ลั่นทุ่ง : ฟื้นฟูศิลปะการแสดงพื้นเมืองน่าน
การพัฒนาท่ารำในปัจจุบัน ทำให้ฟ้อนล่องน่านในงานบุญหรืองานสำคัญๆ เคลื่อนไหวได้อ่อนช้อยงดงามขึ้น หากยังคงเห็นท่วงท่าที่ประยุกต์จากความเป็นมา ที่คนในอดีตฟ้อนผ่อนคลายบนเรือระหว่างล่องตามลำน้ำน่าน ครั้งย้ายเมืองจากวรนครหรือเมืองปัวมายังภูเพียงแช่แห้ง และดัดแปลงจากฟ้อนเจิงที่ฝ่ายชายใช้ฟ้อนบนเรือแข่ง แสดงกับวงกลองล่องน่าน
การแสดงทางวัฒนธรรมนี้ ยังคงเป็นอีกสัญลักษณ์ของประเพณีการแข่งเรือเมืองน่าน ที่กลุ่มนาฏยเภรี สะหรีเชียงกลาง รวมมิตรคนรักศิลปพื้นบ้าน ฝึกหัดเยาวชน
เดิมการตีกลองปูจาหรือกลองบูชาแสดงศรัทธาที่มีต่อพระศาสนา ย้ำว่าวันรุ่งขึ้นเป็นวันพระมีหลายทำนอง ถ่ายทอดกันแบบมุขปาฐะ จนหลายปีมานี้มีผู้รู้สืบค้นบันทึกเป็นโน้ตหรือบทระบำให้ง่ายต่อการฝึกสอน พร้อมประยุกต์กลองปูจามาแสดง คือหนึ่งในศิลปพื้นบ้านที่เยาวชนได้รับการถ่ายทอด ภายในลานวัดน้ำคาทุกเย็นหลังเลิกเรียน ซึ่งไม่เพียงแสดงได้ หากยังเข้าใจในแบบแผนธรรมเนียมประเพณีที่มาของดนตรี
2 ปีนับจากกลุ่มนาฏยเภรี สะหรีเชียงกลาง เริ่มฟื้นฟูศิลปการแสดงพื้นบ้าน ทำควบคู่กับโครงการจิตอาสา ตีกลองปูจาทุกๆ วันโกน เวียนไป 12 วัดใน อ.เชียงกลาง หวังให้ชุมชนได้เห็นคุณค่าของดนตรีในวิถี ที่ฝังแน่นกับศรัทธาคนน่านและล้านนา
ทั้งนี้ กลองปูจาที่นำมาใช้สำหรับการแสดง จะต่างกันกับกลองที่อยู่บนหอกลองในวัดที่ขนาดและทำให้สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย เพียงแต่วิธีการตีเหมือนกัน และไม่ได้นำไปตีได้ทุกงาน ยังเลือกตีเฉพาะงานบุญในวัดหรือกิจกรรมทางวัฒนธรรมชุมชนเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นดนตรีพุทธบูชา