ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พม.ฝ่าวิกฤตประชากรด้วยนโยบาย 5X5 สร้างพลังผู้สูงอายุ

สังคม
21 ก.พ. 68
15:52
141
Logo Thai PBS
พม.ฝ่าวิกฤตประชากรด้วยนโยบาย 5X5 สร้างพลังผู้สูงอายุ
อ่านให้ฟัง
08:57อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“วราวุธ” เผย พม.ชูนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร สร้างพลังผู้สูงอายุ-ประชากรหดตัว-เพิ่มคุณภาพเด็กและเยาวชน

วันนี้ (21 ก.พ.2568) ที่อาคารสาธารณสุขวิศิษฐ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก องคมนตรี เป็นประธานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการ เรื่อง “การเผยแพร่ความรู้และส่งเสริมการใช้เวชศาสตร์วิถีชีวิตในการดำเนินชีวิตและการประกอบวิชาชีพของบุคลากรและประชาชน และการประชุมวิชาการด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาวะ "ประชากรสูงอายุและประชากรลดลง : จากการคาดการณ์ สู่ การป้องกัน”

จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สมาคมเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาวะไทย (TLWA) ร่วมกับ International Board of Lifestyle Medicine, Lifestyle Medicine Global Alliance องค์กรพันธมิตรเดิม 21 องค์กร และองค์กรพันธมิตรใหม่

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ประชากรสูงอายุและประชากรหดตัว : วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และพันธกิจในระยะยาว” (Aging and Shrinking Population : Vision, Strategy and Long-term Commitment) ว่า 3 เรื่องสำคัญ

เริ่มจาก 1.สถานการณ์ : ประชากรหดตัวและประชากรสูงอายุ (Situation : Aging and Shrinking Population) ขณะนี้ มีประชากรโลก 8,200 ล้านคน และมีแนวโน้มอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง ควบคู่กับจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง 63 ประเทศทั่วโลก ไม่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มประชากรขึ้นอีก เช่น จีน เยอรมัน ญี่ปุ่น รัสเซีย และไทย เป็นต้น

ภายในปี พ.ศ.2568 คาดว่า จะมีผู้สูงอายุทั่วโลก 1,200 ล้านคน คิดเป็น 14.63 % ของประชากรโลก อีกทั้งภายในปี พ.ศ.2593 คาดว่า จะมีผู้สูงอายุทั่วโลก 2,000 ล้านคน ส่งผลให้ประชากรทั่วโลกมีแนวโน้มหดตัว

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับประชากรผู้สูงอายุพบว่า จีนมีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด 278 ล้านคน ทั่วประเทศ คิดเป็น 19.50 % และประเทศที่มีผู้สูงอายุมาก ติดอันดับ TOP 10 ของโลก อยู่ในเอเชียถึง 4 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ซึ่งไทยอยู่อันดับที่ 17 มีผู้สูงอายุ 20.94 % และจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 28 % ภายใน 10 ปีข้างหน้า

ในขณะที่ปี 2567 ไทยมีอัตราเด็กเกิดใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 75 ปี นับจากปี 2492 ที่มีเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 5 แสนคน อีกทั้ง นับเป็นปีที่ 4 ที่มีคนตายมากกว่าเกิด ซึ่งอัตราการเพิ่มตามธรรมชาติของประชากรติดลบสูงเป็นประวัติการณ์

นายวราวุธ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงปรากฏการณ์ “ประชากรหดตัว” ในปี 2567 โลกเผชิญกับแนวโน้มอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง โดยเฉพาะในเอเชีย เช่น เกาหลี สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ซึ่งไทยมีอัตราเจริญพันธุ์รวมลดลงเป็นประวัติการณ์เช่นกัน

ทั้งนี้ ประเทศเหล่านี้จึงได้ขับเคลื่อนนโยบายการเพิ่มอัตราการเกิด ด้วยการเพิ่มศูนย์เด็กเล็ก เพิ่มวันลาหยุดของผู้เลี้ยงดูเด็ก การให้เงินอุดหนุนสำหรับเด็กแรกเกิด การใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการมีลูก และการเพิ่มสวัสดิการให้เด็ก

ในขณะที่ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการมีบุตร อาทิ กระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ การจัดตั้งคลินิกส่งเสริมการมีบุตรในโรงพยาบาล และการทำเด็กหลอดแก้ว

ในส่วนของกระทรวง พม. มีการสนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี รายละ 600 บาทต่อเดือน การจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน และการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็ก

ในขณะที่ประชากรแรงงานของไทย ปี 2567 มีคนทำงาน 37.2 ล้านคน แต่ในอีก 50 ปีข้างหน้า ปี 2616 คนทำงานจะลดลงเหลือ 22.8 ล้านคน ซึ่งจะหายไปประมาณ 15 ล้านคน ทำให้เป็นที่มาของการใช้คำว่าวิกฤตประชากร

2.คนที่อยู่ตรงกลาง (Sandwich Generation) ต้องกลายเป็น “เดอะแบก” เพราะต้องใช้เวลาเฉลี่ยกว่า 13 ชั่วโมงต่อวันในการทำงาน และรับผิดชอบดูแล ทั้งพ่อแม่สูงอายุ และลูกของตัวเอง ส่งผลให้มีความเปราะบางทางการเงินและสุขภาพ

เห็นได้จากลักษณะครัวเรือน Sandwich ในไทย ที่มีจำนวน 3.4 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 14 % มีอัตราพึ่งพิงสูง คือวัยแรงงาน 100 คนต้องดูแลเด็กและผู้สูงอายุรวม 86 คน อีกทั้งสมาชิกในครัวเรือน Sandwich ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ มีเงินออมน้อยกว่า 20,000 บาทต่อครัวเรือน

3.สังคมสูงวัยเป็นเรื่องของเราทุกคน (Together possible) ซึ่งกระทรวง พม. ได้ขับเคลื่อน “นโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร” ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ x 5 มาตรการ ได้แก่ 1) เสริมพลังวัยทำงาน 2) เพิ่มคุณภาพ และผลิตภัณฑ์ของเด็กและเยาวชน : New Gen ที่เจ๋งกว่าเก่า 3) สร้างพลังผู้สูงอายุ : มีหลักประกัน มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี 4) เพิ่มโอกาสและเสริมสร้างคุณค่าคนพิการ และ 5) สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว สำหรับการสร้างพลังผู้สูงอายุนั้น

กระทรวง พม. ได้ดำเนินการ 5 มาตรการ ได้แก่ 1) มุ่งป้องกันมากกว่าการรักษา : โรงเรียนผู้สูงอายุ 2) ขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ : Upskill , Reskill , การจ้างงานผู้สูงอายุ 3) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน 4) ส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และ 5) ส่งเสริมให้มีการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลสวัสดิการผู้สูงอายุ

นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. ยังได้ดำเนินโครงการผู้บริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้บริบาล ในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน และให้ผู้สูงอายุได้อยู่อาศัยในถิ่นเดิม (Agent In Place) อีกทั้งเป็นการสร้างระบบกลไกการดูแลผู้สูงอายุครอบคลุมทุกมิติในระดับพื้นที่

ทั้งนี้ปีงบประมาณ 2568 จะขยายผลโครงการฯ ให้ครอบคลุม 76 จังหวัด 156 พื้นที่ ทำให้มีผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ รวม 342 คน ซึ่งสามารถดูแลผู้สูงอายุได้เป็นจำนวนมากถึง 342,000 คน ในขณะที่การช่วยเหลือดูแลเรื่องสิทธิสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุนั้น ในปี 2568 มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยอยู่กว่า 12 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เฟส 2 มีผู้สูงอายุได้รับสิทธิ 3,025,596 คน เป็นการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับผู้สูงอายุได้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งช่วยสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจ

อ่านข่าว : สตม.เร่งรวบรวมข้อมูล ก่อนแจงปม "ไบโอเมตริกซ์" ไทยใช้ไม่ได้ 3 ปี

สมาคมชาวนาฯ หนุน “ประกันราคา” ยืน 5 ข้อ แก้ราคาข้าวดิ่ง

เปิดภาพฝูงนกยูงหนีตายไฟป่า "ดอยเต่า" ลามหลายจุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง