อีเมลจากสำนักงานบริหารงานบุคคล (OPM) ถูกส่งถึงข้าราชการในหลายหน่วยงานเมื่อวันเสาร์ที่ 22 ก.พ.2568 ตามเวลาสหรัฐฯ โดยใช้หัวข้อว่า "What did you do last week ? " หรือ "คุณทำอะไรบ้างในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา"
เนื้อหาในอีเมลสั่งให้ข้าราชการส่งรายละเอียดงานที่ทำในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นจำนวน 5 ข้อ ส่งสำเนาถึงผู้บังคับบัญชา โดยห้ามส่งข้อมูลลับ ห้ามแนบไฟล์ และห้ามส่งลิงก์อื่น ๆ แม้จะไม่มีการระบุถึงบทลงโทษใด ๆ ในอีเมล แต่ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น อีลอน มัสก์ ผู้บังคับบัญชาสูงสุดกระทรวง DOGE ได้โพสต์ข้อความบน X ว่า
หากไม่ตอบถือว่ายอมลาออก
อีเมลและคำขู่ผ่านสื่อโซเชียลของ มัสก์ ทำให้ข้าราชการจำนวนมากเกิดความสับสนและวิตกกังวล เพราะไม่แน่ใจว่าคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับจริงหรือไม่

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานมองว่า การดำเนินการนี้เป็นความพยายามคัดกรองข้าราชการที่ภักดีต่อฝ่ายบริหารของทรัมป์ ขณะที่บางคนกังวลว่า การตอบอีเมลดังกล่าวอาจเป็นการยอมรับนโยบายใหม่โดยปริยาย และอาจถูกใช้เป็นข้ออ้างในการเลิกจ้าง การสั่งให้ข้าราชการรายงานผลการทำงานโดยตรงเช่นนี้ถือเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ
หลายคนมองว่านี่เป็นสัญญาณว่า ทรัมป์และมัสก์ต้องการปรับโครงสร้างรัฐบาลให้มีลักษณะใกล้เคียงกับองค์กรเอกชนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข้าราชการบางส่วนตัดสินใจตอบอีเมลเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวก็ตาม
ขณะที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลกลางกำลังพิจารณาว่าการบังคับข้าราชการให้รายงานงานเช่นนี้ละเมิดกฎหมายแรงงานหรือไม่
หน่วยงานความมั่นคง สั่ง "อย่าเพิ่งตอบ"
หลังจากอีเมลจาก OPM ถูกส่งออกไป หน่วยงานด้านความมั่นคง เช่น สำนักงานสืบสวนกลางแห่งสหรัฐฯ (FBI) และ สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (NSA) ได้สั่งให้พนักงานของตน "อย่าเพิ่งตอบ" จนกว่าจะได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาโดยตรง
FBI ส่งอีเมลภายในแจ้งว่า "เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องรอคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาก่อนตอบอีเมลนี้" เช่นเดียวกับ กระทรวงกลาโหม (Pentagon) ได้แจ้ง NSA ให้ตรวจสอบความถูกต้องของอีเมลก่อนตัดสินใจดำเนินการใด ๆ
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงกังวลว่า หากข้าราชการตอบกลับโดยไม่ระมัดระวัง อาจเป็นช่องทางให้ข้อมูลภายในรั่วไหล
หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ มองว่า อีเมลจาก OPM อาจเป็นส่วนหนึ่งของแผนการทางการเมืองมากกว่าการปรับปรุงระบบราชการ
แต่ไม่ใช่ทุกหน่วยงานที่มีท่าทีเช่นเดียวกัน ฌอน เคอร์แรน (Sean Curran) ผู้อำนวยการสำนักงานอารักขาประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Secret Service) ส่งข้อความถึงพนักงานว่า "อีเมลจาก OPM เป็นของจริง และทุกคนต้องตอบกลับ" พร้อมให้คำแนะนำว่า หากเจ้าหน้าที่รู้สึกไม่สบายใจ สามารถขอความช่วยเหลือจากหน่วยสนับสนุนทางจิตวิทยาภายในองค์กรได้
เจ้าหน้าที่รัฐหลายคนตกอยู่ในภาวะสับสน เนื่องจากคำสั่งจากแต่ละหน่วยงานขัดแย้งกันเอง ในโลกออนไลน์ มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า นี่อาจเป็นความพยายามของทรัมป์และมัสก์ในการขจัด "Deep State" หลายฝ่ายเตือนว่า หากมีข้าราชการจำนวนมากถูกกดดันให้ออกจากตำแหน่ง อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐบาล ขณะที่สื่อหลายสำนักเริ่มรายงานว่า ความขัดแย้งนี้อาจนำไปสู่วิกฤติทางการเมืองในรัฐบาลสหรัฐฯ

สหภาพแรงงานลั่น "นี่คือการละเมิดสิทธิ"
เอเวอเร็ตต์ เคลลีย์ (Everett Kelley) ประธานสหภาพข้าราชการสหรัฐฯ (AFGE) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 800,000 คน ออกมาประณามคำสั่งของมัสก์ว่า "เป็นการลิดรอนสิทธิข้าราชการ และดูหมิ่นพวกเขาอย่างร้ายแรง"
อีเมลที่ส่งมาให้พวกเขา เขาคือพนักงานที่ทำงานหนักเพื่อประเทศชาติ แต่พวกเขาถูกบีบให้ต้องพิสูจน์ตัวเองต่อมหาเศรษฐีที่ไม่เคยทำงานภาครัฐแม้แต่ชั่วโมงเดียว
เคลลีย์กล่าว พร้อมยืนยันว่าสหภาพฯ จะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อปกป้องสมาชิกของตน
เช่นเดียวกัน โดรีน กรีนวัลด์ (Doreen Greenwald) ประธานสหภาพพนักงานกระทรวงการคลัง (NTEU) ก็ออกแถลงการณ์โจมตีมาตรการดังกล่าวว่า "เป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย" ข้าราชการเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ การทำให้พวกเขารู้สึกหวาดกลัวเช่นนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้
ทรัมป์หนุนมัสก์ บอกให้ "ก้าวร้าวขึ้นอีก"
ทางด้าน ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกโรงแสดงการสนับสนุนแนวทางของ อีลอน มัสก์ อย่างเต็มที่ โดยกล่าวในงานประชุมอนุรักษ์นิยม CPAC ว่า "มัสก์ทำได้ดีมาก" และทรัมป์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เขาต้องการให้มัสก์ "ก้าวร้าวกว่านี้" ในการปรับโครงสร้างระบบข้าราชการ
ด้านมัสก์ตอบกลับกลับใน X ว่า "จะจัดให้ครับ ท่านประธานาธิบดี"
ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองมองว่า นี่เป็นสัญญาณว่ารัฐบาลทรัมป์ต้องการลดขนาดข้าราชการลงอย่างจริงจัง นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า นี่อาจเป็นความพยายามกำจัดข้าราชการที่ต่อต้านนโยบายของทรัมป์ก่อนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า
ส่วนทางพรรคเดโมแครต ออกแถลงการณ์ประณาม ทรัมป์และมัสก์ โดยมองว่านี่เป็นความพยายาม "ทำลายความเป็นกลางของข้าราชการ"

อดีตพนักงาน Twitter เตือน "นี่แหละมัสก์"
อดีตพนักงาน Twitter ออกมาเตือนว่า สิ่งที่มัสก์กำลังทำกับข้าราชการสหรัฐฯ คล้ายกับวิธีที่เขาใช้กดดันพนักงาน Twitter หลังเข้าซื้อกิจการในปี 2565
เมื่อมัสก์เข้าควบคุม Twitter (ปัจจุบันคือ X) เขาได้ส่งอีเมลถึงพนักงานทุกคน พร้อมกำหนดเส้นตายให้ตอบตกลงทำงานแบบ "ฮาร์ดคอร์" มิฉะนั้นจะถือว่ายอมลาออก เมื่อพนักงานจำนวนมากเลือกที่จะไม่ตอบก็ถูกให้ออกจากงาน ซึ่งนำไปสู่การลดจำนวนพนักงานของบริษัทลงกว่าครึ่งภายในไม่กี่สัปดาห์
มัสก์ ต้องการคัดกรองข้าราชการที่จงรักภักดี ภายใต้แนวคิดของเขาและทรัมป์ ในขณะที่ผลักไสผู้ที่ไม่เห็นด้วยออกไป
มีรายงานว่า ในช่วงที่มัสก์บริหาร Twitter พนักงานหลายคนไม่กล้าพูดความเห็นต่าง เพราะกลัวว่าจะถูกเลิกจ้างแบบสายฟ้าแลบ อดีตผู้บริหารของ Twitter เปิดเผยว่า วิธีนี้เป็นการกดดันพนักงานโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปลดออก นอกจากนี้ มัสก์ยังมีแนวโน้มใช้โซเชียลมีเดียโจมตีพนักงานที่เขาไม่พอใจ ทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยความหวาดกลัว
อดีตพนักงานบางคนออกมาให้คำแนะนำแก่ เหล่าข้าราชการว่าไม่ควรตอบอีเมลโดยทันที ควรรอคำแนะนำทางกฎหมายก่อน
อ่านข่าวอื่น :
ระเบิดรถยนต์! ในสนามบินนราธิวาส ก่อน "ทักษิณ" แลนดิ้ง 1 ชม.
ชาวคริสต์ทั่วโลกอธิษฐานส่งกำลังใจ "โป๊ปฟรานซิส" ประชวรหนัก