ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

น้ำมันจะ "ถูกหรือแพง"...ขึ้นกับอะไร?

6 ม.ค. 55
14:38
647
Logo Thai PBS
น้ำมันจะ "ถูกหรือแพง"...ขึ้นกับอะไร?

โดย บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด

ถ้าหากจะนึกถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง คงเป็นสิ่งแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง เพราะเราหลายคนต้องไปต่อคิวเติมน้ำมันตอนดึกๆ ก่อนวันที่ราคาน้ำมันจะขึ้น

น้ำมันเชื้อเพลิงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากในหลายๆ ด้าน เช่น

 -ราคาน้ำมัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของตะกร้าสินค้าที่นำมาคำนวณอัตราเงินเฟ้อ 
 -ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิกว่าวันละเฉลี่ย 800,000 บาร์เรล คิดเป็นมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาทใน 10 เดือนแรกของปีนี้ หรือมากกว่า 9% ของจีดีพีไทย 
 -หุ้นในกลุ่มพลังงาน มีสัดส่วนมากถึง 30% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 
 -ตลาด TFEX ก็ได้เปิดให้ซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าโดยอ้างอิงกับราคาน้ำมันดิบ Brent เมื่อ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา

ดังนั้น การเข้าใจแนวโน้มราคาน้ำมัน น่าจะมีประโยชน์ในการลงทุนบ้างไม่มากก็น้อย

ก่อนอื่นขอเกริ่นก่อนว่า น้ำมันที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ หมายถึง น้ำมันดิบครับ ซึ่งก็คือ น้ำมันที่ถูกขุดขึ้นมาใหม่ๆ จากแหล่งผลิตโดยยังไม่ได้ผ่านกระบวนการใดๆ ส่วนน้ำมันที่เราใช้เติมเป็นเชื้อเพลิงรถยนต์นั้นเป็น ‘น้ำมันสำเร็จรูป’ ชนิดหนึ่ง ซึ่งได้ผ่านกระบวนการผลิตและปรับปรุงคุณภาพมาแล้วหลายขั้นตอน (ส่วนน้ำมันอื่นๆ เช่น น้ำมันตับปลา น้ำมันมวย น้ำมันเซียงเพียวอิ๊ว เป็นคนละตลาดกับผลิตภัณฑ์จากน้ำมันดิบครับ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบทความนี้แต่อย่างใด) และโดยธรรมชาติแล้ว น้ำมันดิบจากแต่ละแหล่งทั่วโลก จะมีความแตกต่างกันในด้านคุณภาพอยู่บ้าง แต่โดยรวมก็ถือว่า มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน สามารถใช้ทดแทนกันได้ จึงนับว่า น้ำมันดิบเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) ชนิดหนึ่ง ราคาน้ำมัน จึงถูกขับเคลื่อนด้วยความคาดหวังเกี่ยวกับอุปสงค์-อุปทาน (Supply-Demand) เป็นหลัก

ปัจจุบันนี้ ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกอยู่ที่ประมาณวันละ 88-89 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ต่อไปขอใช้คำย่อว่า mb/d ที่มาจาก Million of Barrels per day) และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 1.7%-2.0% โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาน้ำมัน ได้แก่

ปัจจัยด้านอุปสงค์ของน้ำมัน (Demand Side) ขึ้นอยู่กับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก โดยประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ที่ใช้น้ำมันคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 25% ของปริมาณการใช้ทั่วโลกในแต่ละวัน ส่วนประเทศที่มีการบริโภคน้ำมันมากเป็นอันดับสอง ก็คือ จีน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ การเติบโตของการบริโภคน้ำมันจะมาจากจีนเป็นส่วนใหญ่  โดยข้อมูลในอดีตบ่งชี้ว่าปริมาณการใช้น้ำมันมีความสัมพันธ์กับอัตราการเติบโตของ GDP ค่อนข้างมาก ทำให้เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาดีกว่าที่คาด ก็มักจะส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันอยู่เสมอ  ดังนั้น การติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก จึงเป็นสิ่งสำคัญในการประเมินแนวโน้มราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ในอนาคต (ระยะยาวๆ) มีโอกาสที่ความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจโลกกับปริมาณการใช้น้ำมันจะลดน้อยลง เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยประหยัดการใช้น้ำมัน รวมทั้งการคิดค้นหาแหล่งพลังงานทางเลือกชนิดอื่นมากขึ้น

ปัจจัยด้านอุปทานของน้ำมัน (Supply Side) คือ ปริมาณที่ผลิตออกมาได้จากแหล่งขุดเจาะทั่วโลก โดยประเทศที่สามารถผลิตน้ำมันได้มากที่สุด ได้แก่ รัสเซีย 12% ซาอุดิอาระเบีย 10.6% และ สหรัฐอเมริกา 9% ของการผลิตน้ำมันทั่วโลก  

เมื่อเอ่ยถึงผู้ผลิตน้ำมัน ท่านคงจะคุ้นเคยกับกลุ่มโอเปค (Organization of the Petroleum Exporting Countries, OPEC) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ 12 ประเทศ โดยมีหัวหน้าใหญ่ คือประเทศซาอุดิอาระเบียที่ผลิตน้ำมันได้วันละกว่า 9.45 mb/d (10.6% ของปริมาณการผลิตทั่วโลก) 

กลุ่มโอเปคนี้ ดูคล้ายว่า จะเป็นผู้ที่มีอำนาจควบคุมราคาน้ำมันได้ ด้วยการเพิ่ม/ลด โควต้าการผลิตน้ำมันภายในกลุ่ม แม้ว่าจริงๆ แล้วกำลังผลิตน้ำมันดิบของโอเปคนั้น คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 40% ของการผลิตน้ำมันทั้งโลก แต่ด้วยความที่ประเทศนอกกลุ่มโอเปคนั้น ได้ใช้กำลังผลิตน้ำมันเต็มที่แล้ว และยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำมัน จึงต้องสั่งซื้อน้ำมันจากกลุ่มโอเปคเพิ่มเติมวันละกว่า 30 mb/d ในขณะที่กลุ่มโอเปคยังมีกำลังผลิตส่วนเกินอีกระดับหนึ่งเรียกว่า Spare Capacity จึงมีความยืดหยุ่นที่จะปรับปริมาณการผลิตน้ำมันให้เหมาะสมกับความต้องการใช้น้ำมันในช่วงเวลาหนึ่งๆ นอกจากนี้ กลุ่มโอเปคนั้นมีปริมาณน้ำมันสำรองสูงสุดในโลกด้วย

ปริมาณ Spare Capacity ของโอเปคค่อนข้างจะมีผลต่อราคาน้ำมันมาก เช่น ในช่วงปี 2003-2008 Spare Capacity ได้ลดลงไปต่ำที่ระดับ 1-2 mb/d ทำให้บรรดานักวิเคราะห์หลายแหล่งคาดการณ์ว่า ปริมาณ Spare Capacity เพียงน้อยนิดจะไม่เพียงพอรองรับความต้องการใช้น้ำมันได้แล้ว ทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นไปสูงเกือบ $150/บาร์เรลในปี 2008   อย่างไรก็ตาม ระดับ Spare Capacity ในปัจจุบันได้ขึ้นมาอยู่ที่ 3 mb/d และนักลงทุนก็เลิกกังวลแล้วว่า โลกจะมีน้ำมันไม่พอใช้ (อย่างน้อยก็ในระยะสั้น)

แต่ไหนแต่ไรมา ปัจจัยที่สร้างความกังวลต่อความสามารถในการผลิตน้ำมัน ก็คือ เหตุการณ์ความเสี่ยงทางด้านการเมืองของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (Geopolitical Risk) ไม่ว่าจะเป็น ลิเบีย อิหร่าน เป็นต้น และมักจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะนักลงทุนมักจะกังวลว่า เหตุการณ์จะบานปลายออกไปอยู่เสมอ และทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นมากในระยะสั้น และนอกจากความเสี่ยงทางการเมืองแล้ว เหตุการณ์อื่นๆ ที่มีผลต่อการผลิตน้ำมัน ได้แก่ ภัยธรรมชาติ ภูมิอากาศที่แปรปรวน รวมทั้งอุบัติเหตุเกี่ยวกับระบบผลิตและระบบขนส่งน้ำมัน ซึ่งมักจะทำให้ราคาน้ำมันในภูมิภาคนั้นๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้

ข้อมูลสำคัญอีกตัวหนึ่งก็คือ รายงานปริมาณสำรองน้ำมัน (Stock) ในแต่ละภูมิภาค เช่น สหรัฐอเมริกา จะมีรายงานการเปลี่ยนแปลงปริมาณสำรองน้ำมันทุกสัปดาห์ โดยหน่วยงาน EIA (U.S. Energy Information Administration) ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว ผู้ผลิตน้ำมันจะมีการสำรองน้ำมันในระดับต่างๆ กัน ในแต่ละช่วงของปี เช่น ผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ จะสำรองปริมาณน้ำมันไว้ค่อนข้างมากในช่วงต้นปี เพื่อรองรับปริมาณการใช้น้ำมันที่จะมากขึ้นในช่วงกลางปีจากฤดูกาลขับขี่ (Driving Season) ต่อไปจนถึงปลายปีที่ต้องใช้พลังงานมากขึ้นในช่วงหน้าหนาว และจะค่อยๆ ทยอยลดปริมาณสำรองไปจนสิ้นปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณสำรองน้ำมันอาจจะเพิ่มขึ้น (ลดลง) มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ตามปกติในบางช่วง ก็จะมีผลต่อราคาน้ำมันในช่วงสั้นๆ

จะเห็นว่า ราคาน้ำมันมักเคลื่อนไหวไปตามอารมณ์ของนักลงทุน ที่มีทั้งความคาดหวังและความกังวลต่อเหตุการณ์ต่างๆ ว่า จะมีผลกระทบต่ออุปสงค์-อุปทาน ทำให้การคาดการณ์ราคาน้ำมันนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ และราคาน้ำมันมักจะอ่อนไหวกับความไม่สมดุลของอุปสงค์อุปทานอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศลิเบีย ทำให้กำลังผลิตน้ำมันหายไปวันละ 1.6 mb/d คิดเป็น 2% ของความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก แต่กลับทำให้ราคาน้ำมันดิบ Brent จากราคาไม่ถึง $100/บาร์เรล พุ่งขึ้นไปถึง $125 หรือกว่า 25% อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ราคาน้ำมันก็ได้ปรับตัวลดลงมาแล้ว หลังความกังวลในประเด็นดังกล่าวลดลงไป (ที่อ้างอิงราคาน้ำมัน Brent เพราะมันสะท้อนราคาน้ำมันในภูมิภาคยุโรป ซึ่งเป็นผู้ซื้อน้ำมันจากลิเบีย)

สำหรับมุมมองของราคาน้ำมันในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้านี้ ทีมวิเคราะห์ของ บลจ.บัวหลวง มองว่า โอกาสที่น้ำมันจะราคาพุ่งสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันมีไม่มาก (ล่าสุดราคาน้ำมัน Brent และ Dubai อยู่บริเวณ $110/บาร์เรล) ด้วยเหตุผล ดังนี้

1.แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และความเสี่ยงจากปัญหาหนี้สาธารณะยุโรปที่จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มอียูชะลอตัวลง จนอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในปี 2012 เป็นความเสี่ยงด้านลบสำหรับราคาน้ำมัน อีกทั้งเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันก็ได้มีการชะลอตัวลง และทางการจีนยังกำหนดราคาขายน้ำมันภายในประเทศใหม่ ส่งผลกระทบให้ผู้บริโภคต้องรับภาระราคาน้ำมันที่สูงขึ้น รวมทั้งการหมดเวลาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับรถยนต์ขนาดเล็ก ส่งผลให้อัตราการเติบโตของปริมาณการใช้น้ำมันของจีนลดลงจาก 9% y-y ในไตรมาส 1/2011 เหลือเพียง 1.5% y-y ในไตรมาส 3

2.OPEC รายงานว่า ความต้องการใช้น้ำมันและกำลังผลิตของประเทศนอกกลุ่มโอเปคในปี 2012 จะเพิ่มขึ้นในระดับใกล้เคียงกัน ซึ่งจะทำให้ OPEC ยังคงโควตาการผลิตในระดับเดิมที่ประมาณ 30 mb/d ได้ นอกจากนี้ ลิเบียก็กำลังอยู่ในช่วงทยอยกลับมาส่งออกน้ำมันได้มากขึ้น ซี่งจะส่งผลให้ Spare Capacity ในกลุ่ม OPEC เพิ่มขึ้นจาก 3mb/d เป็น 4.1 mb/d จึงเป็นแนวโน้มที่จะมีอุปทานน้ำมันเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ในครึ่งแรกของปี 2012 ราคาน้ำมันจึงมีความเสี่ยงในด้านลบมากกว่าด้านบวก แต่โอกาสที่จะทำให้ราคาน้ำมันจะปรับเพิ่มขึ้นก็มีอยู่เหมือนกัน ซึ่งได้แก่ ปัญหาความตึงเครียดของประเทศอิหร่าน แต่ ณ ปัจจุบัน คาดว่า ความเสี่ยงดังกล่าว ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการผลิต นอกจากนี้ ถ้าการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะยุโรปมีความชัดเจนขึ้น ก็จะส่งผลทางจิตวิทยาต่อนักลงทุน และเป็นผลดีต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยงทุกประเภท รวมทั้งน้ำมันดิบด้วย

ในระยะยาว ราคาน้ำมันไม่น่าจะเพิ่มขึ้นไปได้มากเกิน $110/บาร์เรล ได้ต่อเนื่องยาวนาน (ระยะสั้นอาจจะเป็นไปได้) เพราะราคาน้ำมันที่ระดับนั้น จะทำให้ผู้ผลิตที่มีต้นทุนสูงทุกแหล่งผลิตสามารถไปถึงจุดคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่จะผลิตน้ำมัน ซึ่งจะทำให้มีอุปทานน้ำมันใหม่ๆ เข้ามาในตลาดมากขึ้น อีกทั้ง ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอเช่นปัจจุบัน ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นจะส่งผลทางลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันลดน้อยลง

ในแง่ของแนวทางการลงทุนในหุ้น เนื่องจากว่า เราไม่สามารถคาดการณ์ทิศทางราคาน้ำมันได้อย่างแม่นยำ ดังนั้น การลงทุนระยะยาวในหุ้นที่เกี่ยวกับน้ำมัน (รวมทั้งหุ้นที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ) จึงมีความเสี่ยงตามความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ทำให้คาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการได้ไม่ง่ายนัก แต่การประเมินแนวโน้มอุปสงค์-อุปทานในภาพรวม ประกอบกับความเข้าใจถึงโครงสร้างต้นทุนและความสามารถในการผลิตในอนาคตของแต่ละบริษัท ก็พอจะทำให้เราสามารถเลือกจังหวะในการเข้าลงทุนบริษัทด้านพลังงานได้บ้าง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง