ความจริงจากบังกลาเทศ ตอนที่ 2 : ท่าเรือ
"คาตาบอเนีย" ชื่อที่ชาวบังกลาเทศใช้เรียกบริเวณที่เป็นท่าเรือขนาดย่อม ในช่วงที่น้ำขึ้นชาวบ้านจะใช้เรือเป็นพาหนะเดินทางไปที่เมืองชาปูราดิพ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้สุดของประเทศบังกลาเทศ หรือใช้เป็นเส้นทางออกไปยังแม่น้ำนาฟ เพื่อออกสู่ทะเล
นายหน้าใช้พื้นที่คาตาบอเนีย เป็นจุดเริ่มต้นในการนำพาผู้อพยพไปขึ้นเรือใหญ่ ซึ่งลอยลำอยู่บริเวณชายแดนบังกลาเทศกับเมียนมา บริเวณเกาะเซนต์มาร์ติน ทีมข่าวไทยพีบีเอสได้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่นี้จากชาวโรฮิงญาคนหนึ่งที่เคยถูกนายหน้าหลอกไปขึ้นเรือ
นายเซเยด อาลาม ชาวโรฮิงญา วัย 24 ปี เล่าผ่านล่ามว่า นายหน้าชาวบังกลาเทศอายุประมาณ 40 ปี เข้ามาในหมู่บ้านและชักชวนคนไปทำงานรับจ้างที่ชัมลาปู ซึ่งเป็นหมู่บ้านริมทะเล โดยรับปากว่าจะมีค่าตอบแทนให้ แต่กลับกลายเป็นการหลอกไปขึ้นเรือเพื่อไปประเทศมาเลเซีย แต่นายเซเยดปฏิเสธนายหน้า เนื่องจากเขารู้ว่ามีโอกาสจะถูกทำร้ายร่างกาย เพราะเคยมีญาติที่นายหน้านำพามาประเทศไทย โทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือจากแม่ของเขา
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายเซเยด สอดคล้องกับข้อมูลจากนายสุไนลี นักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ชาปูราดิพ และเป็นประธานพรรคอวามิลีค เขตชาปูราดิพ กล่าวว่า ธุรกิจนำพาคนออกนอกประเทศทางเรือมีมานานกว่า 7 ปี โดย 5 ปีแรก นายหน้าเรียกเงินจากผู้อพยพคนละ 20,000 ธากา หรือ 8,700 บาท แต่ 2 ปีหลัง ซึ่งธุรกิจเติบโตขึ้นมาก นายหน้ากลับไม่เรียกเก็บค่าหัวจากผู้อพยพ แต่กลับพบข่าวคราวว่ามีการเรียกเงินจากนายหน้าที่ประเทศไทย หลังจากผู้อพยพเดินทางไปที่นั่นแล้ว