ไบโอไทยจับตารัฐบาลผลักดัน
วันนี้ (30 ส.ค.2558) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงานว่า มูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย ตั้งข้อสังเกตการผลักดันจีเอ็มโอในช่วงรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า
1.มอนซานโต้และสภาธุรกิจสหรัฐฯเพิ่งเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยมอนซานโต้เสนอให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์ของภูมิภาค และ “นายกรัฐมนตรียินดีให้การสนับสนุน” และย้ำว่าต้องเป็น “เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ มีราคาที่ไม่แพง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี”
2.พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งรมว.เกษตรและสหกรณ์ แทนนายปิติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา โดยก่อนหน้านี้ พล.อ.ฉัตรชัย ดำรงตำแหน่ง “ประธานคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์เกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย” ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดแรกในสมัยรัฐบาลทหารที่เสนอให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย
ก่อนหน้านี้ มอนซานโต้และกลุ่มสนับสนุนจีเอ็มโอได้ผลักดันให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย ผ่าน 3 ช่องทางคือ
1.ผ่าน “ประธานคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์เกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจฯ” แต่มีเสียงคัดค้านจากประชาชน จนต้องจัดตั้ง “คณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์มาใช้ในประเทศไทย” เพื่อหาข้อยุติ และต่อมาคณะทำงานมีความเห็นอย่างเป็นเอกฉันท์ให้กลับไปใช้มติครม.เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550 ซึ่งมีการควบคุมการทดลองจีเอ็มโออย่างเข้มงวด
2.ประธาน ISAAA (International Service for the Acquisition of Agri-Biotech Application) ซึ่งเป็นองค์กรเคลื่่อนไหวที่สนับสนุนโดยบรรษัทข้ามชาติเข้าพบ เพื่อโน้มน้าวให้นายปิติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เห็นชอบกับการปลูกพืชจีเอ็มโอเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 แต่นายปิติพงษ์พ้นตำแหน่งไปเสียก่อน
3.มอนซานโต้และสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ (ซึ่งสนับสนุนให้ก่อตั้งขึ้นโดย ISAAA และ CropLife) ผลักดันให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)เห็นชอบ พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งมีเนื้อหาเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อมอนซานโต้ แต่สภาปฏิรูปแห่งชาติได้ถอนวาระการพิจารณาเรื่องดังกล่าวออกไปเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 เนื่องจากเห็นว่าเป็นการลักไก่เสนอวาระอย่างรีบเร่ง และมีเนื้อหาที่เปิดช่องให้บริษัทจีเอ็มโอไม่ต้องรับผิดชอบในกรณีที่เกิดผลกระทบ
แนวทางการผลักดันเพื่อให้มีการทดลองและปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยที่เป็นไปได้มากที่สุดและต้องจับตามมองมากที่สุดคือ รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำร่างพ.ร.บ.ที่ถูกสปช.ตีตก นำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เพื่อให้ความเห็นชอบออกเป็นกฎหมาย
จับตาว่าใครจะเป็นผู้เสนอร่างพ.ร.บ.จีเอ็มโอต่อสภาฯ เพื่อเปิดทางสะดวกให้มอนซานโต้ กลุ่มทุนสหรัฐ และยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์