กสทช.ผ่านเกณฑ์ประมูล 4 จี-ค่าบริการต้องถูกกว่า เครือข่ายผู้บริโภคชี้ไม่จริงใจ-ไม่คุ้มครองลูกค้า
วันนี้ (21 ส.ค.2558) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมกสทช.วาระพิเศษเห็นชอบร่างประกาศกสทช. หลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม และร่างประกาศกสทช.เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่ ซึ่งจะเป็นร่างหลักเกณฑ์ ที่ใช้ประมูล 4 จี คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ในเดือนพ.ย.2558 ขั้นตอนจากนี้ นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อออกประกาศเชิญชวนผู้ที่สนใจ วันที่ 28 ส.ค.2558 ซื้อซองประมูลในวันที่ 30 ก.ย.2558 และแข่งเคาะราคาประมูลวันที่ 11 พ.ย.2558
สำหรับสาระสำคัญร่างหลักเกณฑ์การประมูล 4 จี ประกอบด้วย อายุใบอนุญาต กำหนดให้เป็น 18 ปี หรือจะสิ้นสุดในปี 2576 ซึ่งปรับลดจากเดิม 19 ปี ก่อนรับฟังความคิดเห็น โดยราคาเริ่มต้นการประมูลอยู่ที่ 15,912 ล้านบาท หากมีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นประมูล จะปรับเป็นราคาเต็มของมูลค่าคลื่นความถี่ ที่ 19,890 ล้านบาท ซึ่งการประมูลกำหนดให้มีการเคาะราคาอย่างน้อย 1 ครั้ง
ส่วนการคุ้มครองผู้บริโภค ในร่างประกาศฯ ได้กำหนดอัตราค่าบริการเฉลี่ย 4 จีให้มีราคาถูกลงกว่า 3 จี คลื่น 2100 เมกกะเฮิร์ซ ในปัจจุบัน และต้องมีแพ็กเกจเฉพาะ มี่เป็นราคาการใช้งาน 4 จี สำหรับกลุ่มผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส และผู้ที่ได้รับใบอนุญาตต้องกำกับดูแลคุณภาพการให้บริการต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานของ 3 จี เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด
สำหรับประเด็นการคืนคลื่น 5 เมกะเฮิรตซ์ ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ที่จะนำมาใช้ประมูล 4 จี และยังอยู่อยู่ภายใต้สัมปทานของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) นั้น หากทางดีแทค คืนให้ไม่ทันก่อนถึงวันที่ 25 กันยายน 2558 ก็จะทำให้กระบวนการให้ใบอนุญาตคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ใบ แบ่งออกเป็น ใบละ 12.5 เมกะเฮิรตซ์ แต่หากกระบวนการคืนได้เสร็จทันในวันที่กำหนด ใบอนุญาตจะแบ่งเป็น ใบละ 15 เมกะเฮิรตซ์
สำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตต้องกำหนดการจัดให้มีโครงข่ายเพื่อให้บริการอย่างน้อยร้อยละ 40 ภายใน 4ปี และเพื่อเป็นการประกันการใช้งานคลื่นความถี่ และให้มีการกระจายบริการให้ทั่วถึงเพิ่มขึ้น จึงได้กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีโครงข่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายใน 8 ปี
ด้านน.ส.ชลดา บุญเกษม กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เปิดเผยว่า แม้ร่างประกาศหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 4 จี จะผ่านความเห็นชอบแล้ว แต่ประเด็น เงื่อนไขการคุ้มครองผู้ใช้บริการนั้น มีข้อสังเกตว่า ไม่ได้ดีกว่าเงื่อนไขที่ใช้เมื่อครั้งประมูล 3จี เพราะการกำหนดอัตราค่าบริการล่วงหน้า เพียงการกำหนดให้มีรายการส่งเสริมการขายพื้นฐานที่มีราคาค่าบริการต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3จี ซึ่งหมายถึงว่า ไม่ใช่การกำหนดอัตราราคาบริการทั่วไป แต่ขอเพียงมีรายการส่งเสริมการขายหรือแพ็คเกจเดียวที่ราคาต่ำกว่าค่าบริการ 3จี ส่วนที่เหลือจะเป็นอย่างไรก็ได้ ขณะที่กรณี 3จี กำหนดให้ราคาค่าบริการทั้งหมดต้องลดลงจากบริการ 2จี เฉลี่ยร้อยละ 15 จึงเป็นการกำหนดในลักษณะขีดเส้นว่า อัตราขั้นสูงว่าต้องลดจากเดิม
แต่การกำหนดให้มีเพียงแพ็คเกจฐาน เท่ากับการกำหนดอัตราขั้นต่ำ รับประกันเพียงว่าจะมีรายการส่งเสริมการขายที่ไม่เกินบริการ 3จี แต่อัตราทั่วไปหรือแพ็คเกจที่เหลือทั้งหมดอาจเกินก็ได้
“หลังจากที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้การจัดประมูลคลื่นครั้งนี้ ต้องเน้นมิติการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย โดยระบุไว้ชัดว่า ให้มีการกำหนดค่าใช้บริการไว้ล่วงหน้า ไม่ให้ขึ้นราคา ไม่ให้ผู้ใช้บริการถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยที่ผ่านกสทช. ให้ความหวังกับผู้บริโภคเอาไว้มาก แต่เมื่อมีการพิจารณาร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นออกมาเป็นเช่นนี้ จึงน่าผิดหวัง” น.ส.ชลดากล่าว
กดถูกใจหน้าเพจ ThaiPBSNews
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl