นักโภชนาการเตือน “กินคลีน” เสี่ยงขาดสารอาหาร
ข้าวไรซ์เบอรี พืชผัก และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เป็นวัตถุดิบที่ น.ส.อศิตา ชลายนนาวิน เลือกซื้อจากตลาดใกล้บ้าน ก่อนนำมาปรุงรสด้วยวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก เพื่อให้วัตถุดิบทั้งหมดคงคุณค่าทางโภชนาการ
น.ส.อศิตาระบุว่า เพราะต้องการดูแลสุขภาพและลดน้ำหนักของตัวเอง แต่กลับนำมาซึ่งรายได้เสริมในการรับทำอาหารคลีนสำหรับกลุ่มเพื่อน และลูกค้าที่ไม่มีเวลาประกอบอาหารเอง ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่ทำให้กระแสอาหารคลีนเป็นที่รู้จักในฐานะอาหารเพื่อสุขภาพ
ขณะที่ ผู้บริโภคบางรายอาจเลือกซื้อซีเรียลหรือธัญพืชอบแห้ง นำมาใส่นมและผลไม้กินแทนอาหารมื้อหลัก ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวอาจเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการ
น.ส.ผกาวลี ประกายสิทธิ์ นักกำหนดอาหารแผนกโภชนบำบัด โรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า หากกินอาหารคลีนแทนอาหารหลักเป็นประจำทุกมื้อ มีความเสี่ยงเป็นภาวะทุพโภชนาการได้โดยในเฉพาะเด็กและวัยรุ่น ที่อาจทำให้ร่างกายเติบโตไม่สมส่วน เติบโตช้า รวมถึงระดับสติปัญญาทั้งไอคิวและอีคิวอาจต่ำกว่าเกณฑ์
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ปี 2558 ตั้งเกณฑ์เป้าหมายเด็กไทย ร้อยละ70 อายุตั้งแต่6ปีถึง14ปี ในด้านความสูง และรูปร่างสมส่วน ซึ่งปีที่ผ่านๆมา จากการสำรวจพบว่า มีเกณฑ์พัฒนาการดีขึ้น ส่วนในวัยทำงานและวัยผู้ใหญ่ หากมีการจำกัดพลังงานโดยกินอาหารที่ให้พลังงานไม่เหมาะสมกับกิจวัตรประจำวัน จะส่งผลให้สมรรถภาพในการทำงานลดน้อยลง เช่นคิดอะไรไม่ออก อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย และในอนาคตมีความเสี่ยงกับภาวะสุขภาพอื่นๆ
กดถูกใจหน้าเพจ ThaiPBSNews
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl