ยังไม่ได้คิวเข้าพบ “โดนัล ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ หลังไทยถูกตั้งกำ แพงภาษีสูงถึง 36 เปอร์เซ็นต์ แม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลเตรียมส่ง “พิชัย ชุณหวิชิระ” รมว.คลังและ “พิชัย นริพทะพันธุ์” รมว.พาณิชย์ พร้อมทีมไปเจรจา แต่สุดท้ายถูกเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด และยังไร้สัญญาณจากพญาอินทรีว่าจะเปิดทางให้เมื่อใด

“โดนัล ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ
“โดนัล ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ
เหตุการณ์นี้ไม่เพียงสร้างความวิตกกังวลผู้ส่งออกไทยและอุตสาหกรรมไทยเท่านั้น เพราะสหรัฐฯถือเป็นตลาดใหญ่ของไทยที่ได้ดุลการค้าจากตลาดสหรัฐฯ ไตรมาส 1/68 มูลค่า 10,738 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ แต่พิษสงครามการค้าระหว่างประเทศอภิมหาอำนาจอย่าง “สหรัฐฯ-จีน”แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ย่อมส่งผลกระทบทั่วโลกอย่างรุนแรง รวมทั้งประเทศในกลุ่มอาเซียน อย่างเลี่ยงไม่พ้น

แม้รัฐบาล ภายใต้การนำของ “แพทองธาร ชินวัตร” จะออกมาปลอบภาค เอกชนว่า “ไม่ต้องกังวลใจ” แต่เอาเข้าจริง “ทักษิณ ชินวัตร” บิดานายกฯที่ออกตัวว่าจะ(ใช้ความสนิทสนมส่วนตัว) ไปพบ “ทรัมป์” เพื่อช่วยเจรจาแก้ปัญหานั้น ก็ถูกตั้งคำถามว่าทำได้จริงหรือไม่
เสนอ “รัฐ-เอกชน” เร่งวางกลยุทธ์สินค้าส่งออก
นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ระบุว่า มาตรการรับมือนโยบายภาษีทรัมป์ที่ในอนาคตมีการเรียกเก็บ Reciprocal Tariff ในอัตรา 10% ควรเจรจาแยกมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ผลิตภายใต้การลงทุนของสหรัฐ และเพิ่มการนำเข้าสินค้าอเมริกาทุนที่ไทยต้องการ

นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก
นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก
ขณะเดียวกันภาครัฐและเอกชนควรเร่งวางกลยุทธ์ รายกลุ่มสินค้า โดยคู่ค้า ต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพการค้าและการลงทุนที่ได้รับผลจากนโยบายดังกล่าว โดยเน้นการกระจายความเสี่ยงและสร้างโอกาสในกรอบความร่วมมือ ทั้ง อาเซียน–สหรัฐ อาเซียน-ยุโรป อาเซียน–จีน อาเซียน–ญี่ปุ่น อาเซียน–เกาหลี และอาเซียน–อินเดีย
"รัฐบาลต้องเร่งจัดตั้งคณะทำงาน รับมือรูปแบบการค้าใหม่ โดยให้นายกฯเป็นประธาน และให้กระทรวงการคลัง ,พาณิชย์, อุตสาหกรรม, ต่างประเทศ และภาคเอกชนเพื่อหาทางออกร่วมกันให้เร็วที่สุด" ประธานสภาผู้ส่งออกกล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สรท.ได้สำรวจความเห็นของผู้ส่งออกที่เป็นสมาชิกและหารือร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออก ในช่วงเดือนที่ผ่านมาพบว่า ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบต่างกัน ทั้งกลุ่มได้รับผลกระทบและยังไม่ได้รับผลกระทบ

กลุ่มทางบวก คือ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น และถูกเร่งรัดส่งมอบสินค้าเร็วขึ้น ส่วนกลุ่มทางลบ เช่น คำสั่งซื้อสินค้าลดลง ยกเลิกคำสั่งซื้อ และลูกค้าผลักภาระต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้ส่งออก
นายธนากร ย้ำว่า มาตรการเบื้องต้นในการรับมือ คือ ต้องเร่งเจรจากับลูกค้าเพื่อแบ่งความรับผิดชอบต่อภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น ทั้งการปรับลดราคาสินค้า กรณีลูกค้าเป็นผู้ชำระค่าภาษี และการขอขึ้นราคาสินค้ากรณีผู้ส่งออกไทยเป็นผู้ชำระภาษี การชะลอรับคำสั่งซื้อเพื่อดูสถานการณ์ เนื่องจากอัตรากำไรของสินค้าไม่เพียงพอต่อการจ่ายหรือการช่วยจ่ายภาษีให้กับลูกค้า และการหาตลาดอื่นทดแทน

สกัดสินค้าคุณภาพต่ำ-กั้นศูนย์เหรียญทะลักไทย
แม้ขณะนี้ผู้ส่งออกกว่า 88.9% ยังไม่มีแผนการลงทุนและแสดงความประสงค์ต้องการลงทุนในสหรัฐ เนื่องจากหวั่นว่าต้นทุนจะสูงขึ้นมาก ขณะเดียวกันภาคเอกชนอยากให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง คือ สินค้าจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก Reciprocal Tariff ที่มีแนวโน้มทะลักเข้ามาในไทยและเป็นคู่แข่งไทยในตลาดโลก

นายธนากร ระบุว่า สินค้าที่น่าเป็นห่วงจะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ของเล่น เครื่องเล่นเกมส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องเสียงและเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ภาชนะบนโต๊ะอาหาร ผลิตภัณฑ์พลาสติก เฟอร์ นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน รถโดยสาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า ซึ่งที่ผ่านมาจีนได้ส่งออกไปสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูงมาก จึงจำเป็นต้องหาตลาดอื่นทดแทน
เราต้องเร่งหามาตรการป้องกันการนำเข้าและการเข้ามาลงทุนผลิตในไทย และมีมาตรการต้านการนำเข้าสินค้าด้อยคุณภาพ เช่น สินค้าและโรงงานต้องได้มอก, สินค้าต้องระบุพิกัดให้ชัดเจนเพื่อให้ศุลกากรไทยสามารถตรวจสอบได้ ส่วนผู้ส่งออกที่ขายผ่าน E-Commerce Platform ต้องระบุ ID Number ให้ชัดเจน และสินค้าที่จะส่งออกมาไทย ต้องแจ้งข้อมูลล่วงหน้า 24 ชั่วโมงก่อนเรือออกจากท่าเรือต้นทาง

ทั้งนี้เพื่อให้ทราบข้อมูลสินค้านำเข้าล่วงหน้า และสามารถตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงตรวจสอบสินค้าผ่าน Free zone 100% ป้องกันการสวมสิทธิ์ส่งออก และสกัดสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่กำหนดโดยประเทศปลายทาง ไม่ให้นำสินค้าด้อยคุณภาพเข้ามา
ประธานสรท. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ รัฐต้องเร่งออกมาตรการต้านการลงทุนศูนย์เหรียญ ไม่ให้มีการเข้ามาลงทุนแบบผิดกฎหมาย ทบทวนสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำหรับนักลงทุนใหม่ ให้เป็นธรรมในการแข่งขันกับผู้ผลิตในประเทศ แล ให้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศไม่น้อยกว่า 40% เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในประเทศ มากกว่าเม็ดเงินลงุทนและมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

ต้องกำหนดเงื่อนไขใหม่ ให้คนไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคการผลิตในประเทศ ทุกกรณีที่มีการร่วมลงทุนกับต่างชาติ โดยมีสัดส่วนการจ้างแรงงานไทยไม่น้อยกว่า 50% เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานภายในประเทศด้วย
ถอดรหัสภาษีทรัมป์ “พาณิชย์”มองการค้ายุคใหม่
ท่ามกลางภาวะความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่เดือนมี.ค.2568 กลับพบว่าไทยมีมูลค่าส่งออกทะลุ 29,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงการส่งออกที่ยังดำเนินต่อไปได้

“พิชัย นริพทะพันธุ์” รมว.พาณิชย์
“พิชัย นริพทะพันธุ์” รมว.พาณิชย์
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวตอนหนึ่งในเวทีสัมมนา ถอดรหัสนโยบายภาษีทรัมป์: โอกาสของการค้ายุคใหม่”อย่างน่าสนใจว่า ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และนโยบายกำแพงภาษีของ “ทรัมป์” อาจกลายเป็นโอกาสสำคัญของไทยในการขยายตลาดส่งออก หากไทยสามารถผลิตสินค้าเป้าหมายเข้าไปทดแทนสิ่งที่สหรัฐฯต้องการ
“การเร่งเจรจา FTA กับหลายประเทศ สกัดสินค้าด้อยคุณภาพและป้องกันการสวมสิทธิ์นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ….ในภาวะวิกฤต อาจทำให้ไทยมีโอกาส จึงต้องวิเคราะห์เชิงลึกว่า สามารถใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ภาษีที่สหรัฐฯ เรียกเก็บอย่างเข้มข้นได้อย่างไร โดยเฉพาะสินค้าไทยที่มีศักยภาพ เช่น ถุงมือยาง ยางรถยนต์ และอาหารสัตว์ ปัจจุบันไทยครองส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ประมาณ 20 % ขณะที่จีนซึ่งเผชิญภาษีสูง อาจสูญเสียตลาดส่วนนี้ ทำให้เราอาจแทรกตัวเข้าไปเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้” รมว.พาณิชย์ กล่าว
ผงะพบ“นอมินี” ทุนจดทะเบียนรวมกว่า 15,000 ล้านบาท
มีรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ดำเนินคดีอาญากับสินค้าด้อยคุณภาพแล้วกว่า 29,000 คดี และพบบริษัทต้องสงสัยว่าเป็นนอมินี (Nominee) จำนวน 852 บริษัท มูลค่าทุนจดทะเบียนรวมกว่า 15,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการแอบอ้างสิทธิ์การค้าไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 กล่าวว่า แม้ตัวเลขการจดทะเบียนในไตรมาสแรกของปี 2568 จะลดลง จากปัจจัยทางจิตวิทยาที่นักลงทุนรอดูสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างประเทศ และนโยบายภาษีต่างตอบแทนของสหรัฐอเมริกา (Reciprocal Tariffs)
แต่พบว่าการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทย ภายใต้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ช่วงไตรมาสแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว มีจำนวน 272 ราย เงินลงทุนรวม 47,033 ล้านบาท
โดยต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก เบอร์ 1ยังคงเป็นญี่ปุ่น ที่ขนเงินลงทุน 15,915 ล้านบาท เช่น ธุรกิจจัดหาจัดซื้อ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่นอุตสาหกรรมทางการแพทย์

รองลงมา สหรัฐฯ เงินลงทุน 1,490 ล้านบาท ประเภท เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ซอฟต์แวร์สำเร็จรูป อุปกรณ์โทรคมนาคม เครื่องสำอาง และจีน เงินลงทุน 6,083 ล้านบาท สิงคโปร์ เงินลงทุน 4,950 ล้านบาทและ ฮ่องกง เงินลงทุน 3,655 ล้านบาท
นางอรมน กล่าวว่า หากเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2567 พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทย เพิ่มขึ้น 94 ราย หรือ 53% มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 11,131 ล้านบาท จากการจ้างงานคนไทยของนักลงทุนได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเพิ่มขึ้น 760 ราย และนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังเป็นญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน
EEC ทุนหลัก 4 ประเทศ “ญึ่ปุ่น -จีน -สิงคโปร์- สหรัฐฯ”
สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC 88 ราย 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกปี 2567 โดยมีมูลค่าการลงทุน 24,234 ล้านบาท หรือ 52% ของเงินลงทุนทั้งหมด
และญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ และสหรัฐฯ คือ นักลงทุนรายใหญ่ที่เข้ามาในพื้นที่EEC อย่างต่อเนื่อง ทั้ง ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ,เคลือบผิวผลิตภัณฑ์โลหะ ,รับจ้างผลิตสินค้า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะและชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป ที่นั่งนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็กเล็ก ,สัตว์เลี้ยง และแก้วเก็บความร้อน โดยเดือนมี.ค.มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในไทย จำนวน 91 ราย เงินลงทุนรวม 11,756 ล้านบาท มีการจ้างงานคนไทย 261 คน

เปิด 3 กลุ่มสินค้า สงครามการค้าฉุดเกษตรไทย
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ยุคทรัมป์ 2.0 ที่มีนโยบายเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นจากสินค้านำเข้า และการยกเว้นภาษีขั้นต่ำ (De Minimis) ต่อสินค้าจีน และจีนตอบโต้กลับโดยปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม
ข้อมูล Trademap.org เผยว่าแบ่งสินค้าเกษตรออกเป็น 3 กลุ่ม ที่ได้รับผลกระทบ คือ สินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ อยู่อันดับต้น ๆ จึงอาจได้รับส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าเพื่อทดแทนสินค้าจีน เช่น อาหารสุนัขและแมว ข้าว ปลาแมคเคอเรลปรุงแต่ง เนื้อปลาลิ้นหมาแบบฟิลเล หน่อไม้ปรุงแต่ง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)
ส่วน สินค้าที่ไทยมีโอกาส เป็นกลุ่มสินค้าที่จีนครองส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ อันดับต้น ๆ ขณะที่ไทยยังมีส่วนแบ่งตลาดไม่มากนัก ซึ่งหากได้รับการผลักดันและเสริมสร้างศักยภาพทางการผลิตและการตลาดเพิ่มขึ้น อาจทำให้ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เช่น สินค้ากลุ่มพาสต้าอื่น ๆ เช่น เส้นหมี่ วุ้นเส้น ปลาหมึกแช่แข็ง ซอสถั่วเหลือง
ไทยเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) ในอัตราสูงถึง 36% แม้ถูกระงับไว้เป็นเวลา 90 วัน (ตั้งแต่ 9 เม.ย. 2568) ก็ต้องเฝ้าระวังการสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดอื่นด้วย เมื่อจีนถูกตั้งกำแพงภาษีและไม่สามารถส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ จึงอาจระบายสินค้าไปตลาดอื่นเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันกับสินค้าจีนในตลาดนั้น ๆ สูงขึ้น

และสุดท้าย สินค้าที่ต้องเฝ้าระวังการเบี่ยงเบนทางการค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่จีนมีศักยภาพและไทยก็ปลูกได้เอง แต่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศและบางครั้งจำเป็นต้องนำเข้า เช่น กระเทียมสด แช่เย็น พริกแห้ง หรือ พริกไทยเทศแห้งทั้งเม็ด หอมหัวใหญ่แห้งหรือผง
ไตรมาสแรก ส่งออกสหรัฐฯ ขยายตัว 34.3%
สำหรับสถานการณ์ส่งออกไทยไปยังตลาดสหรัฐไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่าส่วนใหญ่ขยายตัว จากการเร่งนำเข้าของประเทศต่าง ๆ เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ โดยเฉพาะจีน เร่งนำเข้าสินค้าวัตถุดิบหรือสินค้า
ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่อง 34.3 % สินค้าสำคัญ เช่น เครื่องคอม พิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วน ประกอบ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป

ทั้งนี้ 3 เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 25.4 ตลาดจีน ขยายตัวร้อยละ 22.2 (ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอม พิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และยางพารา สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์
แสดงให้เห็นว่า ทั้งผู้ส่งออก-ผู้นำเข้ากำลังหนีตายภาษีทรัมป์ โดยการเร่งนำเข้าสินค้าและบางส่วนอาจจะมีการชะลอการสั่งซื้อเนื่องจากกังวลถึงความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า และมาตรการที่จะออกมา
ในส่วนของไทย ภาคเอกชน ต่างคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีความชัดเจนมากกว่านี้ เนื่องจากตลาดสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย อีกทั้ง “การส่งออกไทย” ยังถือว่าเป็นเครื่องยนต์ หลักที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจเดินหน้า
คงต้องจับตาดูว่า ความมั่นใจของกระทรวงพาณิชย์ว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวมากกว่าเป้า 2-3 % จะทำได้ตามท่าประกาศไว้หรือไม่?
อ่านข่าว:
“สงครามการค้า” ฉุดเศรษฐกิจโลก ดัน ดัชนีเชื่อมั่นฯทองคำ ไตรมาส 2 พุ่ง 18.99%
"สงครามการค้า" ทรัมป์ ขยี้ตลาดเงิน-ทองคำ-หุ้น สะเทือนลงทุนโลก
ไทยสะเทือน “ทรัมป์”ขึ้นภาษี ทุบเศรษฐกิจพัง 3.59 แสนล้าน GDP เหลือ 1.93%
แท็กที่เกี่ยวข้อง: