จับตามติ ครม.พิจารณาให้
นายพรเทพ เตชะไพบูย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม.ได้เจรจากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อต่อสัญญามาแล้ว 4 ครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะการรถไฟแห่งประเทศไทยมีแนวโน้มจะไม่ยอมต่อสัญญา และ จะเข้ามาบริหารดูแลตลาดนัดจตุจักรเอง ซึ่งก่อนหน้านี้การรถไฟได้เสนอคาเช่าพื้นที่ให้ กทม.ปีละ 429 ล้านบาท แต่ กทม.สามารถเช่าได้เพียง 79 ล้านบาทต่อปี ซึ่ง กทม.ต้องการคงความเป็นเอกลักษณ์ของตลาดนัดจตุจักรไว้ไม่ได้คำนึงถึงผลกำไรที่ได้รับเท่าไหร่นัก จึงเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้พิจารณาทบทวนเรื่องดังกล่าว โดยให้ยึดตามมติ ครม.ปี 2525 ในการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักร
ทั้งนี้ กทม.อ้างถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 281 ที่บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดบริการสาธารณะ อีกทั้งยังอ้างถึง มติ ครม.ปี 2522 และ ปี 2525 ที่ให้สิทธิ กทม.บริหารจัดการตลาดนัดจตุจักร
ขณะที่วันที่ 27 ธ.ค. 2554 กระทรวงคมนาคมจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการบริหารตลาดนัดจตุจักรเอง โดยจัดตั้งบริษัทลูกเหมือนกับที่ตั้งบริษัท รถไฟฟ้า รฟท.จำกัด ดูแลการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการรถไฟฯตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2555 และ แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการตลาดนัดจตุจักร 8 คณะ โดยมีรองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศเป็นประธาน และ มีคณะทำงาน ด้านสัญญา เจรจาค่าเช่า และ ทำสัญญา คณะทำงานด้านเก็บเงินรายได้ คณะทำงานด้านกฎหมาย คณะทำงานด้านจัดระเบียบแผงค้า เป็นต้น
นอกจากนี้เพื่อให้การจัดระบบเป็นไปด้วยความเรียบร้อยการรถไฟฯ จะยกเว้นค่าเช่าให้ผู้ค้าเป็นเวลา 2 เดือน หลังหมดสัญญา โดยระหว่างนี้การรถไฟฯ จะต้องขอความร่วมมือจากผู้ค้าทุกคน ให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการดูแลการบริหารงานตลาดนัดจตุจักร ร่วมกันคณะกรรมการตลาดนัดจตุจักรทั้ง 8 คณะ
ด้านผู้บริหาร กทม.ระบุว่า จะรอความชัดเจนขอมติคณะรัฐมนตรีในวันนี้หากมีมติให้การรถไฟฯบริหารกรุงเทพมหานครจะยังสามารถบริหารตลาดนัดจตุจักรได้อีก 6 เดือน ก่อนที่จะยื่นขอให้ทบทวนมติดังกล่าวอีกครั้ง