ลดความเสี่ยง....เกษตรกรคนเลี้ยงไก่ไข่กับ 5 แนวทาง
ก่อนปี 2547 ที่อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ไข่ของไทยประสบปัญหาขาดแคลนไก่ไข่พันธุ์ จึงต้องพึ่งการนำเข้าเกือบ 100% แบบไม่มีการควบคุมปริมาณการนำเข้าแม่พันธุ์ไก่ไข่แต่อย่างใด ขณะที่อัตราการบริโภคไข่ไก่ของคนไทยต่ำมากอยู่ที่ 130 ฟอง/คน/ปี เนื่องจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า ไข่ไก่ก่อให้เกิดปัญหาเส้นเลือดหัวใจตีบและการอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง ทั้งๆ ที่ไข่ไก่ถือเป็นแหล่งโปรตีนที่มีราคาถูก
ในที่สุด ก็เกิดปัญหาความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานไข่ไก่ นำไปสู่ภาวะไข่ล้นตลาด ผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้องประสบกับการขาดทุน
พอเข้ามาช่วงปี 2547-2548 อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ไข่และไข่ไก่ก็ประสบปัญหาใหญ่จากโรคระบาดไข้หวัดนก (Bird Flu : H5N1) สร้างความเสียหายอย่างมากในประวัติศาสตร์ไทยที่เคยมีมา แม่ไก่ไข่ประมาณ 40 ล้านตัว ช่วงต้นปี 2547 ลดเหลือประมาณ 24 ล้านตัวในช่วงกลางปี 2547 เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายกลางและรายเล็กถึงกลับหมดตัวต้องออกจากวงการการเลี้ยงไก่ไข่ เกษตรกรที่ยังอยู่ก็ต้องลงทุนปรับเปลี่ยนระบบการเลี้ยงไก่ไข่เข้าสู่ระบบโรงเรือนปิด สร้างระบบการป้องกันโรคระบาดไข้หวัดนก เหล่านี้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไข่ไก่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคชะลอการบริโภคไข่ไก่ ด้วยหวาดกลัวการติดโรคไข้หวัดนก ส่งผลให้ราคาไข่ไก่ตกต่ำลง
ต่อมาในปี 2549-2551 แม้จะมีการกำหนดปริมาณนำเข้าไก่ไข่พันธุ์ในปี 2549 ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ของไทยก็ยังประสบปัญหาขาดทุนติดต่อกันในสามปีนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่มีการควบคุมปริมาณนำเข้าไก่ไข่พันธุ์ ทำให้ไข่ไก่ล้นตลาด ด้านราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาแพงก็ไม่ได้มีทีท่าจะลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา กระทบให้ต้นทุนการผลิตไข่ไก่เพิ่มขึ้นอีก
ความเสี่ยงของผู้เลี้ยงไก่ไข่ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยใน ปี 2552-2553 เกิดการระบาดของโรคหลอดลมอักเสบ ส่งผลให้ผลผลิตไข่ไก่ลดลง ขณะที่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง ในปี 2554 ผู้เลี้ยงไก่ไข่ยังคงต้องเสี่ยงกับการระบาดของโรคนิวคาสเซิลที่รุนแรงมากขึ้นจากปี 2553 ส่งผลให้ผลผลิตไข่ไก่จากประมาณ 26-27 ล้านฟอง/วัน ลดลงเหลือ 24-25 ล้านฟอง/วัน ต้นทุนการผลิตไข่ไก่เพิ่มขึ้นจากผลผลิตไข่ไก่ลดลง และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการฟาร์มที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ส่วนราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
แต่ในปีนี้ ที่แย่กว่าทุกปี ก็คือ เป็นปีที่รัฐบาลเริ่มเข้ามาควบคุมราคาไข่ไก่และจัดไข่ไก่เข้าเป็นสินค้าควบคุม โดยไม่ปล่อยให้ราคาไข่ไก่เป็นไปตามกลไกตลาด แต่การปรับขึ้นราคาไข่ไก่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์กันว่าผลผลิตไข่ไก่จะล้นตลาดในไตรมาสที่ 3-4 ของปี 2554 ซึ่งเป็นผลจากการเปิดเสรีนำเข้าไก่ไข่พันธุ์ตั้งแต่กลางปี 2553 และปัญหาเรื่องโรคระบาดสัตว์ดังกล่าวทุเลาลง จึงพอสรุป ความเสี่ยงของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ณ วันนี้ได้ดังนี้
1. ราคาและรายได้ของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่จะเกิดความผันผวนและความรุนแรงมากกว่าในอดีต เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่มีโอกาสขาดทุนมากขึ้นจากไข่ไก่ล้นตลาด เนื่องจากการเปิดเสรีนำเข้าไก่ไข่พันธุ์
2. ต้นทุนการผลิตไข่ไก่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติทั้งที่เป็นเอลนีโญและลานีญา ศัตรูและโรคพืช จะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนวัตถุดิบอาหารสัตว์บางตัวถูกนำไปใช้ผลิตพลังงานทดแทน ฉะนั้น วัตถุดิบอาหารสัตว์จะขาดแคลนและมีราคาสูง โอกาสที่ต้นทุนการผลิตไข่ไก่จะกลับมาต่ำๆ อย่างในอดีตคงเป็นไปได้ยาก
3. โรคระบาดสัตว์ที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้นใหม่ จะสร้างความเสียหายต่อการเลี้ยงไก่ไข่ ทำให้ผลผลิตไข่ไก่ลดลงและต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แย่กว่านั้น โรคระบาดสัตว์เหล่านี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะสามารถอยู่ได้เป็นปีๆ
4. เกษตรผู้เลี้ยงไก่ไข่จะมีโอกาสขาดทุนมากกว่ากำไร และเวลากำไรจะได้ไม่มาก เพราะรัฐบาลจะเข้ามาควบคุมราคาไข่ไก่ แต่เวลาขาดทุนจะขาดทุนมาก เพราะรัฐบาลไม่มีการควบคุมราคาขั้นต่ำ และ/หรือช่วยเหลือเวลาราคาไข่ไก่ตกลง
เมื่อมองเห็นความเสี่ยงแล้ว ก็ควรบริหารความเสี่ยงเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ของไทย ด้วยแนวทางต่างๆ ดังนี้
1. ผู้นำเข้าไก่ไข่พันธุ์จะต้องร่วมกันติดตาม ประเมินและคาดการณ์ผลผลิตไข่ไก่อย่างใกล้ชิด เพื่อการปรับตัวเลขนำเข้าไก่ไข่พันธุ์ให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภคไข่ไก่ในแต่ละช่วงเวลา
2. เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ควรจะต้องเลือกใช้พันธุ์สัตว์ที่ดี สูตรอาหารสัตว์ที่ดี การบริหารจัดการที่ดี และการลดความสูญเสียในขบวนการเลี้ยง เพื่อช่วยให้ต้นทุนการผลิตไข่ไก่มีโอกาสลดลง และ/หรือไม่สูงกว่าที่ควรจะเป็น
3. กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่จะต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการบริหารจัดการสุขภาพสัตว์โดยมุ่งเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา อาทิเช่น การให้ความสำคัญกับนโยบายสุขภาพสัตว์มากกว่านโยบายโรคสัตว์ การให้ความสำคัญกับการรับรองขบวนการเลี้ยงสัตว์มากกว่าการฟื้นฟูสุขอนามัยสัตว์ การให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์กับสัตว์ สัตว์กับคน และสัตว์กับสิ่งแวดล้อมมากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์กับสัตว์ และสัตว์กับคน ตลอดจนการกระจายอำนาจการควบคุมตามนโยบายสุขภาพสัตว์แทนการควบคุมอยู่ที่ส่วนกลาง
4. รัฐบาลจะต้องพยายามเข้าใจและเห็นใจเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ แทนการให้ความสำคัญต่อผู้บริโภคด้านเดียว เนื่องจากต้นทุนการผลิตไข่ไก่จะสูงขึ้นอย่างแน่นอนนับจากนี้ เป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นและความเสียหายที่เกิดจากโรคระบาด ในขณะที่ราคาไข่ไก่จะมีโอกาสตกต่ำจากไข่ไก่ล้นตลาด เป็นผลของการเปิดเสรีนำเข้าไก่ไข่พันธุ์ การควบคุมราคาไข่ไก่โดยจัดเป็นสินค้าควบคุมเป็นเรื่องที่ต้องมีการพิจารณาอย่างยุติธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งระบบ รัฐบาลต้องไม่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างเดียว แต่จะต้องดูที่ต้นเหตุของแต่ละปัญหา การบริหารจัดการแบบองค์รวมจะส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ไข่และไข่ไก่ของไทยให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน
5. กระทรวงศึกษาและกระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งศึกษาโครงการส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่ในโรงเรียน เพื่อให้เด็กไทยได้รับแหล่งอาหารโปรตีนที่มีคุณค่าและราคาถูก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทางร่างกายและสมอง รวมทั้งจะส่งผลให้อัตราการบริโภคไข่ไก่ในคนไทยเพิ่มขึ้น