นับจาก 19 สิงหาคม 2557 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มีมติให้กระทรวงมหาดไทย บริหารจัดการขยะมูลฝอยด้วยการรวมกลุ่ม อปท.247 กลุ่ม เพื่อจัดการขยะแบบรวมศูนย์ (cluster) พร้อมทั้งอนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานจัดการขยะ และโรงไฟฟ้าขยะในแต่ละภูมิภาค
แต่ผ่านมาเกือบ 10 ปี คำสั่ง คสช.รูปแบบการจัดการขยะแบบคลัสเตอร์ กลับพบว่า หลายพื้นที่เกิดปัญหาความขัดแย้ง ระหว่าง อปท.และชุมชนที่อยู่รอบบ่อขยะ เนื่องจากการปิดบ่อขยะหลายพันบ่อ และให้นำขยะมาทิ้ง ณ จุด ๆ เดียว เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ และอาจเอื้อไปยังเอกชนที่เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานจัดการขยะและโรงไฟฟ้า แต่ขยะก็ยังไม่ลดน้อยลง ขยะเดิมที่ล้นบ่อยังไม่สามารถจัดการได้ ขยะใหม่ก็ต้องแก้ปัญหาแบบรายวัน

คำสั่ง คสช.จากคลัสเตอร์ขยะ สู่การฟ้องร้อง
มีหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการรวมคลัสเตอร์ขยะ ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เช่นที่ จ.อ่างทอง ขยะจาก อปท.ทั้ง 64 แห่ง ถูกนำไปทิ้งที่บ่อขยะใน ต.เทวราช อ.ไชโย นับตั้งแต่ปี 2562 เรื่อยมา ที่นี่มีขยะสะสมกว่า 3 แสนตัน ส่งผลกระทบกับคนในพื้นที่จนนำไปสู่การฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้นายกเทศมนตรีเมืองอ่างทอง ระงับเหตุรำคาญจากขยะ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เคร่งครัดในการระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ
ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีปัญหา เรื่องการฟ้องร้องหน่วยงานภาครัฐ อย่างเช่นที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีขยะตกค้างมากกว่า 150,000 ตัน และส่งกลิ่นเหม็น จนชาวบ้านรวมตัวกันฟ้องร้องผู้ว่าราชการ จ.สุราษฎร์ธานี นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย และเทศบาล
ปัญหาคลัสเตอร์ขยะ นอกจากภาคประชาชนจะฟ้องหน่วยงานรัฐแล้ว ยังเกิดปัญหาภาคเอกชนฟ้องรัฐเช่นกัน เช่นที่ จ.นครราชสีมา บริษัทเอกชนยื่นฟ้องเทศบาลนครนครราชสีมา เมื่อปี 2564 ในคีดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยผู้ฟ้องให้เหตุผล การจัดหาเอกชนมาดำเนินการลงทุนก่อสร้าง และบริหารจัดการโครงการระบบกำจัดมูลฝอย ระยะที่ 2 ของเทศนครนคราชสีมา โดยวิธีการคัดเลือกไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรื่องนี้มีการต่อสู้ไปจนถึงศาลปกครองสูงสุด โดยศาลได้ยกคำสั่งทุเลาการบังคับทางปกครองของศาลปกครองชั้นต้นไว้เป็นการชั่วคราว และให้เอกชนเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะมูลค่า 2 พันล้านบาท

สร้างโรงไฟฟ้า แก้ปัญหาขยะตกค้างได้จริงหรือ?
โรงไฟฟ้าขยะที่กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพลังงาน อนุญาตให้ อปท.ในฐานะที่เป็นคู่สัญญากับเอกชนก่อสร้างทั่วประเทศ เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้กับ กฟภ. และเป็นช่องทางที่เชื่อว่าจะช่วยลดหรือกำจัดขยะให้หมดไป
โรงไฟฟ้าขยะขอนแก่น เป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกๆ ในภาคอีสาน ที่เริ่มเดินเครื่องผลิตมาตั้งแต่ปี 2559 กำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ สามารถกำจัดขยะได้วันละ 450-600 ตัน เดิมทีโรงไฟฟ้าแห่งนี้คาดว่าจะกำจัดขยะเก่าที่มีมากกว่า 8 แสนตันให้หมดไปภายใน 7 ปี แต่ผ่านมาแล้ว 9 ปีของการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่ภูเขาขยะก็ยังไม่หมดไป ยังมีขยะตกค้างไม่น้อยกว่า 6 แสนตัน
สาเหตุที่ขยะเก่ายังไม่หมดไป เพราะก่อนหน้านี้โรงไฟฟ้าขยะถูกออกแบบเพื่อรองรับขยะเฉพาะในเขตเทศบาลนครขอนแก่น และ อปท.ใกล้เคียงเท่านั้น แต่จากคำสั่งของ คสช.ที่ให้รวมกลุ่มคลัสเตอร์ ก็ทำให้มีขยะจาก อปท.ไม่น้อยกว่า 40 แห่ง นำขยะมาทิ้งที่นี่เฉลี่ยวันละ 400 กว่าตัน เมื่อขยะใหม่เกิดขึ้นทุกวัน และจำเป็นต้องนำขยะใหม่เข้าเตาเผา

นี่จึงเป็นเหตุผลทำให้ขยะเก่าไม่ลดลง จนกว่าจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะแห่งที่ 2 ที่เทศบาล ต.กุดน้ำใส อ.น้ำพอง ซึ่งขณะนี้ได้บริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับเทศบาลแล้ว
ขยับไปดูที่ จ.อุดรธานี ก่อนหน้านี้เอกชนได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ มูลค่า 710 ล้านบาท นับเป็นโรงไฟฟ้าขยะพลังงานสะอาดแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส กำลังการผลิต 9.6 เกมะวัตต์
ก่อนหน้านี้เอกชนลงนามซื้อขายไฟกับ กฟภ. แต่เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา เกิดการระบาดของโควิด ทำให้บริษัทเอกชนไม่สามารถจ่ายไฟตามสัญญา ทำให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ระงับการซื้อขายสัญญากับเอกชน ขณะนี้อยู่ระหว่างการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ทำให้บ่อขยะของเทศบาลนครอุดรธานี มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2567 ระบุว่า ขณะนี้ภาพรวมทั้งประเทศ มีโรงไฟฟ้าขยะที่เดินเครื่องผลิต 25 แห่ง กระจายในทุกภูมิภาค มากที่สุดคือ ภาคกลาง 12 แห่ง รองลงมา ภาคเหนือ 5 แห่ง
ส่วนภาคอีสาน และภาคใต้ ภาคละ 4 แห่ง กำลังการผลิตรวม 324 เมกะวัตต์ ยังไม่รวมโรงไฟฟ้าขยะ 40 แห่งใน 30 จังหวัด ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย แต่หลายพื้นที่ยังติดปัญหา ทั้งการที่ยังไม่ลงนามซื้อขายไฟระหว่างเอกชน กับ กกพ. และการคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะของคนในชุมชนและกลุ่มนักเคลื่อนไหว

ปัญหาการรวมกลุ่มขยะในรูปแบบคลัสเตอร์ และการบริหารจัดการที่ไม่เป็นไปตามพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย (PDP 2015 ปี 2558-2579) ก็ทำให้ขณะนี้ อปท.แต่ละแห่ง กำหนดยุทธศาสตร์และแผนการจัดการขยะ โดยเฉพาะการเน้นจัดการขยะครัวเรือน ร้านอาหาร และสถานประกอบการ ด้วยการลดปริมาณขยะอินทรีย์ หรือขยะเปียกเข้าระบบ เพราะต้องยอมรับว่า ปัจจุบัน อปท.แต่ละแห่งมีขยะเปียกมากกว่าร้อยละ 60 ของขยะทั้งหมด ซึ่งขยะเหล่านี้ไม่สามารถที่จะเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้)
เรื่อง : มยุรี อัครบาล ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคอีสาน
อ่านข่าว : ฝ่ายค้านซักฟอกปมหุ้นอัลไพน์ ชี้นายกฯ ต้องคืนที่ดินวัด
"กรมที่ดิน" ชี้นายกฯไม่ได้แทรกแซงปมที่ดินอัลไพน์
รู้จัก "กี้กี้" เพื่อนรัก 5 วินาที ร้องดังฟังชัด สู้สุดใจก่อนควันพุ่ง