รอยยิ้มบนปากเผยกว้าง กับมือขยับขึ้นลงเล็กน้อยต้อนรับผู้มาเยือน สภาพหญิงสาววัย 25 ปี ที่นอนบนที่นอนขนาดเล็กด้วยสภาพร่างกายที่ไม่ได้เติบโตสมวัยเพราะมีความผิดปกติและสมองพิการตั้งแต่กำเนิด ทำให้ขนาดของลำตัวนั้นเท่ากับเด็กอายุ 5 ปี ไม่สามารถกินอาหารหรือลุกไปไหนมาไหนเองได้ ทำได้เพียงหัวเราะและยิ้มเท่านั้น ซ้ำร้ายแม่ผู้ให้กำเนิดยังได้เสียชีวิตไปแล้ว ภาระทั้งหมดจึงตกอยู่ที่ผู้เป็นพ่อซึ่งตอนนี้ก็แก่ชราแถมขายังมีอาการปวดและเดินไม่ค่อยไหว
น.ส.เสาวนีย์ ผลิอรุณ ลูกสาวคนเดียวของครอบครัวที่มีเพียงพ่อที่เป็นทั้งชีวิต จากการเล่าของผู้เป็นพ่อวันนี้จึงรู้ว่า อาการเจ็บป่วยยังไม่มีเท่าที่เห็นอยู่ในขณะนี้ เธอยังมีอาการเป็นแผลอักเสบในปาก เจ็บปวดจนกินข้าวไม่ไหว สร้างความวิตกกังวลให้แก่พ่อ
รายนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเข้าเยี่ยมถึงบ้านของทีมอาสาในการให้ความช่วยเหลือ ออกเยี่ยมผู้ป่วยและนำยาไปให้ในตำบลหัวไผ่ จังหวัดสิงห์บุรี โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
พรรณิภา ชัยรัตน์ คณะพยาบาลมหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในผู้ร่วมออกเยี่ยมผู้ป่วยได้พูดคุยสนทนาถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ให้กำลังใจผู้เป็นพ่อ และหยิบยื่นความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ ยารักษาแผลอักเสบร้อนใน นมผง พร้อมทั้งยาสามัญประจำบ้านให้ไว้
ในห้วงความคิดก่อนหันหลังจากบ้านหลังนี้ไป คำพูดของผู้เป็นพ่อที่พูดไว้ว่าลูกสาวของตนได้สิทธิคนพิการ 500 บาทต่อเดือนพุดขึ้นมาเมื่อนึกถึงภาพดีใจนั้น สามารถรักษาที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ ในขณะที่พรรณิภาถามถึงสิทธิในการขึ้นทะเบียน ท 74 แล้วจะได้รับกายอุปกรณ์ เพื่อให้เธอใช้นั่งและพาเดินออกนอกบ้านบ้าง ผู้เป็นพ่อทำหน้า งง เล็กน้อยพร้อมลุกขึ้นหยิบบัตรต่างๆ ที่พอมีมาให้ดูทั้งหมด
ซึ่งพรรณิภาได้บอกว่านี่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่ผู้มีสิทธิไม่สามารถเข้าใจและเข้าถึงบริการของรัฐ แม้ตนจะเชื่อว่า “สวัสดิการเท่านั่นที่ช่วยผู้พิการได้” แต่ชาวบ้านก็ยังไม่เข้าถึงสิทธิ์ทั้งหมดที่ควรได้รับ ดังนั้นควรมีการจัดการให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริหารเหล่านี้ได้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือที่ไม่มากแต่ก็ทำให้ผู้ป่วยได้มีความสุขยิ่งกว่าที่เป็นอยู่
เคสนี้แม้พรรณิภาบอกว่ายังมีสิ่งดี ซ่อนอยู่ในสถานการณ์ร้ายๆ เป็นความโชคดีที่เธอตัวไม่โตมากกว่านี้ เพราะจะทำให้พ่อไม่สามารถดูแลหรืออุ้มไหว และก็คงเป็นโชคดีของเราเช่นกันที่อย่างน้อยๆ ก็ยังได้เห็นและรู้ว่าสังคมวันนี้ยังมีคนที่ควรได้รับความช่วยเหลืออยู่เช่นกัน ก็ได้แต่หวังเพียงหน่อยงานภาครัฐจะรู้และเห็น เพื่อช่วยจัดการหยิบยื่นสวัสดิการทั้งหลายให้ได้ทั่วถึง
อีกกรณีหนึ่ง จำเนียน แก้วแช่ม ผู้ป่วยชายรายหนึ่งที่ได้เข้าไปเยี่ยมนั่งอยู่บนรถเข็น มีอาการครึ่งซีกชา แขน ขาข้างหนึ่งขยับไม่ได้ ปากเบี้ยว ความดันโลหิตสูง มีปัญหาเรื่องไตทำให้เท้าบวมเป็นบางครั้ง ทั้งนี้ยังรวมถึงอาการใหม่ที่ทางทีมอาสาได้ตรวจพบคือ ตาข้างหนึ่งของคุณตารายนี้มองไม่ค่อยเห็น
เมื่อ พรรณิภา บอกด้วยความห่วงใยว่าต้องดูแลตัวเองนะคุณตา ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะเจ็บป่วยไปมากกว่านี้ แล้วคุณตากลัวโรคระยะสุดท้ายไหม คุณตาตอบว่า “ไม่กลัวแต่ก็ไม่อยาก” ไม่ต้องกลัว ถ้ารู้จักดูแลตัวเองเรื่องสำคัญก็อยู่ที่อาหารการกินพรรณิภากล่าว
ครั้นเดินทางกลับจากบ้านหลังนี้ทีมอาสาได้บอกว่าเคทนี้มีส่วนดีอยู่ที่ลูกสาวขายของอยู่ที่บ้านมีเวลาดูแลรักษาพ่อที่ป่วย แต่เท่าที่ได้มีการออกเยี่ยมบ้านคนที่ป่วยส่วนใหญ่ของที่นี่จะเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นโรคความดันเลือดสูงเพราะเขากินเค็มกัน วิธีการช่วยรักษาง่ายๆ แต่ได้ผลดี คือต้องใส่ใจอาหารให้กินผักเยอะๆ ลดอาหารพวกข้าว เพื่อระบบขับถ่ายจะได้ดี กินผักหลายชนิด ครึ่งกิโลต่อวัน
ทีมอาสาทั้งหมดเดินขึ้นรถ ภารกิจก่อนกินข้าวเย็นวันนี้เป็นรายสุดท้าย คือ เยี่ยมบ้าน ยายส้มลิ้ม วราโภ คุณยายวัย 80 กว่า ซึ่งเมื่อไปถึงคุณยายก็บอกด้วยน้ำเสียงแหบแห้งแสดงออกถึงความดีใจ ว่า “ชอบคนมาเยี่ยม ทำให้สบายใจ อยากให้หมอมาเยี่ยมบ่อยๆ”
คุณยายมีอาการไม่ค่อยสบาย เวียนหัว ความดันสูง ตาซ้ายเป็นต้อกระจก มองไม่เห็น แล้วยังเดินไม่ค่อยไหวไปไหนก็จะใช้ก้นขยับตัวไปทีละน้อย ซึ่ง ผ.ศ.อารยา สอนบุญ คณะพยาบาลมหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในทีมอาสาหันมาบอกว่า “ยายไม่ได้ติดเตียงแต่ติดบ้าน แม้จะออกข้างนอกไม่ได้แต่ก็ยังสามารถขยับภายในบ้านได้”
เมื่อได้สอบถามพูดคุยกับลูกของยาย ก็ทราบว่า ยาที่ให้ยายกินเป็นยาที่หลานซื้อมาให้ เป็นยาความดัน ลดไขมันในเลือด ซึ่งทีมอาสาก็ได้เช็คตรวจดู ยาตัวนี้หากใช้ปริมาณเยอะ จะทำให้เลือดออกง่ายในกระเพาะอาหาร เส้นเลือดเปาะง่าย ซึ่งยาที่ให้แม้ไม่เป็นอันตราย แต่ควรพายายไปหาหมอเพื่อจะได้จัดยาให้ถูกต้อง แต่ทั้งนี้ ด้วยความจำกัดที่ว่า การเดินทางไปหาหมอเป็นสิ่งที่ยากลำบากเพราะยายเดินไม่ค่อยไหว
เมื่อให้ความช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ แล้วเดินจากมา พรรณิภา ได้กล่าวว่า “ลูกเป็นคนเลือกที่จะให้ยายเป็นอย่างไร จะอยู่ตามอัตภาพที่มีหรือจะให้ยายได้มีชีวิตที่ต้องยึดติดกับโรงพยาบาล ต้องขึ้นอยู่กับว่าลูกมีกำลังดูแลยายมากน้อยแค่ไหน ไม่มีสิ่งไหนที่ผิดหรือถูก เราต้องเข้าใจวิถีชุมชน หากจะให้ไปหาหมอเขาก็ลำบาก กรณีคุณยายถ้าพี่ดูแลคนไข้ประจำหมู่บ้านก็จะยอมให้แกกินยา แม้บางคนรับไม่ได้กับการที่คนไข้ไปซื้อยามากินเอง เป็นพี่พี่ก็รับได้นะ บางทีมันตัดสินใจยากนะกับวิชาชีพของการเป็นคนดูแล เราต้องไปดู เราต้องประเมินเขา เข้าใจเขา ในสภาพความเป็นอยู่ของเขาด้วย แต่ถ้าลูกแกถือบัตรยายไปที่โรงพยาบาลเชื่อไหมลูกจะไม่ได้ยาเลย เพราะหมอจะให้พาเจ้าตัวไป”
ผ.ศ.อารยา กล่าวถึงหลักการเยี่ยมบ้านว่า “การประเมินคนไข้ พอประเมินครบ เราก็เริ่มแนะนำเขา ถามว่าเราไปครั้งเดียวเราให้เขาครบไหม ไม่ครบหรอก เขารับเราได้ไม่ครบ ต้องกระตุ้นเพราะเขารับไปได้บางเรื่อง อย่างกรณีคุณลุงจำเนียน ญาติเขารู้ทุกเรื่อง ลูกเขาบอกขึ้นมาเลยว่าทำอาหารจืดให้ก็ไม่กิน เขารู้เรื่องโรคแต่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนไข้ไม่ได้”
“กรณีอย่างนี้ต้องให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูบ่อยๆ จะช่วยได้ มันเหมือนเป็นการกระตุ้นคนไข้และญาติด้วย เราเชียร์คนไข้หน่อยหนึ่งแล้วก็บอกว่าจะมาดูอีกได้หรือเปล่า เพราะบางรายเราจะเห็นว่า คนดูแลเบื่อคนไข้ ส่วนคนไข้ก็เบื่อคนดูแลทำให้ไม่ฟังกัน ฉะนั้นตัวเราต้องไปเชื่อมตรงนี้”
นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคน เพื่อลดการเป็นโรคเรื้อรังเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่ต้องปฎิบัติคือ หลัง 3 อ 2 ส คือ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย แล้วก็ 2 ส เรื่องสูบบุหรี่กับสุรา คนป่วยเราให้คำแนะนำเพื่อลดอาการแทรกซ้อนที่จะเกิดจากอาการป่วย เช่น ผลแทรกซ้อนจากความดันสูงคือเส้นเลือดในสมองตีบ พอมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นอีกอาจกลายเป็นคนพิการ ซึ่งมันก็จะต่อกัน เขาเรียกว่าและคณะ ความดันและคณะ เบาหวานและคณะ มันก็จะมีผลถึงกัน”
นี่เป็นเพียงภาพสะท้อนเล็กๆ จากมุมหนึ่งของสังคม ที่ทำให้เราได้เห็นถึงความลำบากของผู้พิการและญาติที่คอยดูแล จากสถานการณ์ภัยพิบัติที่แม้คนปกติก็ยังยากที่จะสู้ แล้วคนพิการเหล่านี้ไม่ยิ่งยากกว่าหรือ และจะทำอย่างไรให้พวกเขาได้รับรู้พร้อมทั้งเข้าถึงสิทธิ์ที่ควรได้รับ นั่นเป็นโจทย์ที่เราควรไถ่ถามจากสังคม