น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศยังไม่คลี่คลาย

ภูมิภาค
19 ต.ค. 54
00:43
13
Logo Thai PBS
น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศยังไม่คลี่คลาย

นอกเหนือจากจุดที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำที่จะไหลเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานครแล้ว ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังต้องเผชิญกับน้ำท่วมหนัก โดยที่จังหวัดอ่างทองชาวบ้านบางพื้นที่เริ่มขาดแคลนอาหาร ขณะที่ถนนสายหลักเส้นทางสู่กรุงเทพฯเริ่มเสียหาย

  

<"">
  
<"">

สภาพถนนโพธิ์พระยา-ท่าเรือ บริเวณแยกไฟแดงเรือนจำจนถึงแยกป่างิ้ว จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครถูกน้ำท่วมสูงเกือบ 50 เชนติเมตร โดยความแรงของน้ำได้กัดเซาะจนไหล่ทางพังไปหลายจุดซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อาจทำให้ถนนสายหลักเสียหายได้

จังหวัดอ่างทองมี 5 อำเภอ ที่ถูกน้ำท่วมหนัก คือ อำเภอไชโย อำเภอโพธิ์ทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ อำเภอป่าโมก และอำเภอเมือง โดยบางจุดน้ำสูงกว่า 3 เมตร มานานกว่า 3 เดือนแล้ว ซึ่งจุดวิกฤติยังคงอยู่ที่ตำบลศาลาแดง อำเภอเมือง น้ำท่วมสูงจนบางคนต้องอาศัยบนหลังคา  และ ขณะนี้อาหารเริ่มขาดแคลน ชาวบ้านต้องฝ่ากระแสน้ำมารอรับบริจาค

ขณะที่จังหวัดนครสวรรค์ทั้งในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ และ ถนนพหลโยธิน ตั้งแตกแยกเดชาติวงศ์ ถึงแยกเวียงดอย ในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ ระดับน้ำลดลง และ เปิดเส้นทางจราจรบางจุดได้แล้ว หลังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงต่อเนื่องเฉลี่ยวันละ 2- 3 เซนติเมตร

 
ในภาคเหนือตอนล่างขณะนี้ยังมีน้ำท่วมใน 2 จังหวัด คือ จังหวัดพิษณุโลก โดยเฉพาะที่อำเภอบางระกำ ระดับน้ำลดลงเล็กน้อย ส่วนที่จังหวัดสุโขทัยเหลือเพียงพื้นที่อำเภอกงไกรลาศที่ยังถูกน้ำท่วมเนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำ
 
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังมีหลายพื้นถูกน้ำท่วม เช่น ที่บ้านโนนทราย ตำบลดอนแรด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ โรงเรียนหลายแห่ง และ พื้นที่การเกษตรเสียหายแล้วกว่า 30,000 ไร่โดยพื้นที่นี้เป็นหนึ่งในจุดรับน้ำจากแม่น้ำมูล
 
ระดับน้ำในแม่น้ำมูลที่เพิ่มสูงขึ้นช่วงนี้ นอกจากจะเป็นเพราะฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการระบายน้ำของเขื่อน ทั้ง 4 แห่งในจังหวัดนครราชสีมา คือ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำมูลบน และเขื่อนลำแชะ ซึ่งขณะนี้ ปริมาณน้ำเกินระดับกักเก็บ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำมูล เฉลี่ยวันละ 5 ล้าน 6 แสนลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อยู่ท้ายเขื่อน ในอำเภอโชคชัยเฉลิมพระเกียรติ โนนสูง พิมาย ชุมพวง และ อำเภอเมืองยาง
 
เช่นเดียวกับเขื่อนอุบลรัตน์ที่ปริมาณน้ำเกินกักเก็บ เจ้าหน้าที่ต้องเร่งระบายน้ำลงลำน้ำพองวันละ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรในอำเภออุบลรัตน์ น้ำพอง และ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยบางจุดน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ชาวบ้านต้องอพยพไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว กว่า 1,000 ครอบครัว ล่าสุดจังหวัดขอนแก่นประกาศเตือนผู้ที่อาศัยอยู่ท้ายน้ำเตรียมรับสถานการณ์ ที่คาดว่า จะทำให้น้ำท่วมอีกอย่างน้อย 1 เดือน
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง