ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ระบุควรวิจัยผลงาน"สสส.-ไทยพีบีเอส" ทำงานคุ้มหรือไม่-ก่อนแก้การจัดสรรงบฯ

การเมือง
5 ส.ค. 58
05:45
338
Logo Thai PBS
ระบุควรวิจัยผลงาน"สสส.-ไทยพีบีเอส" ทำงานคุ้มหรือไม่-ก่อนแก้การจัดสรรงบฯ

อธิบดีกรมสรรพสามิต เห็นด้วยกับข้อเสนอการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเปลี่ยนเงินอุดหนุนที่ให้กับองค์กรและกองทุนบางแห่งที่มีกฎหมายเฉพาะมาใช้ระบบงบประมาณปกติ ซึ่งแต่ละปีต้องจัดสรรงบให้ 8,000 - 10,000 ล้านบาท ขณะที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมทบทวนข้อเสนอดังกล่าว พร้อมระบุว่า เงินที่จัดสรรให้เป็นเงินส่วนเพิ่มเติมที่จัดเก็บมาจากยอดภาษีที่เก็บได้ไม่ได้ทำให้รายได้ของรัฐลดลง

หลังมีข้อเสนอให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และมาตรา 204 วรรค 2 เกี่ยวกับการใช้งบประมาณให้เป็นตามวินัยการเงินการคลังโดยเปลี่ยนจากเงินอุดหนุนมาใช้ระบบงบประมาณปกติ ให้กับกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ตัวอย่างการจัดเก็บภาษีเพื่อจ่ายตรง (earmarked tax) ของ 2 องค์กรได้แก่ กฎหมาย และ สสส. ระบุให้กองทุนมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนจากภาษีเหล้าบุหรี่ในอัตราร้อยละ 2 ขณะที่กฎหมายไทยพีบีเอสจัดเก็บในอัตราร้อยละ 1.5 สูงสุดปีงบประมาณละไม่เกิน 2,000 ล้านบาท จากกฎหมายของทั้ง 2 องค์กร เงินร้อยละ 2 และ 1.5 ไม่ได้มาจากการหักออกจากภาษีที่บริษัทเหล้าบุหรี่เสียให้รัฐแต่เป็นการเก็บเพิ่มเติมจากยอดภาษี หากงดการจ่ายรัฐจะมีรายได้เท่าเดิม แต่บริษัทเหล้าบุหรี่จะประหยัดเงินลงเพราะไม่ต้องภาษีเพิ่ม

ส่วนการพิจารณาข้อเสนอนี้ กรรมาธิการฯบางส่วนเห็นร่วมกันว่าจะเสนอทบทวนข้อเสนอใน 2 ระดับ คือ ทบทวนบทเฉพาะกาลจากเดิมที่ระบุให้มีระยะหน่วง 4 ปี ก่อนยกเลิกเงินอุดหนุน ไปเป็นการใช้งบประมาณปกติ อาจพิจารณาให้ยกเว้นถาวรกับ 3 องค์กรที่เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญใหม่บังคับใช้ซึ่งอาจจะมากกว่า 3 องค์กร หากก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้มีกฎหมายใหม่ออกมาอีกซึ่งขณะนี้พบว่า มีร่างกฎหมายลักษณะเดียวกันอยู่อีก 2-3  ฉบับ

ส่วนระดับต่อมาอาจทบทวนบทบัญญัติปกติในหมวดการคลังการงบประมาณ โดยไม่ได้ห้ามเด็ดขาดให้นำภาษีเหล้าบุหรี่มาเป็นเงินอุดหนุนแต่ให้คำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง โดยหลักการสำคัญในการพิจารณา คือหากบทบัญญัติที่เพิ่มขึ้นใหม่ทำให้รัฐได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจริงก็จะยืนหยัดคงไว้ แต่หากรัฐไม่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นแต่บริษัทเหล้าบุหรี่ได้ประโยชน์ก็จำเป็นต้องทบทวน

ด้านนายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เห็นว่า การจัดสรรงบประมาณควรดำเนินการผ่านกระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่การจัดสรรโดยตรง เพราะอาจกระทบต่อวินัยการคลังและการจัดสรรงบประมาณ หากในอนาคตหน่วยงานต่าง ๆ ออกกฎหมายมาเพื่อขอจัดสรรงบเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังเปิดเผยข้อมูลว่า ได้จัดสรรงบโดยตรงให้แก่ 3 หน่วยงาน เฉลี่ยปีละ 8,000 - 10,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา สสส. ได้รับการจัดสรร 3,000 - 4,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนไทยพีบีเอส ประมาณ 2,000 ล้านบาทและกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ กฎหมายมีผลบังคับใช้ปีนี้ (2558) รายได้ที่นำส่งอยู่ในระดับเดียวกันกับ สสส.

ด้านนายดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญโดยควรวิจัยให้ชัดเจนว่า การใช้จ่ายของ สสส. และไทยพีบีเอส มีประสิทธิภาพหรือคุ้มประสิทธิภาพหรือไม่ แม้กฎหมายเป็นเรื่องแก้ไขได้แต่ต้องไม่ใช่ด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลไม่มีเงินหรือเงินขาดสภาพคล่อง และปัญหาหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ ทุกอย่างจะไปยึดอยู่กับรัฐบาลซึ่งทำให้ย้อนกลับไปเป็นระบบรวมศูนย์อีกครั้ง

สอดคล้องกับ รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองที่เห็นว่า งบประมาณที่ดีควรได้รับการตรวจสอบ แต่ขณะเดียวกันงบประมาณบางส่วน เช่น งบของไทยพีบีเอสน่าจะเป็นประโยชน์ที่จะต้องให้เพราะหากสังเกตดูรายการทีวีทั่วไปเป็นประเภทสาระบันเทิงและละคร เพราะต้องทำงานให้ตรงกับตลาดเพื่ออยู่รอด จึงจำเป็นต้องการสื่อมวลชนที่ทำงานประเภทสาระ ข่าวสารต่างๆ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง