เปิดกลไกตรวจสอบการใช้งบประมาณของ
ไทยพีบีเอสเป็นหน่วยงานที่ดำเนินกิจการภายใต้พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 กฎหมายฉบับนี้ระบุชัดเจนว่าไทยพีบีเอสจะต้องถูกตรวจสอบการบริหารกิจการในทุกด้านอย่างเข้มงวดและเข้มข้น ดังนี้
ตลอดการดำเนินการ ไทยพีบีเอสจะถูกตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่าการใช้จ่ายเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด คุ้มค่าและได้ผลตามเป้าหมายหรือไม่ กฎหมายยังระบุให้ประธานกรรมการนโยบาย กรรมการนโยบาย กรรมการบริหาร ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ และพนักงานขององค์การ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต (ป.ป.ช.) ด้วย
ในแต่ละปี ไทยพีบีเอสต้องทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และให้เผยแพร่ต่อสาธารณะ อีกทั้งต้องจัดให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี การพัศดุขององค์การ และต้องรายงานผลต่อคณะกรรมการนโยบายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
ไทยพีบีเอสต้องจัดให้มีคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ในกรณีที่ที่องค์การ ผู้ผลิตรายการหรือพนักงานทำผิดข้อบังคับด้านวิชาชีพที่กำหนดไว้ รวมั้งต้องจัดให้มีสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการที่เป็นตัวแทนของผู้ชมผู้ฟัง ทำหน้าที่สะท้อนความต้องการของผู้ชมผู้ฟัง เพื่อให้การผลิตรายการของไทยพีบีเอสมีคุณภาพสอดคล้องกับประโยชน์สาธารณะและสังคม รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในภูมิภาคและกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลาย
ที่สำคัญไทยพีบีเอสยังมีข้อบังคับด้านจริยธรรมทั้งกรรมการบริหาร ผู้อำนวยการ ผู้บริหารขององค์การ พนักงานและลูกจ้างขององค์การ รวมทั้งบทลงโทษชัดเจน อีกทั้งยังกำหนดข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิต และการเผยแพร่รายการ อย่างเข้มงวด
กฎหมายยังกำหนดให้ไทยพีบีเอสต้องจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานประจำปี โดยคณะกรรมการประเมินผลซึ่งเป็นบุคคลภายนอก เพื่อติดตามความก้าวหน้า และการตรวจสอบการดำเนินการขององค์การให้เป็นไปตามเป้าหมาย ไทยพีบีเอสต้องถูกกำกับ ควบคุม ตรวจสอบ จากหน่วนงาน องค์กร และกฎระเบียบ เหล่านี้อย่างเคร่งครัด