นายกฯ วอนม็อบต้านในสหรัฐฯ ไม่ทำไทยเสียชื่อเสียงระหว่างร่วมประชุมสมัยสามัญยูเอ็น ครั้งที่ 70
วันนี้ (25 ก.ย. 2558) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า ระหว่างวันที่ 14 - 30 ก.ย. 2558 ตนมีโอกาสเดินทางเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฯ ซึ่งจะใช้โอกาสนี้กล่าวถ้อยแถลงย้ำเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่จะร่วมมือกับสหประชาชาติ เพื่อรักษา 3 เสาหลักของการพัฒนา โดยจะเสนอประสบการณ์ของไทยในการขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจ และมีอัตราการว่างงานน้อยที่สุดมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน จากการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่รัฐบาลนำมาปฏิบัติประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินมานานกว่า 40 ปี และบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติทุกฉบับที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นรากฐานสำคัญในการกำหนดวิสัยทัศน์ประเทศ 5 ปี ของรัฐบาล
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มว่า สำหรับการเยือนครั้งนี้ ตนยังเป็นตัวแทนประเทศไทย รับมอบรางวัลการพัฒนาดิจิทัลอย่างยั่งยืนระดับโลก (ITU global) จากเลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ในฐานะที่เป็นประเทศไทยของเราให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาประเทศด้วย
“สำหรับกรณีที่จะมีคนออกมาชุมนุมต่อต้าน ในระหว่างที่ผมปฏิบัติภารกิจนั้น ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ขอร้องว่าการเดินทางไปของผมครั้งนี้ ไม่ได้ไปในฐานะส่วนบุคคลแต่เป็นตัวแทนของประเทศ อะไรก็ตามที่จะเป็นการทำลายชื่อเสียงของประเทศชาติ ผมเชื่อมั่นทุกคน มีความปรารถนาดี มีความรักชาติรักแผ่นดินเหมือนกัน หวังดีต่อประเทศก็คงไม่ทำในสิ่งเสียหาย สำหรับกลุ่มที่จะออกมาให้กำลังใจผมก็ขอบคุณ และที่ผ่านมาประเทศไทยกำลังดีขึ้นในทุกด้าน” นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขณะนี้ รัฐบาลได้ผนวก 11 ประเด็นปฏิรูปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ากับข้อเสนอเดิม 36 ประเด็นปฏิรูป กับอีก 7 ประเด็นพัฒนา ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รวมทั้งนโยบายใหม่ๆ ของรัฐบาล กำหนดออกมาเป็นแนวทางบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อจะเป็นเข็มทิศการเดินหน้าประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเพิ่มว่า นอกจากนี้ จะยึดกรอบแนวคิดและหลักการในการวางแผนที่สำคัญ คือ 1.การน้อมนำและประยุกต์หลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง 2.ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม 3.การสนับสนุนและส่งเสริมแนวคิดการปฏิรูปประเทศ และ4.การพัฒนาสู่วิสัยทัศน์ของประเทศ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
“ปัจจุบันแผนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะประกาศใช้ในเดือน ต.ค. 2559 โดยนำผลการประเมินตามแผนพัฒนาฯ ฉบบัที่ 11 และข้อเสนอในการประชุมประจำปี ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นข้อมูลพื้นฐาน” นายกฯ ระบุ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต่อจากนี้อยากให้คนไทยให้คำว่า “ประชารัฐ” แทนคำว่า “ประชานิยม” เพราะหลายโครงการเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ประชานิยมที่มีประโยชน์ก็ยังมีอยู่แต่ต้องไม่สร้างภาระ และสามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่สิ่งใดก็ตามที่จะต้องเป็นภาระมาก ๆ อยากให้ใช้คำว่าเป็นประชารัฐดีกว่า จะได้ร่วมมือกันทั้ง 2 ฝ่าย รัฐบาลจะเป็นผู้อำนวยความสะดวก สนับสนุน เปิดช่องทางให้เอกชน ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมตามกระบวนการประชาธิปไตย ลดความขัดแย้งในการบริหารงานต่างๆ ระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลนี้ตั้งใจมั่นในการที่จะดูแลและห่วงใยทุกคน คนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียม
“การทำงานพัฒนาอย่างยั่งยืนคือการสร้างเครือข่ายประชารัฐในทุกด้าน ซึ่งจะทำให้เป็นกลไกสำคัญ เชื่อมโยงเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินยุคปัจจุบัน อาจจะเรียกว่ายุคใหม่ ช่วยให้มีการบริหารจัดการงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ ดูแลทรัพย์สินและกิจการต่าง ๆ ของชุมชนให้ใช้ประโยชน์สูงสุด” นายกฯ กล่าว