ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"นลินี" ยอมรับสนิทภริยาประธานาธิบดีซิมบับเว

ต่างประเทศ
19 ม.ค. 55
14:14
29
Logo Thai PBS
"นลินี" ยอมรับสนิทภริยาประธานาธิบดีซิมบับเว

ข้อมูลจากสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ยืนยันว่า "นลินี" ถูกขึ้นบัญชีดำของสหรัฐฯ จริง ตามคำสั่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2551 ที่เกี่ยวเนื่องกับการคว่ำบาตรซิมบับเว ก่อนหน้านี้ "นลินี" ยอมรับว่ารู้จักกับภริยาของผู้นำซิมบับเว และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ถูกขึ้นบัญชีดำ

การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นที่ทำให้ชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป มีมาตรการคว่ำบาตรแบบจำเพาะเจาะจงบุคคล และกลุ่มธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับประธานาธิบดีซิมบับเวและครอบครัว โดยอ้างเหตุผลเรื่องการบั่นทอนกระบวนการและสถาบันประธิปไตยในซิมบับเว เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2546 และประกาศเพิ่มปี 2548 ห้ามบุคคลที่มีรายชื่อตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางเข้าประเทศ พร้อมสั่งอายัดทรัพย์สินในสหรัฐฯ รวมทั้งห้ามชาวอเมริกันติดต่อค้าขายกับกลุ่มที่มีรายชื่อต้องห้าม รวมกว่า 250 รายชื่อ

สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงขึ้นในปี 2551 ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งรัฐบาลนายโรเบิร์ต มูกาเบ ใช้กำลังข่มขู่ประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายค้าน โดยมีรายงานว่าเหตุการณ์ช่วง 3 เดือนระหว่างการเลือกตั้งที่นายมูกาเบได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง มีชาวซิมบับเวเสียชีวิตอย่างน้อย 60 คน และสูญหายกว่า 30,000 คน ทำให้สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรเพิ่มเติม โดยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ลงนามในคำสั่งที่ 13469 ลงวันที่ 25 ก.ค.51 บังคับการคว่ำบาตรกับใครก็ตามที่กระทรวงการคลังและกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ พิจารณาว่ามีความข้องเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลซิมบับเว หรือช่วยเหลือ จัดหาสิ่งของ ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน การเดินทาง หรือด้านอื่นๆ จะถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรและขึ้นบัญชีดำด้วย

ซึ่งสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ยืนยันว่า นางนันลินี ทวีสิน ถูกขึ้นบัญชีดำตามคำสั่งประธานาธิบดีที่ 13469 นี้ ซึ่งทำให้ชาวอเมริกันไม่สามารถติดต่อค้าขายกับนางนลินีได้ และหากนางนลินีมีทรัพย์สินอยู่ในสหรัฐฯ ก็จะถูกยึด และการขึ้นบัญชีดำยังไม่สิ้นสุดผลบังคับใช้ เพราะผู้นำสหรัฐฯ ยืดเวลาคว่ำบาตรซิมบับเวออกไป

แต่การคว่ำบาตรต่อซิมบับเวไม่ได้เป็นมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเป็นการพิจารณาคว่ำบาตรตามสิทธิของแต่ละประเทศ ซึ่งเมื่อปี 2550 เอกอัคราชทูตตะวันตกหลายชาติ รวมทั้งสหรัฐฯ เคยหารือขอให้ไทยร่วมคว่ำบาตร แต่ไทยแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย เพราะไม่ได้อยู่ในมติของสหประชาชาติ

ไทยและซิมบับเวสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 2528 ซึ่งทูตไทยประจำแอฟริกาใต้ จะดูแลความสัมพันธ์ครอบคลุมถึงซิมบับเว ขณะที่ทูตซิมบับเวที่มาเลเซีย จะดูแลความสัมพันธ์กับไทย การต่อต้านจากโลกตะวันตก ทำให้ซิมบับเวหันมาสร้างเสริมความสัมพันธ์กับชาติในแถบเอเชีย ซึ่งแม้ความสัมพันธ์ระดับรัฐต่อรัฐระหว่างไทยกับซิมบับเวไม่ได้ใกล้ชิดนัก แต่ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า นายมูกาเบและภริยาเดินทางเยือนไทยเป็นการส่วนตัวบ่อยครั้ง และบุตรชายของนายมูกาเบก็เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

ซิมบับเวตั้งอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ เป็นระบบ 2 สภา โดยมีประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นประมุขแห่งรัฐ ดำรงตำแหน่งครั้งละ 5 ปี แต่ไม่จำกัดวาระ นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2523 นายโรเบิร์ต มูกาเบ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึงปี 2530 ก่อนขึ้นเป็นประธานาธิบดีจนถึงปัจจุบัน ซิมบับเวมีทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ เช่น แร่ธรรมชาติอย่างทองคำขาว ทองคำ เพชร รวมทั้งพืช เช่น ฝ้ายและยาสูบ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง