คณะทันตแพทย์ ม.อ. เร่งให้ความรู้ผู้ประกอบการสระว่ายน้ำ ปรับปรุงคุณภาพน้ำลดความเสี่ยงจากภาวะฟันกร่อน
ศาสตราจารย์เกียรติคุณทพญ.พจนรรถ เบญจกุล ภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.อ. ร่วมกับเทศบาลนครหาดใหญ่ทำการสำรวจผลกระทบจากการสึกกร่อนของฟันจากการว่ายน้ำในสระน้ำโดยการศึกษาระยะแรกได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำในสระว่ายน้ำในอำเภอหาดใหญ่โดยไม่แจ้งผู้ประกอบการล่วงหน้าพบว่า ร้อยละ 80 ของสระว่ายน้ำมีค่า pH ต่ำกว่า 5.5หรือมีค่าความเป็นกรดสูง ซึ่งค่า pH ดังกล่าวมีผลทำให้ฟันกร่อนได้ภายในเวลา2 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตามทีมวิจัยได้ทำสำรวจอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้แจ้งเตือนให้กับผู้ประกอบการได้รับทราบล่วงหน้าซึ่งผลทดสอบกลับพบว่า ผู้ประกอบการมีการเติมสารเคมีในสระว่ายน้ำเพิ่มเนื่องจากมีความเข้าใจว่า การสำรวจครั้งนี้ เป็นการวัดคุณภาพน้ำ ส่งผลให้น้ำในสระว่ายน้ำส่วนใหญ่มีค่าความเป็นกรดเพิ่มขึ้นอีก
“ค่าความเป็นกรดเป็นด่างที่มีความปลอดภัยได้มาตรฐานการใช้บริการจะต้องมีค่า pH อยู่ที่ 7-8 คือมีค่าความเป็นกลาง หรือค่อนไปทางความเป็นด่างเล็กน้อยซึ่งผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำได้ด้วยตัวเอง หากเกิดอาการแสบตาตาแดงหรือระคายเคืองตา สันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่า น้ำมีค่าความเป็นกรดสูงเกินไปแต่หากพบว่าขณะว่ายน้ำแล้วผิวลื่น สันนิษฐานได้ว่าน้ำมีค่าความเป็นด่างสูงเกินไป” ศาสตราจารย์เกียรติคุณทพญ.พจนรรถ กล่าว
สำหรับภาวะฟันกร่อนในผู้ใช้บริการสระว่ายน้ำส่วนใหญ่มักเกิดการกร่อนบริเวณฟันหน้าเนื่องจากเป็นบริเวณที่สัมผัสกับน้ำมากที่สุดซึ่งผู้ที่มีภาวะฟันกร่อนจะมีอาการเสียวฟันและฟันมีสีเหลืองเข้มจากชั้นเคลือบฟันถูกกัดกร่อนให้บางลงจนเห็นเนื้อฟัน อย่างไรก็ตามการป้องกันภาวะฟันกร่อนสามารถทำได้โดยการอมน้ำยาฟลูออไรด์ แต่กรณีที่มีปัญหารุนแรงสามารถพบแพทย์ทำการรักษาด้วยวิธีเคลือบฟันหรือครอบฟันได้
ศาสตราจารย์เกียรติคุณทพญ.พจนรรถ กล่าวว่า จากการสำรวจดังกล่าว คณะทันตแพทยศาสตร์ม.อ.จึงร่วมกับนครเทศบาลหาดใหญ่จัดอบรมให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการในการดูแลปรับปรุงสระว่ายน้ำได้ให้มาตรฐาน เพื่อลดสาเหตุการเกิดฟันกร่อนในผู้ใช้บริการซึ่งพบว่า ผู้ประกอบการพร้อมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีเพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้ใช้บริการได้เชื่อมั่นถึงมาตรฐานความปลอดภัยจากการให้บริการที่ดีขึ้น