ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แบงก์ชาติ” เผย 3 เงื่อนไขคุมสถาบันการเงิน ต้องไม่เป็นต้นเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจ ชี้ศก.ขาลงต้องมีส่วนสนับสนุนให้โต

เศรษฐกิจ
23 พ.ย. 54
04:19
26
Logo Thai PBS
แบงก์ชาติ” เผย 3 เงื่อนไขคุมสถาบันการเงิน ต้องไม่เป็นต้นเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจ ชี้ศก.ขาลงต้องมีส่วนสนับสนุนให้โต

แจงหากเกิดกรณีความเสียหายขึ้นต้องไม่เอาเงินภาษีประชาชนมาอุ้ม ยอมรับหลังน้ำท่วมบางแบงก์อาจตต้องตั้งสำรองเพิ่ม แต่เชื่อไม่กระทบผลประกอบการมากนัก เหตุหลายแห่งตั้งสำรองไว้สูงอยู่แล้ว ส่วนหนี้ครัวเรือนอาจเพิ่มขึ้นแต่ไม่ใช่ปัญหาหากประชาชนส่วนใหญ่ยังมีงานทำ

นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า การดูแลสถาบันการเงินของธปท.นั้น จะเน้นใน 3 เรื่องหลัก คือ ต้องดูแลไม่ให้สถาบันการเงินเป็นต้นเหตุของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันหากเศรษฐกิจเป็นช่วงขาลงสถาบันการเงินต้องมีความสามารถในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาได้ และหากสถาบันการเงินมีปัญหาขึ้นมา ไม่ว่ากรณีใดๆ จะต้องไม่เอาเงินภาษีของประชาชนมาอุ้ม โดยทั้งหมดนี้ถือเป็นเงื่อนไขที่ธปท.นำมาใช้ในการดูแลสถาบันการเงิน

ส่วนกรณีที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์มองว่า ธนาคารพาณิชย์อาจต้องกันสำรองหนี้เสียเพิ่มหลังจากปัญหาน้ำท่วมจบลงนั้น เขากล่าวว่า เป็นเรื่องปกติ หากต้องตั้งสำรองก็ตั้งไป แต่คงไม่กระทบกับผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์มากนัก เพราะที่ผ่านมาในช่วงเศรษฐกิจดีธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ได้ตั้งสำรองกันไว้ค่อนข้างแยะ และปัจจุบันระดับการตั้งสำรองโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ก็อยู่ที่ 130% ของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)

“ทั้ง 3 เงื่อนไขนี้เป็นข้อตกลงภายในแบงก์ชาติที่ใช้ดูแลสถาบันการเงิน ซึ่งเราใช้มานานแล้ว ส่วนการตั้งสำรองของแบงก์จากนี้ไป หากจะมีการตั้งก็ตั้งไปไม่มีปัญหา แต่ที่ผ่านมาแบงก์ก็มีการตั้งไว้ค่อนข้างมาก มันก็เหมือนกับคน วันที่คุณดีคุณก็ต้องเก็บเงินเผื่อเอาไว้วันที่ไม่ดี เพราะแบงก์เองก็อยู่ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจุดอ่อนของระบบนี้คือวัฏจักรเศรษฐกิจที่ขึ้นลง มันไม่มีทางที่จะขึ้นอย่างเดียว เพราะมันก็มีวันที่จะลงด้วย”นายเกริกกล่าว

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ธปท.ได้ขอให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำแบบทดสอบภาวะวิกฤติ(Stress test) เป็นประจำ ซึ่งผลการทดสอบช่วงที่ผ่านมาก็อยู่ในระดับที่ดี เพียงแต่การทำ Stress test ครั้งที่ผ่านมา ยังไม่ได้นำเรื่องความเสียงจากมหาอุทกภัยเข้าไปรวมด้วย จะมีก็เพียงเรื่องอุทกภัยธรรมดา แต่ก็เชื่อว่าคงไม่มีปัญหาต่อสถาบันการเงินอยู่ดี

สำหรับการทำ Stress test ของธนาคารพาณิชย์นั้น ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับสมมติฐานในเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่จะได้จากสายนโยบายการเงิน เช่นให้ทดสอบว่า หากจีดีพีตกลงในระดับนี้แล้ว ฐานะของธนาคารพาณิชย์จะเป็นอย่างไร ดังนั้นข้อมูลที่ได้จาก Stress test จึงเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นธรรมดา

“การทำ Stress test ของเรา ก็จำลองมาจากต่างประเทศที่เขาทำกัน โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป ซึ่งจะเห็นว่า ถึงแม้ทางโน้นเขาทำแต่เขาเองก็ยังมีปัญหาอยู่ ดังนั้นก็ต้องยอมรับว่าแฟชั่นที่เชื่อว่าทำแล้วจะคาดการณ์อะไรได้แม่นยำขึ้นมันไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราได้คิดว่า ทั้งหมดนี้มันอยู่ที่ความคิดของเรา ส่วนเทคนิคเป็นเพียงส่วนประกอบ”นายเกริกกล่าว

สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กังวลกันนั้น เขายอมรับว่า หลังปัญหาน้ำท่วมจบลง หนี้ภาคครัวเรือนอาจปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนของตัวเอง เพียงแต่หนี้ที่ปรับขึ้นไม่น่าจะเป็นปัญหาตราบใดที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีงานทำ

“ผมไม่คิดว่าในที่สุดแล้วจะเป็นปัญหาอะไรมากมาย แม้จะมีความเสียหายบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถฟื้นฟูขึ้นมาได้ ตราบใดที่คนยังมีความสามารถในการผลิต ก็คิดว่ามันน่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ และปัญหาที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เกิดจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่อ่อนแอ แต่มันเกิดจากภัยธรรมชาติที่ไม่เอื้ออำนวยเท่านั้น”นายเกริกกล่าว

สำหรับตัวเลขความเสียหายของธนาคารพาณิชย์นั้น ยังไม่สามารถประเมินได้ เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ยังไม่จบดี คงต้องรอประเมินสถานการณ์อีกระยะ แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวธนาคารพาณิชย์ไม่น่าจะกระทบต่อผลกระกอบการมากนัก และถ้าดูกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ในปี 2553 ที่ผ่านมา ก็มีกำไรสุทธิรวมกว่า 1.23 แสนล้านบาท
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง