ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กทม.ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ "สายไหม-ทวีวัฒนา"

สังคม
19 ธ.ค. 54
00:54
18
Logo Thai PBS
กทม.ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ "สายไหม-ทวีวัฒนา"

สถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัยไม่นับรวมพื้นที่ภาคใต้รวม 8 จังหวัด โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่สายไหม และ ทวีวัฒนา

ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยกรุงเทพมหานคร ระบุว่า สถานการณ์น้ำในกรุงเทพมหานคขณะนี้ มีน้ำเหนือ ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำที่ อำเภอบางไทร 1.63 เมตร ลดลง 1 เซนติเมตร ส่วนน้ำทุ่งระดับน้ำคลองหกวาสายล่าง ที่ประตูระบายน้ำคลองสอง ลดลง 5 เซนติเมตร ระดับน้ำคลองมหาสวัสดิ์ ที่ประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนา ลดลง 5 เซนติเมตร ด้านดอนเมือง ลดลง 4 เซนติเมตร

 
ภาพรวมระดับน้ำในคลองต่างๆ ฝั่งธนบุรี ลดลง 4 เซนติเมตร ขณะที่ระดับน้ำในคลองสายหลักฝั่งพระนคร ลดลง 2-7 เซนติเมตร ภาพรวมสถานการณ์ใน กทม.ดีขึ้นตามลำดับ ถนนสายหลักทุกสายไม่มีปัญหาน้ำท่วม แต่ยังคงมีปัญหาน้ำท่วมขังบางส่วนในพื้นที่เขตสายไหม และ บางส่วนในพื้นที่เขตทวีวัฒนา
 
นายวสันต์ มีวงศ์ โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า นอกจากปัญหาการระบายน้ำ กรุงเทพมหานครยังเร่งดำเนินการจัดการปัญหาขยะ โดยตั้งเป้าจะเก็บขยะให้หมดภายในวันที่ 23-24 ธันวาคม นี้ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการจ้างบริษัทเอกชน มาช่วยในการเก็บขยะ และได้ให้งบประมาณสำนักงานเขตเขตละ 2 ล้านบาท ในการดำเนินการ
 
โดยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาสามารถจัดเก็บขยะได้ 14,000 ตัน จากปกติเพียง 8,500 ตันต่อวันเท่านั้น และยอมรับว่า จำนวนขยะที่มีขณะนี้ มากกว่าจำนวนคนที่ทำงานซึ่งเขตดอนเมืองเป็นพื้นที่ที่ขยะมากที่สุดต้องใช้เจ้าหน้าที่จาก 10 สำนักงานเขต เข้าไปร่วมดำเนินการ และล่าสุดเหลือเขตที่ต้องเก็บขยะไม่ถึง 10 เขต อาทิ เขตบางแค เขตหนองแขม และ กทม. ฝั่งเหนือ
 
โฆษกกรุงเทพมหานครฝากขอความร่วมมือประชาชน ที่จะทิ้งขยะให้นำมาวางไว้ริมฟุตบาธ ริมถนนสายหลัก หรือ จุดรวมขยะของชุมชน สำหรับบิ๊กแบ็กได้นำมารวมไว้ริมถนน เพื่อไม่ให้กีดขว้างการจราจรแล้ว ซึ่งบิ๊กแบ็กเป็นขยะ ไม่อันตราย จึงจะเก็บขยะทั่วไปก่อน และค่อยมาเก็บบิ๊กแบ็กภายหลัง ซึ่งถือว่าเป็นความรับผิดชอบของ กทม
 
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยขณะนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบอยู่อีก 8 จังหวัด ไม่นับรวมพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 1,590,346 ครัวเรือน 572 ตำบล 74 อำเภอ จำนวนผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์อุทกภัย 730 ราย สูญหาย 3 คน
 
ด้านนายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน. ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านการวางแผนและกำหนดมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้น เปิดเผยว่า คณะทำงานได้จัดแผนพร้อมกำหนดกรอบทำงานในระยะเร่งด่วนไว้แล้วถึง 5 แผน ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะสั้น และได้ดำเนินการไปได้จำนวนมากแล้ว
 
โดยกำหนดให้เป็นแผนปฎิบัติการ 5 แผน ประกอบด้วย แผนที่ 1 แผนเรื่องการส่งน้ำต้นฤดูกาลที่ต้องให้ประชาชนรับรู้การส่งน้ำจากเขื่อน , แผนที่ 2 ปรับปรุงอาคารบังคับน้ำที่เสียหาย พร้อมทำความสะอาดคูคลอง, แผนที่ 3 กำหนดที่ที่มีความเสี่ยงสูง ในการที่จำนำน้ำเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งบางแห่งจะเป็นพื้นที่สาธารณะโดยเรื่องนี้จะต้องกำหนดพร้อมมาตรการให้ความช่วยเหลือ, แผนที่ 4 การแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดเช่น ชุมชนที่น้ำท่วมบ่อย และ แผนที่ 5 แผนในการบริหารจัดการน้ำเร่งด่วนที่จะต้องยังต้องหารือเพิ่มเติม
 
สำหรับระยะเวลาในการนำแผนดังกล่าวไปปฎิบัตินั้นนายปิติพงศ์กล่าวว่า ต้องทำให้ทันฤดูกฝนปี 2555 ส่วนจะรับมือได้หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน โดยในสัปดาห์นี้ กยน.จะประชุมร่วมกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อีกครั้ง คาดว่า นายกรัฐมนตรีจะประกาศแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำในระยะเร่งด่วนด้วย
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง