วันที่ 29 มี.ค.
- เจ้าหน้าที่ระดมกำลังค้นหาผู้รอดชีวิต และผู้เสียชีวิต ที่ติดค้างอยู่ใต้ซากอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (หลังใหม่) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ด้วยความเร่งรีบ หวังว่าจะช่วยผู้รอดชีวิตให้ได้มากที่สุด
วันที่ 30 มี.ค.
- ศูนย์เอราวัณ รายงานผู้เสียชีวิต 10 คน บาดเจ็บ 18 คน
- เปิดข้อมูลพบว่า บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น ประเทศไทย จำกัด เป็นผู้ก่อสร้างตึก สตง.ที่ถล่มลงมา โดยร่วมลงทุนกับ บริษัท อิตาเลียนไทยดีเวลล๊อปเมนท์ จำกัด มหาชน ในนามกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ทำโครงการนี้ มูลค่า 2,136 ล้านบาท
วันที่ 31 มี.ค.
- เจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งค้นหาผู้สูญหาย 75 คน พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน รวมเป็น 12 คน เหตุอาคาร สตง.ถล่ม ย่านจตุจักร

วันที่ 1 เม.ย.
- นายกรัฐมนตรีสั่งตรวจสอบปมตึก สตง.ถล่ม พร้อมตรวจสอบบริษัทรับเหมาว่าเกี่ยวข้องกับโครงการไหนบ้าง
- นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ระบุเข้าไปตรวจวัสดุก่อสร้างในจุดเกิดเหตุ พร้อมเก็บตัวอย่างมา 6 ประเภท ทั้งเหล็กกลม และเหล็กข้ออ้อย 3 ยี่ห้อ ตรวจสอบพบว่า มีเหล็ก 2 ขนาด ที่ไม่ได้มาตรฐาน คือเหล็กไซส์ 20 และ 32 มาจากยี่ห้อเดียวกัน ที่ผลิตโดยบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด
- พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงคดี 3 ประเด็น คือ การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (นอมินี) 2.ดีเอสไอมีอำนาจสอบสวนสินค้าไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม 3.การจัดซื้อจัดจ้าง
วันที่ 2 เม.ย.
- อธิบดีดีเอสไอ รับคดีตึก สตง.ถล่ม เป็นคดีพิเศษ พร้อมตั้งกรรมการสอบสวน พบฐานานุรูปบริษัทไทยร่วมค้า ไม่น่าเชื่อถือ ส่อเข้าข่ายเป็นนอมินี
วันที่ 3 เม.ย.
- เจ้าหน้าที่เร่งใช้อุปกรณ์ตัดถ่างตัดแผ่นปูนออกเป็นส่วน เปิดทางเข้าโพรงใต้อาคาร หลังได้ยินเสียงขอความช่วยเหลือ ยอมรับมีอุปสรรค เนื่องจากการซ้อนทับของแผ่นคอนกรีตหลายชั้น
- ดีเอสไอนัดประชุมนอกรอบ คณะพนักงานสอบสวนประชุมคดีพิเศษ ตามความผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 โดยเป็นการประชุมนอกรอบ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนประชุมนัดแรกพรุ่งนี้ (4 เม.ย.) หลัง พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ ใช้อำนาจอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับคดีนอมินี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 จำกัด เป็นคดีพิเศษ
วันที่ 5 เม.ย.
- สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เรียก 2 บริษัทไชนา เรลเวย์ และซิน เคอ หยวน สตีล ชี้แจง 8 เม.ย.นี้ ปมอาคาร สตง.ถล่ม หลังพบเหล็กไม่ได้มาตรฐาน-พิรุธอาจฮั้วประมูลก่อสร้าง

วันที่ 6 เม.ย.
- นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตึก สตง.ถล่ม รับฟังรายงานการปฏิบัติงาน นานกว่า 40 นาที กำชับให้เก็บหลักฐานเพื่อดำเนินการทางกฎหมาย และเยียวยาครอบครัวผู้สูญหายให้ดีที่สุด พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานทุกคน
- ผู้รับเหมาที่ดำเนินงานด้านสาธารณูปโภค ในโครงการตึก สตง. 10 บริษัท รวมตัวขอไกล่เกลี่ยกับตัวแทนบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น จำกัด และบริษัทซับคอนแทรก(9PK) หลังค้างชำระค่าจ้าง รวมมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท
วันที่ 7 เม.ย.
- เจ้าหน้าที่ขนย้ายซากตึก สตง.ถล่มไปไว้ในพื้นที่ว่างเปล่าของการรถไฟฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ปิดและมีตำรวจ สน.บางซื่อเฝ้าวัตถุพยาน 24 ชั่วโมง
วันที่ 8 เม.ย.
- นายกรัฐมนตรีรับฟังรายงานสถานการณ์ตึก สตง.ถล่ม พร้อมสั่งการให้หาสาเหตุของตึกถล่มภายใน 90 วัน พร้อมมอบหมายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ 4 สถาบัน และกรมโยธาฯ ทำโมเดลของแต่ละแห่ง และให้ทบทวนกระบวนการอนุมัติก่อสร้างอาคาร
- เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานกลาง เข้าเก็บวัตถุพยานในจุดเกิดเหตุ ขณะที่ทีมกู้ภัยยืนยันผู้เสียชีวิต 21 คน อยู่ระหว่างค้นหาอีก 73 คน
- เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ หารือร่วมกับ นางทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. เพื่อเก็บวัตถุพยานของโครงสร้าง ขยายผลประกอบสำนวนคดีพิเศษ ในเรื่องการฝ่าฝืนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือนอมินี

วันที่ 9 เม.ย.
- ตำรวจสอบสวนพยานไปแล้ว 98 ปาก เป็นเจ้าหน้าที่บริษัท 13 ปาก ญาติผู้เสียชีวิต 15 ปาก ญาติผู้ประสบเหตุ 64 ปาก ผู้ได้รับบาดเจ็บ 6 ปาก
- นายฐิติพงศ์ โพธิพรหม หัวหน้าผู้รับเหมาระบบไฟ ที่ไม่ได้รับเงินค่าจ้าง เข้าพบพนักงานสอบสวนที่ สน.บางซื่อ
วันที่ 10 เม.ย.
- นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร กรณีก่อสร้างตึก สตง. การจัดซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่มีราคาแพง
- รองผู้ว่า สตง.ระบุว่า เข้าใจว่าบริษัทที่ก่อสร้างตึก คือ อิตาเลียนไทยฯ ไม่ใช่บริษัทจีน พร้อมยอมรับว่า มีการปรับแบบปล่องลิฟต์ ขยายทางเดินให้ถูกกฎหมาย
- นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานสวดพระพุทธมนต์เพื่อผู้ประสบภัย และผู้สูญหาย ตึก สตง.ถล่ม

วันที่ 11 เม.ย.
- นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าฯ สตง. พบสื่อมวลชนครั้งแรก หลังตึกถลม ยืนยันว่า พร้อมให้ตรวจสอบทุกเรื่อง เพื่อความโปร่งใส ขณะนี้รอผลสอบสาเหตุตึกถล่มจาก คกก.ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมทำหนังสือแจ้งอิตาเลียนไทยฯ ให้รับผิดชอบความเสียหาย
- ไทยพีบีเอสเปิดภาพถ่าย ในพิธีลงนามสัญญาจ้างสร้างตึก สตง. เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2563 หลังจาก รองผู้ว่าฯ สตง. ชี้แจง กมธ.และอ้างว่า ไม่ทราบว่า มีบริษัทจีนร่วมทุน ทั้งที่บริษัทดังกล่าว มีชื่อนาย บิงลิน วู ถือหุ้น 4 บริษัท รวมทั้ง บริษัท ไชน่าเรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ประเทศไทย จำกัด ที่เป็น 1 ในบริษัทกิจการร่วมค้าสร้างตึก สตง.ด้วย
- นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม พร้อมดีเอสไอ เข้าตรวจค้นบริษัท ซิน เคอ หยวน จำกัด ที่ จ.ระยอง หลังพบเหล็กสร้างตึก สตง. 2 รายการ ไม่ได้มาตรฐานมาจากบริษัทนี้
- ทีมกู้ภัยมูลนิธิเพชรเกษม ระบุว่า พบสัญญาณไฟคล้ายโทรศัพท์มือถือ ในพื้นที่โซน B ลึกลงไป 3 เมตร เครื่องสแกนอินฟราเรดตรวจพบการแสดงผลเป็นร่างกายมนุษย์ 2 คน

วันที่ 12 เม.ย.
- กทม.รายงานว่า พบผู้เสียชีวิตเป็น 35 คน และยังมีผู้สูญหาย 59 คน
- พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และโฆษกดีเอสไอ ระบุ คดีนอมินีบริษัทจีนสร้างตึก สตง.คืบหน้าเกือบร้อยละ 50 อยู่ระหว่างการตรวจสอบเส้นเงิน ส่วนคดีเลี่ยงภาษีเริ่มดำเนินการแล้ว
วันที่ 13 เม.ย.
- นายสมเกียรติ ชูแสงสุข วิศวกร เข้าแจ้งความกับตำรวจ สน.วังทองหลาง ว่า ถูกแอบอ้างชื่อเป็นวิศวกรควบคุมการก่อสร้าง ตึก สตง.
วันที่ 14 เม.ย.
- นายสมเกียรติ ชูแสงสุข วิศวกรที่ถูกแอบอ้างชื่อ ว่าเป็นวิศวกรควบคุมงานก่อสร้าง เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.วังทองหลาง เพื่อนำพยานหลักฐานและให้การเพิ่มเติม หลังเมื่อวันที่ 13 เม.ย. ได้เดินทางไปลงบันทึกประจำวัน กรณีปรากฏชื่อ เป็นวิศวกรควบคุมงาน ในนามบริษัท PKW ซึ่งเป็นคู่สัญญาของราชการ ในเอกสารแก้ไขแบบปล่องลิฟต์ อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่พังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว

- นายสมเกียรติยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างอาคาร สตง. และถูกแอบอ้างชื่อปลอมแปลงลายเซ็น เป็นเวลา 5 ปี
- ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ระบุว่า คาดว่า “ปล่องลิฟต์” เป็นต้นเหตุของตึกถล่ม เนื่องจากมีการแก้ไขความหนาของปล่องลิฟต์ ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของอาคาร
วันที่ 15 เม.ย.
- นางทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า คืนวันที่ 14 เม.ย.2568 เจ้าหน้าที่พบร่าง 3 คน รวมผู้เสียชีวิต 44 คน สูญหาย 50 คน
- กระทรวงมหาดไทย เพิ่มวงเงินจัดการศพ เป็นคนละ 100,000 บาท โดยเริ่มจ่ายวันที่ 18 เม.ย.
วันที่ 16 เม.ย.
- นางทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า สามารถลดยอดของซากตึกถล่ม ลงมาเหลือ 14 เมตร จากความสูง 16 เมตร
- นายฉลาด ขามช่วง ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ได้เชิญผู้ว่า สตง.มาชี้แจงและให้ข้อมูลในวันที่ 30 เม.ย.นี้
- พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม พร้อมเจ้าหน้าที่ดีเอสไอตรวจที่เกิดเหตุ ระบุว่า ทางคดีมีการตั้งข้อหากระทำการโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ส่วนคดีนอมินีเป็นคดีพิเศษแล้ว อยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวน

วันที่ 17 เม.ย.
- สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ แถลงส่งศพผู้เสียชีวิตให้ครอบครัวแล้ว 21 คน หลังตรวจยืนยันอัตลักษณ์บุคคลได้แล้ว 33 คน
วันที่ 18 เม.ย.
- นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. และนางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร เข้าหารือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามความคืบหน้าการกู้ซากอาคาร สตง. ถล่ม
- ดีเอสไอพร้อมสอบปากคำ 51 วิศวกร ที่มีชื่อเกี่ยวข้องงานก่อสร้างอาคาร สตง. จ่อเชิญบริษัท อิตาเลียนไทย และวิศวกร 85 ปี เข้าให้ข้อมูลสัปดาห์หน้า
- นายกฯ กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือ-ส่งข้อมูลพยานหลักฐานปมตึก สตง.ถล่ม ขณะที่หัวหน้าชุดสืบสวนตำรวจนครบาล ระบุอาจใช้เวลา 7 วัน เริ่มออกหมาย ย้ำใครทำผิดก็ดำเนินคดี ขอเวลาทำงานอย่างรัดกุม เพราะต้องขออำนาจศาล
อ่านข่าว : จนท.พบเพิ่ม 6 ร่าง เหตุอาคาร สตง.ถล่ม