ยันรัฐต้องปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ
เครือข่ายองค์กรแรงงานยืนยันรัฐบาลจะต้องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ และจะต้องชี้แจงเหตุผลให้ได้ หากจะใช้วิธีปรับขึ้นแบบขั้นบันไดภายใน 2 ปี
สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ร่วมกับสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วยสมาชิก 120 องค์กร ประมาณ 100,000 คน แถลงจุดยืนที่ได้จากการสัมมนาเรื่องงานที่มีคุณค่าในการให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และยกเลิกการจ้างงานแบบเหมาค่าแรงและการจ้างงานที่ไม่มั่นคงทุกประเภท รวมทั้งต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้สูงเกินจริง
นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ฯ ยังให้ความเห็นถึงข้อเสนอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง โดยยืนยันว่า จะต้องปรับขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ แต่หากรัฐบาลจะปรับขึ้นร้อยละ 40 จากอัตราค่าจ้างปัจจุบันในวันที่ 1 ม.ค.55 รัฐบาลจะต้องอธิบายให้ได้ว่าทำไมต้องปรับค่าจ้างหลายครั้ง เพราะค่าครองชีพที่เครือข่ายแรงงานสำรวจมาสูงกว่าค่าจ้างในปัจจุบัน และหากมีการปรับแบบขั้นบันได ก็จะทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายไปทำงานในจังหวัดที่มีค่าแรงสูง
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการค่าจ้างกลางมีข้อเสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเป็น 2 แนวทาง โดยความเห็นของฝ่ายรัฐและฝ่ายลูกจ้างเสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทภายใน 2 ปี แบ่งเป็นปีแรกวันที่ 1 ม.ค.55 ปรับขึ้นร้อยละ 40 ทุกจังหวัด และปีที่ 2 วันที่ 1 ม.ค.56 ปรับเป็น 300 เท่ากันทั่วประเทศ ขณะที่แนวทางที่ 2 ซึ่งเป็นข้อเสนอของฝ่ายนายจ้างเสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทแบบขั้นบันไดภายใน 4ปี