ศปภ.คาด 2 สัปดาห์ควบคุมน้ำได้ทั้งหมด
หลังจาก ศปภ. เว้นช่วงการรายงานสถานการณ์อุทกภัยไป 2 สัปดาห์ เมื่อวานนี้ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ องค์การมหาชน หรือ สทอภ. ในฐานะคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรง และ โฆษก ศปภ. เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำในภาพรวมของทั้งลุ่มน้ำ ตั้งแต่ภาคเหนือตอนล่างถึงกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล ด้วยภาพถ่ายดาวเทียม พบว่า มีน้ำท่วมข้างอยู่ในพื้นที่ประมาณ 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากที่เคยมีสูงสุดถึง 16,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วงต้นเดือน ถึงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา น้ำจึงหายไป 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในช่วง 1 เดือนเศษ
โดยน้ำที่หายไปได้ลงสู่ทะเลใน2 เส้นทางหลัก คือ ส่วนใหญ่ 3 ใน 4 ลงแม่น้ำลำคลองตามธรรมชาติ ในแม่น้ำสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง และคลองอื่น ๆ และบางส่วนลงทะเล โดยดึงน้ำหลากเข้าสู่ระบบการผันน้ำลงทะเล และน้ำส่วนที่เหลืออยู่ในภาคเหนือตอนล่างตั้งแต่สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร ถึงนครสวรรค์ มีเพียงประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นน้ำค้างทุ่งเตรียมพร้อมไว้ใช้ทำนาที่จะมาถึง และ น้ำส่วนนี้ไหลลงมาไม่มากลงมาในลำน้ำจึงไม่ต้องกังวล
น้ำอีกส่วนที่ยังมีอยู่ทางเหนือของกรุงเทพฯคือน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก ในจังหวัดชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี มีเหลือ 1,900 ล้านลูกบาศก์เมตร จำนวนหนึ่งอาจหลากลงสู่พื้นที่จังหวัดปทุมธานีด้านตะวันออก แต่ส่วนใหญ่แบ่งเป็นน้ำค้างทุ่ง และน้ำที่ไหลลงมาตามลำน้ำ คือแม่น้ำเจ้าพระยา
ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ คาดว่า 2 ฝั่งกรุงเทพฯ และ ปริมณฑลเหลือน้ำหลากลงมาไม่เกิน 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะระบายลงทะเลไปจำนวนมาก ส่วนน้ำที่จะระบายลงมา 2 ฝั่ง ๆ ละประมาณ 700-800 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนหนึ่งจะเข้าสู่ระบบคลอง และการผันน้ำ การหลากลงมาโดยตรงเหลือน้อยมาก
สำหรับภาพรวมสถานการณ์น้ำขณะนี้จึงอยู่ในสภาวะที่ควบคุมได้แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกพื้นที่จะแห้ง เพียงแต่น้ำที่หลากมาส่วนใหญ่จะเข้าสู่ระบบคลอง เหลืออยู่บ้างทางฝั่งตะวันตก แต่สถิติปริมาณน้ำกำลังอยู่ในช่วงขาลงทั้งหมด และลดลงอย่างรวดเร็ว จากช่วงแรกที่ลดลงช้า จึงเป็นสัญญาณว่า สถานการณ์น่าจะกลับสู่สภาพปกติได้ค่อนข้างเร็ว และมั่นใจว่าจะไม่มีมวลน้ำก้อนใหม่อีก เพราะได้ผ่านจุดรุนแรงที่สุดมาแล้ว เหลือเพียงการกระจายน้ำไปในระดับพื้นที่
ขณะที่ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2554 พบว่า มีพื้นที่น้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ และ ปริมณฑลเหลือ 1.26 ล้านไร่ ลดลง 1.49 ล้านไร่ใน 2 สัปดาห์ โดยน้ำที่เคยน้ำท่วมมากมีพื้นที่น้ำท่วมขังลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน
ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ฝั่งตะวันตก ยอมรับว่า การระบายน้ำสู้ฝั่งตะวันออกไม่ได้ โดยมีพื้นที่น้ำท่วมขังลดลงจาก 0.96 ล้านไร่ เหลือเพียง 0.61 ล้านไร่ ใน 15 วัน หรือลดลงร้อยละ 36 มีพื้นที่น้ำแห้งไป 0.35 ล้านไร่ เพราะเครื่องมือในการจัดการน้ำฝั่งตะวันตก ได้แก่ ระบบคูคลอง ระบบคันกั้นน้ำ ระบบสูบน้ำ สถานีสูบน้ำขนาดใหญ่ มีน้อยกว่าและด้อยประสิทธิภาพกว่าฝั่งตะวันออก
สำหรับพื้นที่ฝั่งตะวันออกที่ยังมีน้ำท่วมขัง ได้แก่ เมืองเอก ดอนเมือง หลักสี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม การระบายน้ำต้องลงระบบคลองเปรมประชากร และคลองลาดพร้าว ส่วนพื้นที่รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยากำลังมีการระดมกำลังไปช่วยเมืองเอกเริ่มกระบวนการฟื้นฟูแล้วสามารถมีกระบวนการสูบน้ำออกเชื่อว่า ใช้เวลาไม่นานเพราะมีความเข้มแข็งในพื้นที่สูง
ขณะที่กรมชลประทานได้เข้าไปร่วมมือกับเทศบาลนครรังสิตจังหวัดปทุมธานี ชุมชนเชียงราก เชื่อว่า พื้นที่เหล่านี้จะแห้งขึ้นตามลำดับ ส่วนทุ่งรังสิตตอนในกำลังทยอยไล่น้ำทุ่งลงคลองรังสิตประยูรศักดิ์ อำเภอลำลูกกา ต่อเนื่องเขตสายไหม ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพราะอีก 2-3 วัน ระดับน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ และคลองหกวาสายล่างจะกลับเข้าสู่ตลิ่งทั้งหมด
ขณะนี้คันกั้นน้ำเริ่มโผล่ในหลายจุด เชื่อว่า อีก 3-4 วัน กระบวนการฟื้นฟูในระดับพื้นที่น่าจะทำได้ แต่ไม่ใช่แค่น้ำในลำคลองลดแล้ว พื้นที่หมู่บ้านและชุมชนจะต้องแห้ง เพราะต้องสูบน้ำท่วมขังออกด้วย ซึ่งต้องเริ่มดำเนินการ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่หลากน้ำอยู่แล้ว จึงไม่น่ากังวล นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็มีระบบป้องกันได้ดี
ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันตกเริ่มคลี่คลายการท่วมขังจะเริ่มคลี่คลายจากใต้ขึ้นเหนือเสมอ ฝั่งตะวันออกก็เช่นกัน พื้นที่นครปฐม พุทธมณฑล มีการคลี่คลายไล่ขึ้นไปถึงทุ่งด้านบน คือ บางกรวย บางบัวทอง ไทรน้อย ลาดบัวหลวง ซึ่งเริ่มแห้งเป็นส่วนใหญ่ แต่โดยรวมยังต้องใช้เวลาอีก 10 วัน พื้นที่ส่วนใหญ่น่าจะกลับเข้าสู่ระบบ เส้นทางน้ำสายหลักน่าจะกลับสู่ตลิ่ง กระบวนการสูบน้ำในระดับชุมชนน่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย ศปภ.จะสนับสนุนผ่าน ศปภ.จังหวัด ซึ่งรู้จักพื้นที่ดี