หน้ามรสุมปีนี้ ฝนทิ้งช่วง คนใต้ตื่นตัว เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ
ปลายเดือนตุลาคมของทุกปี ภาคใต้จะเข้าสู่หน้ามรสุม ซึ่งจะทำให้ในหลายพื้นที่มีฝนตกหนักและเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติต่างๆ วันนี้เครือข่ายภาคพลเมืองทางภาคใต้เตรียมรับมือและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะที่พื้นที่เสี่ยงที่เคยเกิดเหตุและพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุภัยพิบัติที่จะต้องเตรียมการเฝ้าระวังและให้ข้อมูลกับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อเตรียมจัดการและช่วยเหลือตัวเองอย่างทันถ่วงที
จอม กำพล จิตตะนัง อาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมช่วยเหลือในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อเดือนเมษายนเล่าให้ฟังว่า ทุกปีในช่วงเดือน พฤศจิกายนถึงธันวาคมนี้ภาคใต้จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนหรือหน้ามรสุมแล้ว แต่ปีนี้ถือว่าฝนทิ้งช่วงนานกว่าปกติ มีฝนตกบ้างเล็กน้อย สภาพอากาศปกติ น้ำในคลองยังมีไม่เยอะเท่าไหร่ แต่การที่ฝนทิ้งช่วงคนในพื้นที่ก็ไม่ควรประมาทในการเตรียมการ
“ปีนี้ถือว่าฝนมาช้ากว่าทุกที เพราะตามปกติแล้วช่วงลอยกระทงน้ำจะเต็มตลิ่งแล้ว แต่ปีนี้น้ำยังน้อยอยู่ มีฝนตกบ้างเล็กน้อย แต่ก็ไม่ควรประมาท ตอนนี้คนในพื้นที่ก็เตรียมเฝ้าระวังกันอยู่ ในส่วนของพื้นที่เสี่ยงก็มีการคุยกัน เช่น อ.กรุงชิง ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มถ้าฝนตกหนักประมาณครึ่งชั่วโมงชาวบ้านในพื้นที่ก็จะเริ่มกังวลแล้ว ไปรับลูกหลานกลับจากโรงเรียน แต่โดยธรรมชาติของน้ำในพื้นที่ภาคใต้จะท่วมไม่นาน แต่มาเร็วและแรง ”
สำหรับการเตรียมการเพื่อรับมือภัยพิบัติในพื้นที่ อ.จอมกล่าวว่า มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานจัดการภัยพิบัติ(ภาคพลเมือง) ที่ม.วลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเปิดแล้วตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมรับมือภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นกับภาคใต้ โดยทำงานร่วมงานหน่วยงานต่างๆ ของแต่ละพื้นที่
“การทำงานของศูนย์จะแบ่งออกเป็น งานการสื่อสารเพื่อเฝ้าระวังภัยพิบัติทางสื่อช่องทางต่างๆ งานข้อมูลทางวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ และงานอาสาสมัครจากส่วนต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมและซักซ้อมแผนปฏิบัติการ พร้อมกับเชื่อมโยงกับส่วนต่างๆ ในภาคใต้ ซึ่งถึงแม้ว่าตอนนี้ฝนจะทิ้งช่วง ก็ไม่ควรประมาท “
ด้านพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงแม้ว่าจะผ่านมากว่า 1 ปีแล้ว ที่ประสบกับภัยพิบัติพายุฝนเข้าถล่มในพื้นที่พร้อมกับคลื่นทะเลซัดสูงเข้าหาหมู่บ้านชายฝั่งทะเล จ.ปัตตานี วันนี้ ลม้าย มานะการ คณะทำงานโครงการ PB Watch บอกว่า สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ตอนนี้มีการถอดบทเรียนและนำประสบการณ์จากปีที่แล้วมาปรับใช้เพื่อเตรียมตั้งรับกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเป็นความร่วมมือกับแกนนำชุมชน หน่วยงานราชการจังหวัดปัตตานี และภาคเอกชน เข้ามาดูแลร่วมกัน
“ สถานการณ์ในปีนี้คาดว่าอาจจะไม่แรงเท่ากับปีที่แล้ว ตอนนี้ในพื้นที่จังหวัดปัตตานีก็มีฝนปรอยๆ และตกหนักเป็นช่วงๆ แต่ยังไม่มีลมแรง ช่วงมรสุมของพื้นที่สามจังหวัดจะเป็นเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม แต่คนในพื้นที่ก็ไม่ประมาท เริ่มตื่นตัวมากขึ้น เช่น คนที่อยู่ใกล้แม่น้ำสายบุรีที่มีบทเรียนจาดปลายปีที่แล้ว ก็จะสังเกตน้ำและสภาพฝนฟ้าอากาศในพื้นที่ เริ่มปรับตัวและเตรียมการ จะเห็นมีเรือไฟเบอร์ และเตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง บางพื้นที่ในช่วงนี้ก็เริ่มยกของขึ้นที่สูงบ้างแล้ว ด้านหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนก็ทำงานร่วมกันเตรียมเรื่องสถานที่(กรณีอพยพ) การแพทย์และพยาบาล ขณะที่ภาคประชาชนก็มีการตั้ง wallroom ประชุมทำข้อมูลและร่วมประเมินสถานการณ์ร่วมกันเตลอด“
บทเรียนจากภัยพิบัติที่ผ่านมา หลายพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันว่า การเตรียมรับมือต่อภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น จะช่วยลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเริ่มที่ชุมชนก่อน จึงจะสามารถจัดการได้ทันท่วงที รวมถึงเรียนรู้และปรับตัวและวิถีชีวิต ที่จะอยู่กับธรรมชาติได้