ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มูลนิธิสัตว์ มองข้อบัญญัติคุมเลี้ยงสัตว์ ตัดโอกาส "หมา-แมวจร" ได้บ้านใหม่

สังคม
24 เม.ย. 68
13:13
143
Logo Thai PBS
มูลนิธิสัตว์ มองข้อบัญญัติคุมเลี้ยงสัตว์ ตัดโอกาส "หมา-แมวจร" ได้บ้านใหม่
อ่านให้ฟัง
04:27อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หลังกรุงเทพมหานคร ประกาศข้อบัญญัติควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ.2567 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 ม.ค.2569 โดยให้เหตุผลเพื่อมุ่งเน้นความปลอดภัยทั้งคนและสัตว์

กลายเป็นข้อสงสัยของเจ้าของสัตว์เลี้ยง และสร้างความกังวลใจให้กลุ่มคนรักสัตว์ รวมไปถึงมูลนิธิเกี่ยวกับสัตว์ ที่ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นว่าข้อบัญญัตินี้จะผลักให้จำนวนสุนัข-แมวจรเพิ่มขึ้นหรือไม่

วันนี้ (24 เม.ย.2568) นายพีระบุญ เจริญวัย ประธานมูลนิธิองค์กรสวัสดิภาพสัตว์ The Hope Thailand และคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ก่อนออกข้อบัญญัตินี้ ไม่ได้มีการพูดคุยกับผู้ที่ทำงานจริง ทั้งองค์กรสวัสดิภาพสัตว์ มูลนิธิที่เกี่ยวกับสัตว์ และกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัดฯ แต่เป็นการพูดคุยกันเฉพาะในสภากรุงเทพมหานคร ไม่ได้ดูข้อเท็จจริงของปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่เสียงคัดค้านจากกลุ่มคนรักสัตว์แน่นอน

ข้อบัญญัตินี้เขียนขึ้นมาลอย ๆ ไม่มีคนที่รู้ถึงรากของปัญหาเข้าไปดูด้วย ทั้งที่รายละเอียดมีทั้ง พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ที่ต้องคำนึงถึง

กระทบ "หมา-แมว" หาบ้าน

ประธานมูลนิธิองค์กรสวัสดิภาพสัตว์ The Hope Thailand กล่าวว่า กลุ่มคนที่หาบ้านให้สุนัขและแมว อาจได้รับผลกระทบกับข้อบัญญัตินี้ เพราะบางคนมีพื้นที่บ้าน 50 ตร.ม. แต่จัดการได้อย่างดี จะให้รับสุนัขรอหาบ้านเพียงครั้งละ 1 ตัวนั้นเป็นไปไม่ได้

ยกตัวอย่างบ้านคุณจันทร์ย่านรัชดา มีทาวน์ฮาวน์ 2 หลัง ช่วยแมวรอหาบ้าน 60-70 ตัว แต่เลี้ยงได้สะอาดและสัตว์ไม่ออกไปสร้างปัญหานอกบ้านพัก

ใน กทม.มีกลุ่มคนหาบ้านให้หมา-แมวนับพัน บ้านหลังหนึ่งรับดูแลระหว่างรอหาบ้านตั้งแต่ 1 ตัว ไปถึงหลัก 100 ตัว

นายพีระบุญ มองว่า ข้อบัญญัติที่จำกัดจำนวนสัตว์เลี้ยง เป็นการตัดโอกาสสุนัขและแมวให้ได้มีบ้านที่อบอุ่น และทำให้ปัญหาสัตว์จรจัดไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งปัจจุบันมีการบังใช้ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 25 ว่าด้วยเหตุเดือดร้อนรำคาญควบคุมดูแลอยู่แล้ว

ตั้งคำถามสถานที่รองรับสัตว์จร

ส่วนตัวมองว่า จำนวนสัตว์จรจัดใน กทม.มีเป็นล้านตัว สวนทางกับจำนวนสถานพักพิง ยกตัวอย่างศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร หรือประเวศ รองรับได้เพียง 1,000 ตัว ขณะที่ศูนย์พักพิงสุนัข จ.อุทัยธานี รองรับได้ไม่เกิน 5,000-8,000 ตัว จึงตั้งคำถามว่า ข้อบัญญัติที่จำกัดจำนวนสัตว์เลี้ยง จะผลักให้สัตว์ที่ควรจะได้บ้านใหม่ กลายเป็น "สัตว์ส่วนเกิน" และจรจัด อีกทั้งโครงการสุนัขชุมชนที่จะทำให้สัตว์มีสวัสดิภาพที่ดีขึ้นนั้นทำได้จริงหรือไม่

หมาแมวจรจัดจะเพิ่มขึ้น เพราะแต่ละบ้านจะรับไปดูแลได้น้อยลง จาก 5 ตัวเหลือ 1 ตัว

ประธานมูลนิธิองค์กรสวัสดิภาพสัตว์ The Hope Thailand กล่าวว่า การจัดระเบียบ ขึ้นทะเบียนและฝังไมโครชิพสัตว์เลี้ยงก็ทำต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาทำได้น้อยมาก เพราะประชาชนอาจไม่สะดวกในการนำสัตว์เลี้ยงไปรับบริการ เช่นเดียวกับจำนวนการทำหมันสัตว์เลี้ยงที่อาจยังไม่เพียงพอ จึงเสนอให้สภา กทม.จัดหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใน 1 เดือน ทั้งตัวแทนภาคประชาชน คนเลี้ยงสัตว์ มูลนิธิ สำนักอนามัย สำนักงานเขต และกรมปศุสัตว์ รวมทั้งทบทวนก่อนข้อบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้

อ่านข่าว : เลี้ยงสัตว์ใน กทม.ต้องรู้ ข้อบัญญัติใหม่ ควบคุมการเลี้ยง-ปล่อยสัตว์ 

เทรนด์เลี้ยงสัตว์ยังโต จาก เลี้ยงแบบสมาชิกในครอบครัว - สู่ช่วยสร้างรายได้ 

"สุนัขชุมชน" ทางออก "แก๊งมะหมา 4 ขาจรจัด" อยู่ร่วมสังคมไทย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง