“หว่ามก๋อ” พายุลูกสุดท้าย ทิ้งทวนก่อนเข้าสู่ภัยแล้ง ทำให้เกิดฝนตก-น้ำท่วมหลายพื้นที่จ.ชลบุรี ปริมาณวัดได้มากถึง 130 ม.ม. แต่กลับไม่ได้ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นมากนัก ส่งผลให้ปี 2559 อาจยังต้องเผชิญกับภัยแล้งอีกอย่างแน่นอน ขณะที่ภาคเหนืออากาศเย็นจากจีนเริ่มปกคลุมลงมาแล้วตั้งแต่ปลายเดือนก.ย.-ต.ค.
“หว๋ามก๋อ” พายุลูกสุดท้ายของปีนี้
นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้สัมภาษณ์ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ถึงสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศไทย หลังจากพายุหว่ามก๋อผ่านไปแล้ว ว่า ไทยยังพอมีโอกาสที่จะมีพายุเข้ามาอีก ในช่วงกลางเดือนกันยายน-ตุลาคม หากเลยช่วงตุลาคมไปแล้วพายุจะเข้าภาคกลางและภาคตะวันออก ส่วนภาคเหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีโอกาสน้อย เพราะอากาศเย็นจากจีนจะเริ่มปกคลุมลงมา อากาศในช่วงนี้จึงไม่เอื้อให้พายุที่เกิดขึ้นเหนือทะเลเคลื่อนตัวขึ้นสู่บริเวณประเทศไทยตอนบน จึงควรเก็บสะสมน้ำไว้ เพราะหลังจากเดือนตุลาคมไปแล้ว พายุมีโอกาสเข้าสู่ภาคใต้มากขึ้น
ปกติประเทศไทยจะมีพายุเคลื่อนผ่านโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 3 - 4 ลูก ส่วนบริเวณที่พายุมีโอกาสเคลื่อนผ่านเข้ามามากที่สุดคือ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ปี 2554-2557 พายุเขตร้อนที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยมีทั้งหมด 4 ลูก ซึ่งมีทั้งพายุดีเปรสชั่นและพายุโซนร้อน
นายวันชัยกล่าวว่า พายุที่เข้ามาจะสามารถช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่พายุเข้ามากกว่า หากเข้าบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่จ.หนองคาย เลย เชียงราย เชียงใหม่ จะทำให้เกิดปริมาณน้ำที่ค่อนข้างเป็นกอบเป็นกำ พายุลูกเดียวหากเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว อาจจะช่วยแก้วิกฤตได้ เพราะบริเวณนั้นมีเขื่อนสำคัญขนาดใหญ่อยู่ แต่น้ำก็อาจไม่เต็มเขื่อน
“ในสัปดาห์นี้ โอกาสที่พายุจะเข้าไทยแทบจะไม่มีเลย ไทยยังได้ฝนจากร่องมรสุมเพียงอย่างเดียว ปริมาณน้ำที่ได้จึงไม่มากนัก ฝนตกทั้งคืน อาจจะได้เพียง 5-10 มิลลิเมตร เท่านั้น เพราะส่วนใหญ่จะซึมลงไปใต้ดิน ฝนทุกมิลลิเมตรที่ตกลงมามีผลต่อน้ำในเขื่อนทั้งนั้น แต่ถ้าตกลงมาน้อย มันจะซึมลงไปเป็นน้ำใต้ดิน ทำให้น้ำใต้ดินมากขึ้น น้ำใต้ดินก็จะไหลลงเขื่อนด้วย เพียงแต่มีจำนวนน้อย” นายวันชัยกล่าว
นายวันชัยกล่าวอีกว่า คงต้องลุ้นกันว่า สิ้นเดือนกันยายนจะมีฝนเพิ่มมากน้อยแค่ไหน ส่วนร่องความกดอากาศต่ำจากพม่ากับลาวจึงจะขยับเข้ามาประเทศไทยปลายเดือนกันยายน ยิ่งอากาศหนาวเข้ามาเร็ว ประเทศไทยตอนบนก็จะมีฝนตกน้อยลง หากฝนเข้ามาน้อยจริงๆ พื้นที่ที่เดือดร้อนคือ ภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวต้องใช้น้ำ น้ำที่กักเก็บไว้ในเขื่อนก็มีน้อย เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนก็ควรช่วยกันประหยัดน้ำ
ส่วนกรุงเทพมหานครมีการใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก จึงต้องบริหารจัดการน้ำให้ดี ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเรื่องการใช้น้ำในช่วงปลายแล้งหน้า ตอนนี้อาจจะยังเห็นไม่ชัดแต่ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน อาจจะมีปัญหาเรื่องน้ำที่ปล่อยลงมา ต้องดูอุปสรรคระหว่างนั้น ที่อาจทำให้ต้องสูญเสียน้ำที่เก็บไว้ เช่น มีการเรียกร้องให้ปล่อยน้ำเพื่อช่วยชาวนา ทำให้น้ำส่วนกลางหายไปการบริหารจัดการก็ยากขึ้น เป็นต้น
ประเทศไทยอยู่ในช่วง “เอลนีโญ”
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ประเทศไทยเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ คาดว่าอาจจะยาวไปจนถึงเดือนมีนาคม-เมษายน 2559 สำหรับปรากฏการณ์เอลนีโญจะเกิดขึ้นช่วง 12-18 เดือน เอลนีโญที่มีขนาดปานกลางหรือรุนแรง จะเกิดขึ้นไม่สม่ำเสมอ เฉลี่ยประมาณ 5 – 6 ปีต่อครั้ง ปีนี้ถือว่าแล้งมาก ถ้าเทียบกับปี 2535 ปี 2540 ปี 2550 และปีนี้ทีดูแล้งหนัก เพราะ 2557 แล้งมาแล้ว ทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำ ในเขื่อนมีค่อนข้างน้อย และปี 2558 ก็มีฝนตกลงมาน้อย ทำให้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำในเขื่อนมีน้อย แทนที่พายุจะเข้าภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลับเข้าที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำที่ไม่ใหญ่ เราจึงต้องนำน้ำจากปี 2557 มาใช้ปี 2558 ถึงต้นปี 2559 ก็น่าจะต้องมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ
ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ในรอบ 30 ปี ร้อยละ 15 ภาคกลางประมาณร้อยละ 10 สำหรับการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ต้องดูจากหลายปัจจัย ปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา ในแต่ละช่วงฤดูจะเป็นไปตามวัฐจักรของมัน เพียงแต่ปีไหนมากปีไหนน้อย ปีนี้เอลนีโญมีความรุนแรงค่อนข้างมาก เพราะค่าเฉลี่ยฝนทั่วประเทศเพียงร้อยละ 10
นายวันชัยกล่าวอีกว่า สำหรับปริมาณน้ำตอนนี้เพียงพอสำหรับใช้รักษาระบบนิเวศ และอุปโภคบริโภค แต่ไม่เพียงพอสำหรับใช้เพื่อเกษตรกรรม และประชาชนก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำ รวมถึงเลือกปลูกพืชที่เหมาะสม ใช้น้ำน้อย เพราะหากหมดช่วงหน้าหน้าฝนเดือนตุลาคมไปแล้ว คงต้องใช้น้ำจากเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำเพียงอย่างเดียว ฤดูฝนปีหน้าจะเริ่มอีกครั้งกลางเดือนพฤษภาคม หรืออีกประมาณ 6 เดือน หลังจากนี้เท่ากับว่า น้ำที่มีตอนนี้ ต้องเก็บใช้ไปอีก 6 เดือน หากไม่ประหยัดไว้ ใช้เกินที่กำหนด ก็จะเกิดผลกระทบไปถึงหน้าแล้งปี 2559 อย่างแน่นอน
“ควรมีการรณรงค์การใช้น้ำอย่างต่อเนื่อง อาจต้องใช้แก้มลิง อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ ตามโครงการพระราชดำริที่ใช้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โดยแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน ส่วนหนึ่งทำแหล่งน้ำ ส่วนอื่นก็ใช้ปลูกพืช ทุกวันนี้เรารอแต่น้ำจากธรรมชาติ กับน้ำชลประทานที่ปล่อยมาจึงลำบาก เรื่องของต้นไม้ที่น้อยลง ต้นไม้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่สำคัญ ต้องช่วยการรักษาเอาไว้” อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าว
สำหรับข้อมูลของกรมชลประทาน (วันที่ 23 ก.ย.255) ระบุ ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักซึ่งเป็นน้ำต้นทุนของภาคกลาง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนภูมิพล 1185.33 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 2576.91 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 338.27 ล้าน ลบ.ม.และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 274.19 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้รวมกันอยู่ที่ 2,589 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 911 ล้าน ลบ.ม.
ยไมพร คงเรือง
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์
ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl