ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทรัมป์ขึ้นภาษี 54% ปลุกมังกรจีนตื่นพร้อม "กลยุทธ์ดึงดูดนักลงทุน"

ต่างประเทศ
4 เม.ย. 68
16:36
373
Logo Thai PBS
ทรัมป์ขึ้นภาษี 54% ปลุกมังกรจีนตื่นพร้อม "กลยุทธ์ดึงดูดนักลงทุน"
อ่านให้ฟัง
10:26อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนครั้งใหญ่ จุดชนวนสงครามการค้ากับจีนให้ร้อนระอุ จีนตอบโต้ทันควัน เรียกนโยบายนี้ว่า "การข่มขู่" และเตรียมมาตรการปกป้องตัวเอง ขณะที่ก่อนหน้านี้ จีนได้วางแผนล่วงหน้า ด้วยการชวนนักลงทุนทั่วโลกมาลงทุนเพิ่ม

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2568 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ยืนพูดที่สวนกุหลาบในทำเนียบขาวเป็นเวลากว่าหนึ่งชั่วโมง ประกาศนโยบายใหม่ที่เขย่าโลก โดยเผยว่าจะเก็บภาษีร้อยละ 54 สำหรับสินค้าทุกอย่างที่นำเข้าจากจีน โดยเพิ่มจากภาษีเดิมที่มีอยู่ร้อยละ 20 ซึ่งหมายความว่าสินค้าจีนทุกชิ้นที่เข้าสหรัฐฯ จะแพงขึ้นอย่างมาก

ผมเคารพ ปธน.สี จิ้นผิง และ จีนมาก แต่พวกเขาเอาเปรียบเรามากเกินไปมานานแล้ว จีนน่าจะเข้าใจดีว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และพวกเขาจะสู้ 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทรัมป์ขึ้นภาษีจีน ตั้งแต่เขากลับมาเป็นประธานาธิบดีในเดือน ม.ค.2568 เขาได้เพิ่มภาษีสินค้าจีนไปแล้ว 2 รอบ รอบละร้อยละ 10 โดยบอกว่าเป็นการหยุดยาเฟนทานิลผิดกฎหมายที่ไหลมาจากจีน แต่ครั้งนี้ ภาษีร้อยละ 54 เป็นการก้าวไปอีกขั้นที่หนักหน่วงกว่าเดิม และไม่ใช่แค่จีนที่โดน ทรัมป์ยังเพิ่มภาษีร้อยละ 10 สำหรับสินค้าทุกอย่างที่เข้าสหรัฐฯ จากทุกประเทศ และตั้งภาษีพิเศษสำหรับบางชาติในเอเชีย เช่น เวียดนาม ร้อยละ 46 และกัมพูชา ร้อยละ 49 รวมถึงไทย ร้อยละ 36 ซึ่งทำให้ธุรกิจทั่วโลกต้องตื่นตระหนก

เป้าหมายของทรัมป์คือการเปลี่ยนแปลงวิธีการค้าขายของสหรัฐฯ ที่ใช้มานานกว่า 100 ปี เขาต้องการให้บริษัทอเมริกันย้ายการผลิตกลับมาที่สหรัฐฯ และลดการพึ่งพาจีน แต่ผลที่ตามมาคือความโกลาหลในวงการค้า

เบน ชวาลล์ ที่ปรึกษาด้านห่วงโซ่อุปทานจาก STG Consultants บอกว่านโยบายแบบนี้เปลี่ยนเร็วเกินไป ธุรกิจตามไม่ทัน อยากรู้แผนระยะยาวของทรัมป์จริง ๆ และยังชี้ว่า ภาษีใหม่นี้ทำให้แผนที่วางไว้ล้มเหลว เพราะตอนนี้ไม่ใช่แค่จีนที่โดน แต่ประเทศอื่นในเอเชียที่บริษัทเคยย้ายไปก็โดนด้วย

เกร็ก มาซซา เจ้าของบริษัทโคมไฟในคอนเนตทิคัต ซึ่งนำเข้าสินค้าจากจีน บอกว่าเขาเคยขึ้นราคาสินค้าแค่ร้อยละ 5 เพื่อไม่ให้ลูกค้าต้องจ่ายแพงเกินไปจากภาษีรอบก่อน แต่ครั้งนี้คิดว่าคนอเมริกันคงรับราคาที่สูงขึ้นจากภาษีร้อยละ 54 ไม่ไหว มาซซากังวลว่าธุรกิจจะต้องเลือกว่าจะอยู่กับจีนต่อไป หรือลองผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งตอนนี้ยังดูยาก เพราะต้นทุนในสหรัฐฯ สูงกว่ามาก

นักวิเคราะห์บอกว่า ภาษีครั้งนี้สูงเกินกว่าที่คาดไว้ และอาจเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่มีมูลค่ากว่าครึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ไปตลอดกาล

จีนตอบโต้ทันควัน "ไม่ยอมให้ข่มขู่"

เช้าวันที่ 3 เม.ย.2568 กระทรวงพาณิชย์จีนออกแถลงการณ์ทันทีหลังทรัมป์ประกาศ

รัฐบาลจีนคัดค้านต่อมาตรการและจะตอบโต้อย่างเด็ดขาด เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของประเทศ

จีนเรียกภาษีของทรัมป์ว่าเป็นการข่มขู่ฝ่ายเดียว และบอกว่าสหรัฐฯ ตั้งภาษีตามความคิดของตัวเอง โดยไม่สนกฎการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งทำร้ายทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และจีนยังขอให้สหรัฐฯ ยกเลิกภาษี และหาทางแก้ปัญหาด้วย การเจรจาที่เท่าเทียม

ในอดีต จีนเคยตอบโต้ภาษีของทรัมป์มาแล้ว ในสมัยแรกของเขาจีนเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ เช่น ผลไม้ ธัญพืช น้ำมัน และจำกัดการส่งออกบางอย่าง ตอนที่ทรัมป์ขึ้นภาษีร้อยละ 20 ไปก่อนหน้านี้ จีนก็ตอบกลับแบบไม่หนักมาก ด้วยการเก็บภาษีสินค้าเกษตรและพลังงานของสหรัฐฯ และลงโทษบริษัทอเมริกันบางแห่ง

นักวิเคราะห์ เคร็ก ซิงเกิลตัน จาก Foundation for Defense of Democracies คาดว่า ครั้งนี้จีนจะเฉียบขาดขึ้น อาจเลือกเก็บภาษีสินค้าที่กระทบฐานเสียงของทรัมป์ เช่น ข้าวโพด หรือเครื่องจักรอุตสาหกรรม และอาจแบนบริษัทสหรัฐฯ บางราย หรือควบคุมการส่งออกวัตถุดิบที่สหรัฐฯ ต้องการ

ปธน.สี จิ้นผิง ต้องระวังถ้าตอบโต้สหรัฐฯ แรงและเร็วเกินไป อาจดูเหมือนยอมแพ้ แต่ถ้าช้าเกินไป สงครามการค้าอาจยืดเยื้อ ทรัมป์เองก็บอกว่าเขาอยากเจรจากับจีน และอาจมีโอกาสที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะนั่งโต๊ะคุยกันในสัปดาห์นี้ แต่ตอนนี้ ดูเหมือนทั้งคู่ยังไม่ยอมถอยให้กันง่าย ๆ 

ตอนนี้ เศรษฐกิจจีนกำลังแย่อยู่แล้ว จากปัญหาบ้านราคาตก คนซื้อของน้อย และเงินฝืด ภาษีของทรัมป์ยิ่งทำให้แย่เข้าไปอีก แต่บางคนมองว่า จีนอาจได้ประโยชน์ในระยะยาว เพราะสหรัฐฯ กลายเป็นคู่ค้าที่ไว้ใจไม่ได้ ประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ อาจหันมาค้าขายกับจีนมากขึ้น

จีนเตรียมตัวล่วงหน้า "กลยุทธดึงดูดนักลงทุน"

ก่อนที่ทรัมป์จะประกาศภาษีใหม่ไม่กี่วัน เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 สี จิ้นผิง เชิญผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทดังทั่วโลกกว่า 40 คน เช่น FedEx, Qualcomm, BMW, Toyota และ Apple มาประชุมที่ปักกิ่ง เขาบอกว่า

จีนเป็นที่ที่ปลอดภัยและน่าลงทุน และจะเป็นแบบนี้ต่อไป

สี สัญญาว่าจะทำให้บริษัทต่างชาติเข้าถึงตลาดจีนง่ายขึ้น ปฏิบัติต่อทุกบริษัทอย่างเท่าเทียม และคุยกับนักลงทุนบ่อย ๆ เพื่อให้พวกเขามั่นใจ เขายังบอกว่า บริษัทต่างชาติช่วยสร้างงานในจีนกว่า 30 ล้านตำแหน่ง และทำเงินภาษีให้จีนถึง 1 ใน 7 ของทั้งหมด

