ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศาลปากีสถานเลื่อนไต่สวนนายกฯ คดีขัดคำสั่งศาล

ต่างประเทศ
19 ม.ค. 55
14:13
23
Logo Thai PBS
ศาลปากีสถานเลื่อนไต่สวนนายกฯ คดีขัดคำสั่งศาล

ศาลสูงของปากีสถานมีคำสั่งเลื่อนการไต่สวนนายกฯ เป็นวันที่ 1 ก.พ.นี้ ในข้อหาขัดคำสั่งศาลโดยไม่ยอมแจ้งเรื่องไปยังรัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ให้รื้อฟื้นคดีทุจริตของประธานาธิบดีและภรรยา โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่าไม่สามารถทำได้ เพราะประธานาธิบดีได้รับเอกสิทธิ์คุ้มกันในระหว่างการดำรงตำแหน่ง

หลังเข้าให้การต่อศาลสูงในกรุงอิสลามาบัดเป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง นายยูซุฟ ราซา กิลานี นายกรัฐมนตรีของปากีสถาน ก็เดินออกจากศาลด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม พร้อมโบกมือให้กับกลุ่มผู้สนับสนุนที่มารออยู่ด้านหน้า

การขึ้นศาลในวันนี้ (19 ม.ค.) เพื่อให้การให้ข้อกล่าวหาว่าเขาขัดคำสั่งศาล เนื่องจากนายกิลานีไม่ยอมทำจดหมายถึงทางการสวิสเซอร์แลนด์ให้รื้อฟื้นคดีทุจริตของประธานาธิบดีอาซิด อาลี ซาร์ดารี และภรรยาคือนางเบนาซีร์ บุตโต อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว โดยศาลสูงมีคำสั่งให้เลื่อนการไต่สวนเป็นวันที่ 1 ก.พ. เพื่อให้นายกิลานีมีเวลาเตรียมตัว

นายกิลานีกล่าวต่อศาลว่า การที่เขาเดินทางมาวันนี้ (19 ม.ค.) เพื่อแสดงความเคารพต่อศาล ส่วนสาเหตุที่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งศาล เนื่องจากเขาได้หารือกับเพื่อนและผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าประธานาธิบดีได้รับสิทธิ์คุ้มกันในช่วงดำรงแหน่ง และคงไม่ใช่ความคิดที่ดีที่จะโยนประธานาธิบดีไปให้ฝูงหมาป่า ซึ่งเขาจะไม่ดำเนินคดีกับประธานาธิบดีซึ่งมีเสียงข้างมากถึง 2 ใน 3

อย่างไรก็ดี หากศาลตัดสินว่า นายกิลานีมีความผิดจริง เขาอาจถูกตัดสินจำคุกสูงสุด 6 เดือน และถูกปลดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกตั้งก่อนกำหนด และตอนนี้สถานภาพของรัฐบาลปากีสถานถือว่าอยู่ในช่วงสั่นคลอน เนื่องจากประชาชนเริ่มเสื่อมความนิยม เพราะไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและการทุจริตได้

ส่วนกรณีของนายเปอร์เวซ มูชาราฟ อดีตประธานาธิบดีของปากีสถาน ซึ่งเคยประกาศว่าจะเดินทางกลับประเทศระหว่างวันที่ 27-30 ม.ค.นี้ เพื่อลงสมัครในการเลือกตั้งทั่วไป แต่เขาได้รับคำเตือนจากเพื่อนและกลุ่มผู้สนับสนุนว่า ไม่ควรเดินทางกลับในช่วงนี้เพราะอาจได้รับอันตราย ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้กล่าวในที่ประชุมวุฒิสภาว่า หากนายมูชาราฟกลับประเทศจริงก็ต้องถูกจับกุม

นายมูชาราถูกออกหมายจับใน 2 ข้อหา คือ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้นำกลุ่มกบฏในเมืองทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ และข้อหาที่ 2 คือไม่ให้การคุ้มครองนางเบนาซีร์ บุตโตมากเพียงพอ จนทำให้เธอเสียชีวิตจากการถูกลอบสังหารเมื่อปี 2550


ข่าวที่เกี่ยวข้อง