ครบรอบ 61 ปี การหายตัวของหะยีสุหลง โต๊ะมีนา
61 ปี แล้วสำหรับการหายตัวไปของ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา แต่ความทรงจำยังคงแจ่มชัดสำหรับทายาทรุ่นที่ 3 อย่างนายจตุรนต์ เอี่ยมโสภา ยิ่งเมื่อบ้านที่เคยอาศัยของหะยีสุหลง เขตเมืองปัตตานี อยู่ระหว่างการบูรณะ ด้วยงบประมาณจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กำลังกลายเป็นสถานที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ถึงเรื่องราวของหะยีสุหลงที่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏของแผ่นดิน
ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลโต๊ะมีนา อธิบายถึงหลักคิดในการจัดทำปฎิทินเวลาละหมาดของหะยีสุหลง ที่ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบันและกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญซึ่งถูกรักษาไว้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับสุเหร่าหลังนี้เคยถูกใช้เป็นสถานที่จัดทำข้อเสนอ 7 ข้อเกี่ยวกับสิทธิในการปกครองและสิทธิทางศาสนาของหะยีสุหลงที่อยู่ระหว่างการบูรณะเช่นกัน โดยทายาทรุ่นที่ 3 บอกว่า ข้อเสนอ 7 ข้อถูกดำเนินการไปแล้วหลายอย่างในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหลักคิดที่ไม่ได้ฝักใฝ่ความรุนแรง แต่ต้องการเพียงให้เกิดความเท่าเทียมและยอมรับในความแตกต่างของคนต่างความเชื่อ
เด่น โต๊ะมีนา บุตรชายของหะยีสุหลง บอกว่าตลอดชีวิตตระกูลโต๊ะมีนาถูกเพ็งเล็งจากรัฐมาโดยตลอดว่าสนับสนุนความรุนแรง การเปิดบ้านหะยีสุหลงอย่างเป็นทางการก็เพื่อสื่อสารให้สังคมและรัฐเข้าใจถึงความจริงและเห็นว่าการแก้ปัญหาความรุนแรง คือการสร้างความเท่าเทียมและให้ประชาชนมีสิทธิอย่างแท้จริงในการปกครองตัวเอง
"หะยีสุหลง" เคยเป็นประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เป็นผู้มีบทบาทในการเรียกร้องสิทธิของคนมุสลิมในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่การใช้นโยบายกลืนวัฒนธรรมทำให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงจากคนในพื้นที่ หะยีสุหลงและผู้นำศาสนาจึงทำข้อเสนอ 7 ข้อเพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้คนมลายู แต่รัฐบาลในขณะนั้นไม่รับหลักการ และกลับมองว่าเป็นการแบ่งแยกดินแดนจึงถูกจับในข้อหากบฏ ก่อนจะถูกปล่อยตัวและหายตัวไปพร้อมผู้ติดตามในวันที่ 13 สิงหาคมปี 2497 ซึ่งหลังการหายตัวไปของหะยีสุหลง ก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ เพราะเกิดกลุ่มต่อสู้กับรัฐหลายกลุ่ม ทั้งบีอาร์เอ็น พูโล หรือบีเอ็นพีพี ครบรอบ 61 ปีในการจากไปหะยีสุหลง ทำให้ทายาทตระกูลโต๊ะมีนา จึงรวมจัดงานรำลึกตามแนวคิดของงานที่ใช้ชื่อว่า "ผู้ไม่มีสุสาน ย่อมมีสุสานทุกหนแห่ง"