท/ตัน (เพิ่มขึ้น 8%) ข้าวเปลือกเหนียว เฉลี่ย13,250 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก 13,300 บาท/ตัน (ลดลง 0.4%) ข้าวเปลือกปทุมธานี เฉลี่ย 12,100 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก14,400 บาท/ตัน (ลดลง 16%) และข้าวเปลือกเจ้า เฉลี่ย 8,650 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก 12,445 บาท/ตัน (ลดลง 30%)

สำหรับสถานการณ์ข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ปี 2567/68 คาดว่าจะมีปริมาณรวม 6.53 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 1.08 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเพิ่มขึ้น20% จากปีก่อนที่มีปริมาณอยู่ที่ 5.45 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนด้านผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาดแล้วในเดือน ก.พ. 68 โดยจะออกกระจุกตัวช่วง มี.ค. - เม.ย. 68 ประมาณ 68% หรือ 4.42 ล้านตัน

ผู้ส่งออกชี้ราคาขึ้น-ลง กลไกตลาดการค้าเสรี 

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวกับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ว่า เอกชนส่งสัญญาณไปให้รัฐบาลมาโดยตลอดว่า สิ่งนี้อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งการที่ราคาข้าวในประเทศร่วงต่ำแบบนี้ เป็นกลไกของตลาดโลก การค้าโลกที่เสรี ประกอบกับช่วงเดือน มี.ค. ผลผลิตข้าวนาปีของเวียดนามกำลังออกสู่ตลาดซึ่งเป็นช่วงเดียวกับข้าวนาปรับของไทยที่ผลผลิตออกรอบแรกซึ่งชาวนาจะเริ่มเกี่ยวในเดือนมี.ค.เช่นกัน

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ดังนั้นจึงเกิดความกดดันให้กับผลผลผลิตข้าวในครอปนี้ อีกปัจจัยอย่างที่ทราบกันดีว่า อินเดียกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้ง และราคาข้าวของอิรนเดียมีราคาค่อนข้างถูกกว่าของไทย

ทุกประเทศที่เป็นผู้ผลิตข้าว ทั้งเวียดนาม ปากีสถาน อินเดีย รวมถึงไทยมีการส่งออก แต่ผู้ซื้อกลับหายหมด อินโดนีเซียที่คาดว่าจะนำเข้าปีนี้ 4 ล้านตัน ก็ประกาศว่าจะไม่นำเข้า หรือนำเข้าแค่ 1ล้านตันเท่านั้นซึ่งก็น่าจะเป็นช่วงครึ่งปีหลังที่อินโดนีเซียจะกลับมานำเข้าข้าว ดังนั้นตลาดข้าวตอนนี้ถือว่าแย่ ของมีเยอะแต่ความต้องการซื้อไม่มี 

สำหรับราคาข้าว FOB ต้องบอกว่าข้าวไทยยังราคาสูงกว่าคู่แข่ง โดยข้าวขาว 5 % อยู่ที่ 415-420 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในขณะที่เวียดนามราคาอยู่ที่ 390 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน อินเดีย 400 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และปากีสถาน ราคา 395 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งข้าวไทยมีราคาสูงสุดในบรรดาผู้ส่งออกด้วยกัน

หมดยุคข้าวเปลือกราคา "ตันละหมื่นบาท"

นายชูเกียรติ กล่าวอีกว่า ราคาส่งออกข้าวไทยที่แพงกกว่าคู่แข่งส่งผลต่อราคข้างเปลือกในประเทศ แต่ทั้งนี้เป็นกลไกของการค้าข้าวในตลาดเสรี ในช่วง1-2 ปีที่ผ่านมาการส่งออกข้าวดี ก็ดึงราคาข้าวเปลือกในประเทศขึ้นตาม ซึ่งก็เหมือนการซื้อหุ้นที่มีขึ้นมีลง แต่ปัจจุบันราคาข้าวเปลือกในประเทศจะให้ราคาดีเหมือนปีก่อนที่มีราคาสูงสุด 12,000 บาทต่อตัน คงเป็นไปได้ยาก

และการที่ราคาข้าวเปลือกตอนนี้ราคาตันละ 7,000 บาท ถือว่าต่ำสุด ซึ่งมองว่า ราคาตอนนี้การซื้อขายอาจจะยังยากอยู่ แต่หากผู้นำเข้าอย่างฟิลิปปินส์กลับมานำเข้าข้าวอีกครั้ง เชื่อว่าราคาข้าวจะปรับตัวขึ้น ซึ่งจะช่วยดันราคาข้าวขยับขึ้นได้บ้าง แต่คงไม่สูงตันละ 12,000 คงเป็นไปได้ยาก มากสุดน่าจะตันละ 8,000-8,500 บาท โอกาสที่จะไต่ระดับไปถึงหลักหมื่นเหมือนปีผ่านๆมาคงหมดยุคแล้ว

อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องเร่งหามาตรการช่วยเหลือชาวนา ซึ่งที่นายกสมาคมชาวนาฯ เสนอให้รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือชาวนาปรัง ไร่ละ 500 งดเผาช่วยค่าจุลินทรีย์ ไร่ละ 500 ตามพื้นที่ปลูกข้าวจริง พ่วงมาตรการลดราคา ปุ๋ย สารเคมี ช่วยเกษตรกร เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องพิจารณาว่าจะใช้มาตรารอะไรดูแลช่วยเหลือเกษตรกร

เชื่อว่าโครงการรับจำนำข้าวจะไม่เกิดขึ้น เพราะรัฐบาลไม่มีเงินเพราะนำไปใช้ในโครงการอื่นหมดแล้วอย่างดิจิทัลวอลเล็ต และล่าสุดอาจจะขึ้นภาษี10%เพราะเป็นทางเดียวที่รัฐบาลจะมีรายได้ ส่วนการประกันรายได้ก็คงไม่เกิดเช่นกันเพราะเป็นโครงการของพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นอย่างเดียวที่รัฐบาลทได้คือแจกเงิน จะเป็นค่าอะไรก็ว่ากัน

ลุ้นฟิลิปปินส์นำสั่งเข้า หวังดันราคาข้าวไทยขยับ

นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาดของกระทรวงพาณิชย์เพื่อกำหนดแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวเปลือกที่ลดลงและมาตรการเชิงรุกเพื่อพยุงราคาข้าวไทยที่จะมีวันพรุ่งนี้ (20 ก.พ.) น่าจะมีมาตรการออกมา

แต่ที่ผ่านมาก็มีขอให้ผู้ส่งออกช่วยซื้อข้าวเพื่อดันราคา ซึ่งผู้ส่งออกมองว่า เอกชนเองหากช่วยรับซื้อข้าวไปก็มีต้นทุนในการเก็บหากยังไม่สามารถขายข้าวได้ ไม่เหมือนรัฐที่ไม่มีต้นทุนในการซื้อราคาข้าวที่สูง และหากเอกชนช่วยรับซื้อ ซื้อแล้วต้องนำไปไหนเพราะตอนนี้ตลาดยังไม่ต้องการและต้องซื้อปริมาณเท่าไหร่ เป็นเรื่องที่เอกชนก็ต้องพิจารณาเช่นกัน

ทั้งนี้สิ่งที่ทำได้ในขณะนี้คือ ต้องรอให้ราคข้าวของอินเดีย เวียดนาม ราคาขึ้น ซึ่งเชื่อว่าในไตรมาสแรกอาจจะยังไม่ดี แต่จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสสองถ้าฟิลิปปินส์กลับมาซื้อเชื่อว่าราคาข้าวจะกลับมามีเสถียรภาพขึ้น แม้ว่าจะไม่ซื้อข้าวไทยแต่จะช่วยให้ภาพรวมราคาตลาดข้าวของไทยดีขึ้นด้วย

สำหรับปริมาณผลผลิตข้าวไทยปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากมีสภาพอากาศเอื้อต่อการปลูกข้าวและมีน้ำเพียงพอ คาดว่าปีนี้น่าจะมีผลผลิตข้าวอยู่ที่ 33-34 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 23 ล้านตันข้าวสาร เป้าส่งออกยังอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน

สำหรับ 1 ใน 7 มาตรการเร่งด่วนที่กระทรวงพาณิชย์ออกมาเบื้องต้น โดยเฉพาะผลักดันการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G2G) กับจีน อีก 280,000 ตัน เพื่อลดอุปทานข้าวส่วนเกินในประเทศ ไม่ได้ช่วยดันราคาข้าวในประเทศ เพราะมีปริมาณน้อยมาก และจีนเองก็กดราคารับซื้อ แม้ว่าปีนี้จีนมีแผนจะนำเข้าข้าวเพิ่มเพราะราคาข้าวในตลาดโลกต่ำกว่าราคาข้าวภายในของจีนมีราคาสูง ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าจีนอาจจะกลับมาซื้อ 2 ล้านตัน

จีนกดราคาซื้อมาก คงไม่มีใครกล้าขายให้ ซึ่งถ้ารัฐบาลไทยไปเจรจากับจีนก็อาจจะเป็นไปได้ว่าจีนอาจจะช่วยซื้อ280,000 ตัน

ปธ.นบข.จี้ พาณิชย์ หาตลาดส่งออกใหม่

ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาแนวทางดูแลเกษตรกรชาวนาอย่างรอบคอบและเหมาะสม ทั้งด้านการผลิต และด้านการตลาด ซึ่งในส่วนของ นบข. ได้ออกมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปีการผลิต 2567/68 ไปแล้ว 3 มาตรการ เป้าหมาย 8.5 ล้านตัน เพื่อจัดการอุปทานข้าวและรักษาระดับราคาข้าวเปลือก

ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อก รวมถึงสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ชาวนาในอัตราไร่ละ 1,000 บาทไม่เกินครัวเรือน 10 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายชาวนา ประมาณ 4.61 ล้านครัวทั่วประเทศ

สมาคมชาวนา ยื่น 3 ข้อเสนอเร่งด่วน

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล ถึง นางสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)หลังจากที่สมาคมฯ ได้รับการร้องเรียนจากสมาชิก ราคาข้าวเปลือกต่ำ และรัฐบาลห้ามให้มีการเผาฟางข้าว ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกสูงขึ้นไร่ละ 500 บาท ทำให้เกษตรกรใน หลายพื้นที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องรัฐบาล และเริ่มลุกลามเป็นวงกว้างทุกจังหวัด

สมาคมชาวนาฯมองว่าภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในระยะเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนได้ทันท่วงทีก่อนที่ จะถึงรอบการเก็บเกี่ยวฤดูนาปรังอีกภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า รวมถึงการออกมาตรการระยะยาวในการดูแลราคา ข้าวเปลือกในฤดูกาลหน้า โดยสมาคมฯขอเสนอประเด็นตามติที่ประชุมกรรมการสมาคมฯ 3 ข้อดังนี้ 1.การชดเชยในการห้ามเผาฟางไร่ละ 500 บาท ตามพื้นที่เพาะปลูกจริง ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร

2.การช่วยเหลือในเรื่องราคาตกต่ำไร่ละ 500 บาท จ่ายตามพื้นที่ๆเพาะปลูกจริงตามที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร

3. เรื่องของปัจจัยการผลิตราคาแพง เช่น ปุ๋ย ยา และเรื่อง พัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตที่สูงกว่าปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยทำให้ต้นทุนชาวนาลดลง ตอบโจทย์ทั้งชาวนาและตลาดข้าวนาปรัง ชุดใหญ่จะเริ่มเก็บเกี่ยวปลายเดือนก.พ.เม.ย. มีพื้นที่เพาะปลูกรวมประมาณ 10 ล้านไร่ ทั้งในเขตชลประธานและนอกเขตชลประธาน ของบริเวณลุ่มเจ้าพระยา ภาคอีสานและภาคเหนือรวมกัน

ส่วนชาวนาในส่วนของจ.พระนครศรีอยุธยา ที่ออกมาร้องขอรับการ เยียวยาเพื่อให้ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่รับน้ำ ที่ช่วงเวลาน้ำหลากจำเป็นต้องป้องกันน้ำท่วมจึงทำให้ชาวนาเสียโอกาสในการทำนาเป็นเวลาสามถึงสี่เดือน และประเด็นอื่นๆในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด

การช่วยเหลือเป็นการจ่ายเงินตรงให้กับพี่น้องชาวนา ทำให้ชาวนาได้เงินอย่างรวดเร็ว ลดขั้นตอนการบริหารจัดการ ลดการเกิดการสูญเสีย โดยไม่ให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น และไม่เป็นการบิดเบือนราคาตลาด เนื่องจากเป็นข้าวนาปรัง การจ่ายตรงให้ชาวนาเป็นการดีที่สุด

คงต้องดูว่าการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาดที่มี นายพิชัย นริพทะพันธุ์รมว.พาณิชย์เป็นประธานการประชุมในวันพรุ่งนี้ (20 ก.พ.) จะคลอดมาตรการเร่งด่วนใดออกมาเอาใจชาวนาซึ่งเป็นกระดูสันหลังของชาติและยังเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคการเมืองด้วย

 อ่านข่าว:

 เปิด 7 มาตรการเร่งดันราคาข้าว ประชุมอนุ นบข.20 ก.พ.นี้

 เปิดสาเหตุ "ข้าว" ชาวนาไทย ทำไมราคาตก

ต้นทุน "ชาวนา" คำนวณ "กำไร-ขาดทุน" ข้าวไทยราคาตกต่ำ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง