"ไทยพีบีเอสออนไลน์" เห็นว่าบทสัมภาษณ์ของซาคารีที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ The Diplomat นิตยสารวิเคราะห์เหตุการณ์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2558 หรือ 1 วันหลังเกิดเหตุระเบิดที่ราชประสงค์ มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการจึงแปลเนื้อหาบางส่วนมานำเสนอ
เหตุระเบิดในครั้งนี้แตกต่างจากเหตุรุนแรงครั้งอื่นที่เกิดขึ้นหลายครั้งนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.2557 อย่างไร
นับตั้งแต่รัฐประหารมีการก่อเหตุที่ไม่รุนแรงนักเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น เหตุระเบิดที่หน้าศาลอาญาเมื่อเดือนมีนาคม 2558 ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้มักถูกระบุว่าเป็นการกระทำของกลุ่ม "คนเสื้อแดง" ผู้สนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกยึดอำนาจโดยคณะรัฐประหาร แต่เหตุวางระเบิดที่ราชประสงค์ไม่เหมือนครั้งอื่นตรงที่ ประการแรก ผู้ก่อเหตุใช้ระเบิดที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ตำรวจไทยเปิดเผยว่าระเบิดที่ใช้ก่อเหตุครั้งนี้เป็นระเบิดทีเอ็นทีหนัก 3 กก.การก่อเหตุครั้งอื่นๆ ไม่มุ่งให้เกิดการเสียชีวิตมากขนาดนี้ ประการที่สอง ที่ผ่านมาผู้ก่อเหตุมักจะโจมตีสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลรัฐประหาร แต่ครั้งนี้ผู้ก่อเหตุโจมตีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในใจกลางกรุงเทพฯ ล้อมรอบด้วยห้างสรรพสินค้าและโรงแรม เหตุรุนแรงที่ผ่านมาไม่ได้พุ่งเป้าที่ชาวต่างชาติเหมือนครั้งนี้
เจ้าหน้าที่ไทยบอกว่าหลักฐานชี้ชัดว่าผู้ก่อเหตุมุ่งสังหารคนจำนวนมาก คุณเห็นด้วยกับข้อสังเกตนี้หรือไม่
ผมเห็นด้วย ศาลพระพรหมเอราวัณเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมไป อีกทั้งยังตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสและและอยู่ใกล้ห้างสรรพสินค้า 3 แห่ง จึงมีผู้คนสัญจรผ่านเยอะ คนไทยนิยมมาสักการะขอพรที่ศาลพระพรหม นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งชาวเอเชียและชาวตะวันตกก็นิยมมาถ่ายรูปที่นี่ ระเบิดเกิดขึ้นในช่วงหัวค่ำ (19.00 น.) ที่มีผู้คนพลุกพล่าน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าระเบิดครั้งนี้มุ่งสังหารคนจำนวนมาก
ขณะนี้ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาประกาศว่าอยู่เบื้องหลังการก่อเหตุ แต่ก็เริ่มมีข้อสันนิษฐานต่างๆ ออกมา ที่มีการพูดถึงกันมากคือเป็นฝีมือของกลุ่มการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลหรือ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ยังมีข้อสันนิษฐานอื่นๆ อีกหลายอย่าง คุณคิดว่าอย่างไร
ขณะนี้มีกลุ่มที่ต้องสงสัยอยู่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม "คนเสื้อแดง", กลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้, และกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มล้วนมีเหตุจูงใจและมีศักยภาพที่จะก่อเหตุได้ หลายคนชี้ไปที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับเหตุระเบิดที่สถานทูตอิสราเอลในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2534 และเมื่อปี 2555 ก็เกิดเหตุระเบิดที่บ้านเช่าในซอยสุขุมวิท 71 ที่สมาชิกกลุ่มฮิซบอเลาะห์เช่าไว้ประกอบระเบิด จึงพูดได้ว่ามีกลุ่มภายนอกประเทศเคลื่อนไหวอยู่ในไทยเพื่อก่อเหตุ แต่สำหรับระเบิดที่ราชประสงค์ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องเพราะกลุ่มนี้มักจะปฏิบัติการเมื่อ อิหร่านต้องการก่อเหตุที่เบี่ยงเบนความสนใจหรือยกระดับความรุนแรง ส่วนกลุ่ม JI (Jemaah Islamiyah) ที่เคยพยายามก่อเหตุในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2546 แต่ล้มเหลว ก็ไม่น่าจะมีศักยภาพในการก่อเหตุในระดับนี้ ในขณะที่ยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือว่ากลุ่มไอเอสมีการเคลื่อนไหวอยู่ใน ประเทศไทย แม้ว่าจะมีสมาชิกและกลุ่มผู้สนับสนุนอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่จำนวน หนึ่งก็ตาม ส่วนที่สื่อจีนบางสำนักรายงานว่าเหตุระเบิดที่ราชประสงค์เป็นฝีมือของกลุ่ม อุยเกอร์ที่ไม่พอใจการทีรัฐบาลไทยส่งตัวชาวอุยเกอร์ 109 คนกลับประเทศนั้นผมคิดว่าไม่มีน้ำหนักที่พอจะต้องพูดถึง
ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยจะทำทุกวิถีทางที่จะทำให้คิดว่ากลุ่มคนเสื้อแดงอยู่ เบื้องหลังเหตุการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งก็เหมือนกับตอนที่พวกเขาพยายามด่วนสรุปเหตุระเบิดที่ (ห้างเซ็นทรัล เฟสติวัล) เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี (เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2558) ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานรองรับ และจริงๆ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ต้องสงสัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่เกาะสมุย ผมยังมีข้อกังขาว่ากลุ่มเสื้อแดงจะทำลายศาลท้าวมหาพรหมซึ่งเป็นสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยนับถือไปทำไม แม้ว่าพวกเขาแสดงตัวชัดว่าเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลรัฐประหารแต่เขาก็ยังเป็นคน ไทย การก่อเหตุที่ไม่รุนแรงมากนักเพื่อโจมตีสถานที่เชิงสัญลักษณ์ของรัฐบาลยังพอ เข้าใจได้ แต่การก่อเหตุในสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อมุ่งสังหารผู้คนจำนวนมากดูจะไม่ใช่ แนวทางของกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ถึงอย่างนั้น รัฐบาลประยุทธ์ก็คงจะพยายามเชื่อมโยงเหตุระเบิดราชประสงค์เข้ากับกลุ่มคน เสื้อแดงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองอยู่ในอำนาจต่อ
ทีนี้ลองมาวิเคราะห์ที่กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีความชัดเจนว่าพวกเขาวางแผนก่อเหตุในกรุงเทพฯ และกลุ่มนี้มักไม่ปฏิบัติการนอกพื้นที่ แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เช่น พวกเขาเคยก่อเหตุที่หาดใหญ่ (จ.สงขลา) ซึ่งเป็นย่านธุรกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญ รวมทั้งเคยก่อเหตุที่ อ.สะเดา อ.เบตง และ อ.สุไหงโก-ลก ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียจำนวนมาก
ผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่รู้ดีว่าการก่อเหตุนอก พื้นที่และในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญจะเป็นผลเสียต่อขบวนการมากกว่าเนื่องจาก มีแต่จะทำให้เจ้าหน้าที่ปราบปรามหนักขึ้น แต่คนรุ่นใหม่ในขบวนการจำนวนหนึ่งเริ่มมีความคิดว่าหลังจากต่อสู้มา 12 ปี ระดับความรุนแรงที่ใช้มาตลอดเริ่มไม่ได้ผลและควรจะต้องยกระดับขึ้น ด้วยเหตุนี้ ระเบิดที่เซ็นทรัล เกาะสมุยจึงพบหลักฐานหลายอย่างที่เชื่อมโยงไปถึงกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต (BRN-C) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อเหตุระเบิดที่โรงแรมลี การ์เดน ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อเดือนมีนาคม 2556
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลไทยจะไม่รีบด่วนสรุปว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ ระเบิดราชประสงค์เหมือนกับที่ด่วนสรุปเหตุระเบิดที่เกาะสมุย เพราะการทำให้เรื่องนี้เป็นการเมืองจะทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลและหน่วยงาน ความมั่นคง
เจ้าหน้าที่ไทยบอกว่าผู้ก่อเหตุมุ่งทำร้ายนักท่องเที่ยวและทำลาย เศรษฐกิจของประเทศ คุณคิดว่าเหตุการณ์นี้จะกระทบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของไทยอย่างไร
การท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ระเบิดที่เกาะสมุยกระทบการท่องเที่ยวน้อยกว่าที่ผมคาดไว้ แต่ระเบิดที่ราชประสงค์น่าจะกระทบการท่องเที่ยวจริงเพราะอยู่ในช่วงที่นัก ท่องเที่ยวจองที่พักและเดินทางมาเที่ยวในช่วงไฮซีซัน เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะง่อนแง่นตั้งแต่หลังรัฐประหาร มีการปรับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจลงแทบทุกไตรมาส เหตุระเบิดครั้งนี้ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจของไทย
คุณคิดว่าท่าทีของรัฐบาลไทยต่อเหตุระเบิดราชประสงค์จะเป็นอย่างไร และจะมีผลต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยในภาพรวมหรือไม่ รวมทั้งการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป
ผมเชื่อว่ารัฐบาลจะจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังเพราะนี่เป็นการก่อการร้าย ครั้งรุนแรงที่สุดในเมืองหลวงของประเทศ มิหนำซ้ำยังเกิดใกล้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผมหวังว่ารัฐบาล คสช.จะรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างเป็นมืออาชีพมากกว่าตอนที่พวกเขารับมือกับ ระเบิดที่เกาะสมุย ซึ่งในตอนนั้นแม้ไม่มีหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานทางนิติเวชหรือหลักฐานอื่นๆ รัฐบาลคสช.ก็ยังเชื่อมโยงว่าเกี่ยวกับกลุ่มคนเสื้อแดง...เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่รัฐบาลคสช.จะต้องดำเนินการสืบสวนอย่างมืออาชีพและโปร่งใส
กุลธิดา สามะพุทธิ ไทยพีบีเอสออนไลน์ แปลจาก "Interview : Analyzing Thailand's Erawan Shrine Bomb Blast" (http://thediplomat.com/2015/08/interview-analyzing-thailands-erawan-shri...)