ยื่นนายกฯ 2.7 หมื่นรายชื่อ ค้านเหมืองแร่ทองคำ 12 จังหวัด จี้หยุดสัมปทานทันที
วันนี้ (22 ก.ย.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่มชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมายเหมืองทองคำ 12 จังหวัด ในนามประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.) ได้เดินทางมารวมตัวบริเวณสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) เพื่อนำรายชื่อผู้คัดค้านนโยบายขยายพื้นที่เหมืองแร่ทองคำทั้งสิ้น 27,522 รายชื่อ ยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ขณะที่ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งจะยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือแผนการอพยพชาวบ้านรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี ออกนอกพื้นที่ หลังจากกลุ่มชาวบ้านเห็นว่าภาครัฐไม่ได้จริงจังกับการแก้ไขปัญหาสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนสารโลหะหนัก และมีรายงานผลการศึกษามาตั้งแต่เดือนมกราคม 2558
น.ส.สื่อกัญญา ธีรชาติดำรง แกนนำชาวบ้านกล่าวว่า การยื่นหนังสือในครั้งนี้มี 3 ข้อ คือ 1.ให้รัฐบาลเร่งอพยพชาวบ้านรอบเหมืองแร่ทองคำออกจากพื้นที่โดยด่วน เนื่องจากมีเอกสารยืนยันจากมหาวิทยาลัยรังสิตว่าได้รับสารโลหะหนักเกินค่ากำหนด และหากอาศัยอยู่ต่อไปจะเป็นอันตราย 2.ให้รัฐบาลสั่งยับยั้งหรือหยุดการสัมปทานเหมืองแร่และหยุดยั้งการระเบิดปากเหมืองเฟสใหม่ และ 3.ให้ตั้งงบประมาณช่วยเหลือและฟื้นฟูชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยเร่งด่วน
ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าได้ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ไปศึกษาข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ผลดีผลเสียก่อนเปิดสัมปทานเหมืองทองคำใน 12 จังหวัดแล้ว เนื่องจากขณะนี้มีกระแสคัดค้าน โดยไม่ยืนยันว่าจะยุติการให้สัมปทานเหมืองทองคำหรือไม่ ส่วนการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนเรื่องเหมืองทองคำ ขณะนี้ต้องยกเลิกไปก่อน โดยยืนยันจะรับฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วนอย่างรอบด้านทั้งภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้ประกอบการ ส่วนความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ.เหมืองแร่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา
สำหรับนโยบายเหมืองแร่ทองคำ 12 จังหวัด ได้แก่ เลย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี ระยอง จันทบุรี สระแก้ว สุราษฎร์ธานี และสตูล