สีพูดอย่างชัดเจนว่าการตัดขาดกัน หรือทำลายห่วงโซ่อุปทาน ไม่ช่วยใครเลย ซึ่งเหมือนเป็นการตำหนิทรัมป์ที่กำลังจะขึ้นภาษี เขาขอให้บริษัทใหญ่ ๆ เจรจาผลประโยชน์บนเหตุและผล ก่อนหน้านี้ ที่ฟอรัมการพัฒนาจีนเมื่อวันที่ 23-24 มี.ค. หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ก็บอกกับนักธุรกิจ 86 บริษัทว่า โลกกำลังไม่แน่นอน พวกเราต้องช่วยกันต้านการกีดกันการค้า และย้ำว่าจีนพร้อมรับมือ "ความผันผวนจากภายนอก"

31 มี.ค. ทิม คุก ซีอีโอของ Apple คุยกับรัฐมนตรีพาณิชย์จีน หวัง เหวินเทา และสัญญาว่าจะลงทุนในจีนมากขึ้น ทั้งด้านห่วงโซ่อุปทาน การวิจัย และงานสังคมสงเคราะห์ หวังบอกว่า ภาษีของสหรัฐฯ ทำลายธุรกิจและสร้างความไม่แน่นอน แต่จีนอยากร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้น การเคลื่อนไหวนี้แสดงว่าจีนรู้ล่วงหน้าว่าทรัมป์จะทำอะไร และพยายามหาพันธมิตรใหม่ ๆ จากยุโรป เอเชีย และที่อื่น ๆ เพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐฯ

ได้หรือเสีย ? เมื่อทรัมป์ปลุกมังกรจีนตื่น

คำเปรียบเปรยจีนที่ได้ยินมานาน "อย่าปลุกมังกรตื่น" หมายถึง การหลีกเลี่ยงการยั่วยุมหาอำนาจที่หลับใหล เพราะเมื่อตื่นขึ้น จะแสดงพลังที่ไม่อาจต้านทานได้

การกระทำของทรัมป์อาจถูกมองว่าเป็นการ "ปลุกมังกร" ที่ทำให้จีนต้องลุกขึ้นสู้ แต่ในทางกลับกัน การเตรียมการล่วงหน้าของ สี จิ้นผิง เช่น การดึงดูดนักลงทุนและกระจายตลาดไปยังยุโรป แอฟริกา และลาตินอเมริกา แสดงถึงความฉลาดหลักแหลมที่มากกว่าการตอบโต้ด้วยอารมณ์ มังกรไม่ได้ถูกปลุกให้ตื่นด้วยความโกรธ แต่กำลังขยับตัวอย่างมีกลยุทธ์

เจสัน ซู จาก Hudson Institute ชี้ว่า ภาษีของทรัมป์อาจทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นพันธมิตรที่คาดเดาไม่ได้ในสายตาเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ซึ่งอาจหันมาพึ่งจีนมากขึ้น หวัง ตัน จาก Eurasia Group เห็นด้วยว่า จีนไม่ได้ตัดขาดจากโลก แค่เปลี่ยนจุดหมายจากสหรัฐฯ ไปที่อื่น

การเคลื่อนไหวนี้ไม่ใช่การระเบิดพลังของมังกรที่ถูกปลุก แต่เป็นการปรับตัวอย่างชาญฉลาดเพื่อรักษาอิทธิพลในระยะยาว ซึ่งอาจทำให้จีนได้เปรียบในที่สุด

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนยังเปราะบาง และการพึ่งพาการส่งออกที่ลดลงอาจกระทบการผลิตและความเชื่อมั่นภายในประเทศ นิค มาร์โร จาก Economist Intelligence Unit ระบุว่า "ความท้าทายของจีนคือการปรับสมดุลเศรษฐกิจ ซึ่งภาษีของทรัมป์อาจทำให้ยากขึ้น" ดังนั้น การรับมือกับการขึ้นภาษีของทรัมป์จึงเป็นดาบสองคมของจัน

หากสำเร็จ มังกรจะยิ่งแข็งแกร่ง แต่หากล้มเหลว อาจกลายเป็นการตื่นขึ้นที่ไม่ทันการณ์

ที่มา : BBC, CNN

อ่านข่าวเพิ่ม :

"กสม." ขอ "สตง." ให้ความร่วมมือสอบสวน เหตุ "ตึกถล่ม"

"ทรัมป์" รีดภาษีทำผู้ผลิตรถยนต์ปลดคน-ระงับการผลิตบางส่วน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง