กองทุนฟื้นฟูฯเปิดมาตรการเยียวยาสมาชิกภัยน้ำท่วม เร่งพิจารณาอนุมัติงบฯกู้ยืมกว่า 423 ล้าน
นายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยว่า ขณะนี้กองทุนฟื้นฟูฯได้เร่งเตรียมแผนให้ความช่วยเหลือสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯที่ประสบภัยน้ำท่วมอย่างเร่งด่วนตามมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดการหนี้ โดยกำหนดกรอบการช่วยเหลือ 3 มาตรการหลัก คือ 1.ปลดหนี้ ลดหนี้และพักชำระหนี้ ซึ่งสมาชิกที่เป็นหนี้วงเงินไม่เกิน 35,000 บาท จะยกหนี้หรือปลดหนี้ให้ทันที มีประมาณ 8,756 ราย ใช้เงินอุดหนุนประมาณ 306 ล้านบาท ส่วนสมาชิกที่เป็นหนี้มากกว่า 35,000 บาท จะได้รับการปลดหนี้ในวงเงิน 35,000 บาทก่อน ที่เหลือให้พักชำระหนี้ภายใน 3 ปี โดยไม่คิดเงินต้นและดอกเบี้ย 2.จ่ายเงินสนับสนุนแก่สมาชิกสำหรับเป็นปัจจัยการผลิตรายละ 7,000 บาทตามมติคณะรัฐมนตรี และ3.อนุมัติเงินสนับสนุนโครงการฟื้นฟูอาชีพตามที่องค์กรเกษตรกรได้เสนอเข้ามา ซึ่งจะเริ่มให้การช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554
เบื้องต้นจะเร่งช่วยเหลือสมาชิกที่ผ่านการฝึกอบรมและกำลังฝึกอบรม จำนวน 80,000 รายซึ่งเป็นเกษตรกรที่มีรายชื่อในโครงการปรับโครงสร้างหนี้ โดยจะมอบเงินสนับสนุนเพื่อเป็นปัจจัยการผลิตรายละ 7,000 บาท ส่วนเกษตรกรที่ไม่มีรายชื่อปรับโครงสร้างหนี้หรือไม่ถูกซื้อหนี้ แต่ได้เสนอโครงการฟื้นฟูอาชีพผ่านองค์กรเกษตรกรกว่า 3,000 โครงการนั้น กองทุนพื้นฟูฯจะเร่งพิจารณาอนุมัติโครงการฯที่วงเงินกู้ยืมไม่เกิน 500,000 บาท จำนวน 1,336 โครงการ วงเงินรวม 423 ล้านบาท โดยให้อนุกรรมการระดับจังหวัดนำเสนอโครงการฯมายังกองทุนฟื้นฟูฯเพื่อรับการอนุมัติภายใต้อำนาจของเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ส่วนโครงการฯที่วงเงินกู้ยืมเกิน 500,000 บาท จำนวน 956 โครงการ วงเงินกว่า 3,720 ล้านบาท ให้คณะอนุกรรมการระดับภาคเป็นผู้นำเสนอมายังส่วนกลาง เพื่อให้คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรพิจารณาต่อไป
ปัจจุบันมีโครงการฯที่ผ่านการพิจารณาและได้รับอนุมัติจากกองทุนฟื้นฟูฯ และอยู่ระหว่างการปรับปรุงรายละเอียดโครงการ จำนวน 58 โครงการ วงเงินกู้รวม 25,784,490 บาท แยกเป็น ภาคเหนือ 17 โครงการ สมาชิก 2,153 ราย วงเงินกู้ยืม 7,032,950 บาท ภาคกลาง 13 โครงการ สมาชิก 860 ราย วงเงินกู้ 5,721,330 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 โครงการ สมาชิก 1,362 ราย วงเงินกู้ 9,245,400 บาท และภาคใต้ 9 โครงการ สมาชิก 367 ราย วงเงินกู้ 3,785,310 บาท
“ที่ผ่านมากองทุนฟื้นฟูฯ ได้จัดเวทีสัญจรในทุกภูมิภาคเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการกู้ยืมไม่เกิน 500,000 บาท โดยมุ่งสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างองค์กรเกษตรกรและพนักงานของกองทุนฟื้นฟูฯ สาขาจังหวัด เพื่อให้การจัดทำโครงการฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกรมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับยุทธศาสตร์กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร รวมทั้งสะท้อนมุมมองเพื่อปรับปรุงการทำงานร่วมกัน ทำให้ผ่านการพิจารณาและได้รับเงินกู้เร็วขึ้น” นายสมยศ กล่าว
นายสมยศกล่าวอีกว่า กองทุนฟื้นฟูฯจะให้องค์กรเกษตรกรที่เสนอแผนหรือโครงการเงินกู้ยืม กรณีวงเงินไม่เกิน 500,000 กลับไปปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดตามเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด เรียกว่า “ปรับ 4 ปรับ” ได้แก่ 1.ปรับ/ตรวจสอบจำนวนเกษตรกรสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯ ตามความเป็นจริง 2.ปรับกิจกรรมฟื้นฟูอาชีพให้มีอย่างน้อย 2-3 กิจกรรมที่เกื้อกูลกัน 3.ปรับเงื่อนไขกิจกรรมให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด ระดับภาค โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และ4.ปรับความคาดหวังหรือเป้าหมายให้สามารถตอบโจทย์ให้กับองค์กรเกษตรกรได้
“โครงการฯ ของกลุ่มเกษตรกรหรือองค์กรเกษตรกรที่ยังไม่ผ่านการพิจารณา หรือไม่ได้รับอนุมัติ กองทุนฟื้นฟูฯได้มอบหมายให้สำนักงานสาขาจังหวัด เร่งสร้างความเข้าใจและให้ความรู้แก่องค์กรเกษตรกร เพื่อปรับปรุงและแก้ไขโครงการฟื้นฟูอาชีพเดิมให้สอดคล้องกับ 4 ประเด็นดังกล่าวก่อนเสนอให้กองทุนฟื้นฟูฯ พิจารณาอีกครั้ง” นายสมยศ กล่าว