ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

การปรับตัววงการการ์ตูนไทยในวันที่สิ่งพิมพ์ถดถอย

Logo Thai PBS
การปรับตัววงการการ์ตูนไทยในวันที่สิ่งพิมพ์ถดถอย

ถ้าใครเป็นคอการ์ตูนในระยะนี้คงได้ยินเรื่องน่าใจหายของนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ที่ผูกพันกันมากว่าสิบปีทยอยปิดตัวลงไปทีละฉบับ แต่จริงหรือที่วงการการ์ตูนในเมืองไทยกำลังจะตาย ผู้ผลิตหนังสือการ์ตูนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจเปิดใจถึงสถานการณ์หนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์ของบริษัทที่ขณะนี้เหลือแค่ 3 จาก 9 ฉบับ และมีแนวโน้มจะปิดตัวการ์ตูนรายสัปดาห์ทั้งหมด ส่วนรวมเล่มจะหยุดตีพิมพ์หลายเรื่อง และหันไปทำการ์ตูน e-book แทน  ภายหลังจากตกอยู่ในปัญหาฉบับสแกนผิดลิขสิทธิ์ออกไล่หลังญี่ปุ่นวันต่อวันทั้งยังหาอ่านได้ทั่วไปแค่ปลายนิ้ว

เช่นเดียวกับเครือเนชั่นที่เลิกพิมพ์นิตยสาร Boom แม้อยู่คู่นักอ่านมา 20 ปี เมื่อความเร็วคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คนหันไปอ่านออนไลน์ ด้านนิตยสาร C-Kids จากเครือสยามอินเตอร์คอมิกส์จึงแก้เกมด้วย C-Kids Express ขอตกลงกับสำนักพิมพ์ชูเอฉะของญี่ปุ่น ปล่อยฉบับภาษาไทยวันเดียวกับต้นฉบับ ชิงผู้อ่านชาวไทยกลับมาด้วยรูปเล่มคมชัดและคุณภาพการแปล ซึ่งต้องแลกมาด้วยการทุ่มทำงานภายใต้เส้นตายที่กดดันทุกสัปดาห์ ในขณะที่ต้องทำใจว่าการ์ตูนรายสัปดาห์จะไม่สร้างกำไรเทียบเท่าสมัยสิ่งพิมพ์อีกต่อไปแล้ว

"นายจะยังซื้อหนังสือการ์ตูนต่อไปใช่มั้ย" โพสต์ไวรัลที่กระจายไปในหมู่ผู้ใช้เฟซบุ๊คกว่าหนึ่งล้านสองแสนราย ยอดแบ่งปันเกือบแปดพันครั้งพร้อมถ้อยคำให้กำลังใจมากมาย สะท้อนว่าคำตอบอาจไม่ใช่การเลิกผลิตหนังสือการ์ตูน แต่ต้องปรับตัวให้ทันพฤติกรรมผู้เสพ ตลาดที่เริ่มมีบทบาทคือ e-book และหนังสือเล่มใหญ่คุณภาพดีสำหรับสะสม แต่ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ความอยู่รอดด้านธุรกิจในวันที่ผู้อ่านมีหลายตัวเลือก ช่องทางสื่อที่เนื้อหาสามารถข้ามกันไปมาทำให้ปัจจุบันการ์ตูนต้นฉบับกลายเป็นการลงทุนก้าวแรกเพื่อจะต่อยอดไปสู่การขายสินค้าอื่นๆในการสร้างกำไร เช่นเครือบริษัทบันไดของญี่ปุ่น ที่ปล่อยการ์ตูนบางเรื่องเช่นโคนันและกันดั้มให้ดูได้ฟรี แต่อาศัยการขายสินค้า ของสะสม ตลอดจนบัตรเข้าชมงานอีเวนต์ต่างๆ

อินเทอร์เน็ตที่เข้ามาแทนที่สื่อสิ่งพิมพ์ในโลกยุคแอนะล็อก ส่งผลให้พฤติกรรมการอ่านและรับชมตลอดจนใช้จ่ายไปกับการ์ตูนที่ชื่นชอบแตกออกเป็นหลายรูปแบบ มีตลาดที่หลากหลายมากที่สุดตั้งแต่กำเนิดสื่อการ์ตูนมา และถ้าหากบริษัทที่เคยยิ่งใหญ่ในสื่อเดิมปรับตัวตามวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ไม่ทันก็มีแนวโน้มที่จะจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะมีตัวแทนหน้าใหม่ที่พร้อมเข้ามาเติมช่องว่างในตลาดตลอดเวลา ทว่าความนิยมในกลุ่มประชากรรุ่นที่เติบโตมากับการ์ตูนซึ่งมีแต่จะเพิ่มขึ้น ทำให้ยังเชื่อได้ว่ากลุ่มผู้เสพที่พร้อมจะทุ่มเทเงินในกระเป๋าให้กับการ์ตูนที่รักไม่ได้มีน้อยลงอย่างแน่นอน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง