ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รุนแรงสุดในรอบ 95 ปีแผ่นดินไหวบนบก 7.7 รอยเลื่อนสะกาย

ภัยพิบัติ
28 มี.ค. 68
16:57
33,560
Logo Thai PBS
รุนแรงสุดในรอบ 95 ปีแผ่นดินไหวบนบก 7.7 รอยเลื่อนสะกาย
อ่านให้ฟัง
07:20อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมทรัพยากรธรณี ชี้แผ่นดินไหวบนบกขนาด 7.7 เมืองมัณฑะเลย์ เมียนมา สะเทือน 24 จังหวัดไทย จากรอยเลื่อนสะกายขยับ ในอดีตเคยเกิดแผ่นดินไหว 7.3 เมื่อปี 2473 เสียชีวิต 500 คน

วันนี้ (28 มี.ค.2568) นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี แถลงว่า เมื่อเวลา 13.20 น.แผ่นดินไหวบนบกขนาด 7.7 ขนาดความลึก 10 กม. ศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา ถือเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ จากนั้นอีกเพียง 12 นาที ยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกขนาด 6.4 ตามมา (ตามประกาศของ USGS) 

สำหรับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้ เกิดจากรอยเลื่อนสะกาย ในเมืองมัณฑะเลย์ ห่างไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือค่อนไปทางเหนือของเมืองสะกาย ของเมียนมาเพียง 16 กม. และอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 1,100 กิโลเมตร  ส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ในประเทศไทยรับรู้ ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนหลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

การขยับของรอยเลื่อนสะกาย ตามแนวระนาบเหลื่อมขวามีอัตราเคลื่อน 2 ซม.ต่อปี โดยรอยเลื่อนสะกาย ก่อหน้านี้เคยมีเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2473 ขนาด 7.3 และมีผู้เสียชีวิต 500 คน และความเสียหายจำนวนมาก
นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี

นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี

นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี

เช็กจังหวัดแผ่นดินไหว 24 จังหวัดสะเทือนหนัก

แผ่นดินไหวครั้งนี้ สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนในภาคเหนือได้แก่  เชียงใหม่ เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พิษณุโลก ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี  อุบลราชธานี ภาคตะวันออก ชลบุรี ส่วนภาคกลาง เช่น สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครสวรรค์ ราชบุรี ลพบุรี นครนายก และกทม.และจังหวัดปริมณฑล

อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า ข้อมูลอัปเดตล่าสุดมีรายงานอาคารถล่มย่านจตุจักร มีความเสียหายเกิดขึ้น ทั้งนี้ ทางกทม.เจ้าหน้าที่กำลังเข้าตรวจสอบและเข้าช่วยเหลือผูประสบภัย

นอกจากนี้กรมทรัพยากรธรณี ขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย เฝ้าระวังเหตุการณ์แผ่นดินไหว และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนจากหน่วยงานราชการเป็นระยะ

ข้อแนะนำหลังเกิดแผ่นดินไหวไม่ตื่นตระหนกในช่วง 2 ชั่วโมงตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหว ให้อยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง ออกห่างจากอาคาร ออกจากอาคารสูง อาคารเก่า และอาคารที่มีร่องรอยความเสียหาย โดยทันที รถสาธารณะควรงดให้การบริการ
ตรวจสภาพตัวเองและคนข้างเคียง หากได้รับบาดเจ็บ ให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น

อ่านข่าว รู้จัก "สะกาย" รอยเลื่อนต้นเหตุแผ่นดินไหว 8.0 ในอดีตมีพลังแรงสุด

อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ถล่มหลังแผ่นดินไหวขนาด 7.7

อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ถล่มหลังแผ่นดินไหวขนาด 7.7

อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ถล่มหลังแผ่นดินไหวขนาด 7.7

รู้จักรอยเลื่อนสะกายรุนแรงสุดจากปี 2473

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2566 เคยเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.0 เมื่อเวลา 08.40 น.ที่ระดับความลึก 10 กม.บริเวณตอนเหนือของทะเลอันดามัน ประเทศเมียนมา ห่างจากกทม. 490 กม. พบว่าเกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกาย ในเมียนมา ตามแนวระนาบแบบเหลื่อมขวา ซึ่งมีอัตราการเคลื่อนตัวประมาณ 2 ซม.ต่อปี

สำหรับรอยเลื่อนสะกาย เคยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีตเมื่อปี พ.ศ.2473 เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 7.3 และทำให้มีผู้เสียชีวิตในเมียนมามากกว่า 500 คน

ในรอบ 50 ปีช่วง 2516-2566 เกิดแผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อนสะกาย ทั้งหมด 668 ครั้ง ขนาด 2.9-7.0 ครั้งใหญ่สุดรอบ 50 ปีขนาด 7.0 เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2534 ที่เมือง Mogok ในมัณฑะเลย์

รอยเลื่อนสะกาย ถือเป็นรอยเลื่อนมีพลังมากที่สุดในผืนแผ่นดินใหญ่ประเทศในอาเซียน เทียบเท่ากับรอยเลื่อนซานแอนเดรียส (San Andreas Fault) ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยรอยเลื่อนสะกายมีความยาว 1,500 กิโลเมตร และพาดผ่านตอนกลางของเมียนมา เทือกเขาหิมาลัย ผ่านลงมาถึงกรุงย่างกุง ยาวลงในอ่าวเบงกอล และทะเลอันดามัน

ในอดีตรอยเลื่อนสะกายเคยเกิดแผนดินไหวใหญ่ ในช่วงต้นรัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ขนาด 8.0 ในด้านตะวันตกนของเมืองมัณฑะเลย์ ที่ทำให้เจดีย์สำคัญพังถล่ม และแรงสะเทือนรับรู้ถึงภาคเหนือ และกทม.

แผ่นดินไหว เตือนภัยล่วงหน้าไม่ได้

กรมอุตุนิยมวิทยา ขอแจ้งให้ทราบว่า ภัยแผ่นดินไหวยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ การป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องได้รับข้อมูลความสั่นสะเทือนของพื้นดินที่ถูกต้อง จากระบบตรวจวัดที่มีมาตรฐานสากล ได้แก่ สถานีตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน สถานีวัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก และสถานีวัดระดับน้ำทะเล ที่ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศไทย เพื่อตรวจวัด เฝ้าระวัง และให้บริการข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องภัยแผ่นดินไหวในประเทศอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ตลอดจนแจ้งเตือนภัยให้กับพื้นที่เสียงภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในทะเล เมื่อตรวจพบความผิดปกติก็จะสามารถส่งข้อมูลแจ้งเตือนได้ทันที

ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยพบว่ามีโอกาสการเกิดแผ่นดินไหวได้น้อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น สิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้เพื่อป้องกัน และบรรเทาภัยแผ่นดินไหว คือการติดตามข่าวสารด้านภัยธรรมชาติอยู่เสมอๆ เพื่อรับข้อมูลได้รวดเร็ว หากเกิดเหตุขึ้นก็จะสามารถเตรียมตัวอพยพได้ทันท่วงที

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง