กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเผยวาง 3 แนวทางทบทวน
การกำหนดให้ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะอย่างหรือเอียร์มาร์ค แทกซ์ เป็นหนึ่งในห้าข้อเสนอของกระทรวงการคลังเพื่อปรับปรุงข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการคลังและงบประมาณ โดยมีการเสนอให้มีการเบิกจ่ายได้โดยตรงอีกแค่ 4 ปี ก่อนกำหนดให้ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี
คณะกรรมาธิการฯ มีกำหนดจะพิจารณาบทเฉพาะกาลดังกล่าวในวันที่ 10 ส.ค.2558 โดยนายคำนูณระบุว่า ทบทวน โดยมี 3 แนวทาง คือ
1.ทบทวนให้กำหนดในบทเฉพาะกาล จากเดิมที่มีระยะหน่วง 4 ปี เป็นการยกเว้นถาวรให้ 3 องค์กรที่เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญซึ่งหมายถึงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ส.ส.ส.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ
2.ทบทวนบทบัญญัติปกติในหมวดการคลังการงบประมาณด้วย โดยอาจปรับข้อความให้คลายตัวลง แต่ให้คำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง ซึ่งหมายถึงการไม่ห้ามแบบเด็ดขาด สำหรับภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะอย่าง
3. ต้องทบทวน เพราะกรรมาธิการฯ เคยเข้าใจว่า Earmarked Tax เป็นการหักภาษีที่เก็บได้ ไปใช้ก่อนส่งเข้าคลัง แต่แท้จริงแล้วเป็นการให้อำนาจหน่วยงานนั้น เก็บเพิ่มเพื่อให้องค์กรนั้นๆ
วันนี้ (4 ส.ค.2558) ได้มีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้แก่ นายประสาร มฤคพิทักษ์ และนางสาวรสนา โตสิตระกูล แถลงคัดค้านข้อเสนอนี้ เพราะเชื่อว่าจะเกิดผลกระทบองค์กรสาธารณะประโยชน์และอาจเป็นต้นเหตุของการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะความอิสระของสื่อสาธารณะ
ขณะที่นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เสนอให้แก้ไขหลักการจัดสรรงบประมาณจากภาษีสรรพสามิตในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เป็นข้อเสนอของกรรมาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติบางส่วน ที่อาจเห็นว่าการจัดสรรงบประมาณจากภาษีสรรพสามิตให้หลายหน่วยงานมากขึ้น เช่นที่กำลังเสนอเพิ่มเติมให้จัดสรรงบประมาณให้กับกองทุนกีฬา อาจจะผิดหลักการเรื่องการจัดสรรงบประมาณ จึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องไปพิจารณาในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่าการจัดสรรงบประมาณจากภาษีสรรพสามิต ควรคงไว้ให้กับสสส.และไทยพีบีเอสต่อไป
ด้านนายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการนโยบายไทยพีบีเอสเชื่อว่าการตัดภาษีเพื่อบาปจะทำให้บริษัทยาสูบและบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะได้ประโยชน์
"ที่ผ่านมาเราเอาเงินจากบริษัทที่ขายเหล้าและบุหรี่มาทำเพื่อสังคม อยากถามว่าถ้าไม่ทำอย่างนี้แล้วจะมีหน่วยงานไหนที่จะมาทำภารกิจในการช่วยสังคมบ้าง สังคมที่เกิดปัญหาจากภาระที่บริษัทเหล่านี้สร้าง เช่น สุราทำให้คนมึนเมาเสียชีวิต บุุหรี่ทำให้คนเป็นโรคภัย การที่บริษัทหากำไรจากสิ่งที่คนทำให้คนตายมากขึ้นหรือเจ็บป่วยมากขึ้นก็ควรที่จะรับภาระดูแลสังคมบ้าง" นายณรงค์กล่าว