ชาวนาบางไทรขอยืดเวลา-น้ำยังไปไม่ถึงท้ายน้ำ น้ำยมพิจิตรเริ่มมีน้ำหลังฝนตกหลายวัน
ชาวนาใน อ.บางไทร (ฝั่งตะวันตก) จ.พระนครศรีอยุธยา ขอยืดระยะเวลาปล่อยน้ำเข้านาเพิ่ม เพราะน้ำยังไปไม่ถึงท้ายน้ำ ชาวนาในบางพื้นที่ของภาคกลางต้องหันมาหารายได้อื่นจุนเจือครอบครัว และชำระหนี้สิน หลังนาข้าวเสียหายจากภัยแล้ง ขณะที่แม่น้ำยมที่เคยแห้งขอด มีปริมาณน้ำมากขึ้น หลังฝนตกในภาคเหนือ
วันนี้ (25 ก.ค.2558) ประตูระบายน้ำคลองช่างเหล็กที่อยู่ในเขต ต.ช่างเหล็ก อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงเพราะเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนในช่วงเที่ยงวัน ทำใช้ชาวนาตั้งเครื่องสูบน้ำตลอดแนวริมคลองในขณะที่นาข้าวตั้งท้องหลายพื้นที่ที่ได้รับน้ำวันนี้เริ่มสดชื่นฟื้นตัวจากลำต้นเหลือง แต่สำหรับนาข้าวท้ายน้ำที่น้ำยังส่งมาไม่ถึงยังคงแห้งเหลืองอีกหลายแห่ง
ชาวนาใน ต.ช่างเหล็ก แกะต้นข้าวที่กำลังตั้งท้องให้เห็นว่าขณะนี้น้ำที่สูบเข้านามีผลต่อการเจริญเติบโตของเมล็ดข้าวมาก หากภายใน 2-3 วันนี้ยังไม่ได้รับน้ำจะทำให้เมล็ดข้าวฝ่อและตาย สำหรับน้ำที่เหลือจากนาข้าวชาวนาจะทอยน้ำออกจากแปลง เพื่อส่งเข้าคลองเพื่อส่งน้ำต่อไปยังนาข้าวท้ายน้ำ แต่หลังจากเมื่อวานนี้ ชาวนาใน อ.บางไทร (ฝั่งตะวันตก) หลายตำบลกว่า 100 คนไปเจรจากลับชลประทานในพื้น ต.ไม้ตา อ.บางไทร มีข้อตกลงหลังหารือร่วมกันว่าจะมีการเปิดน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร 5 วัน
ทีมข่าวไทยพีบีเอสไปสำรวจระดับน้ำในคลองสง่างาม และคลองไผ่พระ ต.กกแก้วบูรพา อ.บางไทร ที่ต้องรับน้ำต่อจาก ต.ช่างเหล็ก พบว่าเมื่อไปดูน้ำบริเวณต้นคลองที่รับน้ำมาจากแม่น้ำ ระยะทางยาวกว่า 15 กิโลเมตร เช้านี้มีน้ำไหลเข้าสู่คลอง หลังจากที่ชาวนารวมตัวกันขอให้ชลประทานเปิดประตูระบายน้ำ แต่ห่างจากต้นคลองมาไม่ถึง 1 กิโลเมตร น้ำกลับยังมาไม่ถึง ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่อยู่ไกลจากแม่น้ำน้อยถึง 15 กิโลเมตร และระยะเวลาเพียง 5 วัน ที่ชาวนาจะมีโอกาสสูบน้ำ จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่น้ำจะมาถึงนาข้าวที่อยู่ท้ายคลอง พวกเขาจึงขอเพิ่มระยะเวลาในการสูบน้ำให้นานขึ้น
ในพื้นที่ ต.กกแก้วบูรพา มีข้าวนาปีที่กำลังตั้งท้องออกรวงกว่า 5,000 ไร่ สาเหตุที่ชาวนาต้องทำนาพร้อมกันหมด เพราะในช่วงเดือน ต.ค. พื้นที่นาก็ต้องเตรียมรับน้ำหลาก ชาวนาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลปันส่วนน้ำให้กับเกษตรกร ให้เท่าเทียมกับน้ำภาคอุตสาหกรรม และน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
ในพื้นที่ อ.บางไทร มีข้าวที่กำลังตั้งท้องออกรวงกว่า 100,000 ไร่ ที่กำลังได้รับผลกระทบ ชาวนาจึงเรียกร้องให้กรมชลประทานเปิดประตูระบายน้ำมากขึ้นในช่วงที่ยังพอมีน้ำฝนไหลมาเติมในแม่น้ำน้อย เพราะจะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้
ขณะเดียวกัน วันนี้ (25 ก.ค.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำและภัยแล้งในหลายจังหวัดทั่วประเทศว่า แม่น้ำยมช่วงที่ไหลผ่าน จ.พิจิตร ที่แห้งขอดเป็นช่วงๆ มานานกว่า 8 เดือน เริ่มกลับมามีน้ำมากขึ้น หลังฝนตกเพิ่มปริมาณน้ำในคลองสาขา และแม่น้ำยม แต่เนื่องจากแม่น้ำยมไม่มีฝายบังคับน้ำขนาดใหญ่ ทำให้น้ำไหลลงพื้นที่ตอนล่างอย่างรวดเร็ว หากฝนหยุดตก แม่น้ำยมอาจจะกลับมาแห้งขอดอีกครั้ง
ส่วนที่ จ.นครสวรรค์ แม้กรมชลประทานจะปล่อยน้ำจากแม่น้ำปิง ลงคลองกระถิน แต่ชาวนาในพื้นที่ต้นน้ำ เร่งสูบน้ำเข้านา ทำให้น้ำไหลไปไม่ถึงพื้นที่ปลายน้ำใน ต.บางเคียน อ.ชุมแสง ชาวนาบางส่วน ต้องสูบน้ำก้นคลอง และน้ำจากบ่อบาดาล ไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่กำลังออกรวง เช่นเดียวกับพื้นที่ ต.ทรงธรรม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ที่เร่งขุดเจาะบ่อบาดาล และบ่อน้ำตื้น เพื่อหาน้ำดิบไปผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน ช่วยเหลือชาวบ้านกว่า 2,000 ครัวเรือน ที่กำลังขาดน้ำอุปโภคบริโภค
ขณะที่ชาวนาใน ต.ไผ่วง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง หลายครอบครัวหันมาทำดอกไม้ประดิษฐ์ เพื่อหารายได้ใช้จ่ายภายในครอบครัว เพราะไม่มีน้ำทำนา หลายคน กล่าวว่า แม้การทำดอกไม้ประดิษฐ์ จะมีรายได้ไม่มาก และยังไม่มีตลาดรองรับ แต่ต้องดิ้นรน เพราะมีภาระหนี้สิน
ส่วนที่เขื่อนแก่งกระจาน แม้ปริมาณน้ำเหลือเพียงร้อยละ 40 แต่ไม่กระทบการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวยังสามารถเที่ยวชมเขื่อน และทำกิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำ ทั้งบริเวณเหนือเขื่อน และท้ายเขื่อนในแม่น้ำเพชรบุรีได้ ประธานชมรมธุรกิจท่องเที่ยวแก่งกระจาน-ลุ่มน้ำเพชรบุรี กล่าวว่า ทางชลประทานบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างดี ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบ
ส่วนที่ จ.มหาสารคาม ตั้งศูนย์บริการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคพระราชทาน 4 แห่ง ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ใน อ.วาปีปทุม และศูนย์การศึกษาพิเศษ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคกว่า 20,000 ครอบครัว
ส่วนน้ำในเขื่อนลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ เหลือน้ำกักเก็บ 54 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 45 ของความจุอ่าง ขณะนี้เริ่มปล่อยน้ำให้ภาคการเกษตร ช่วยเหลือชาวนาพื้นที่กว่า 40,000 ไร่ ที่หว่านข้าว รอน้ำมาก่อนหน้านี้