นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้ประสานเครือข่ายนักวิชาการด้านประกันสุขภาพ เปิดเผยว่าได้ติดตามผลการประเมิน 10 ปี ระบบหลักประกันสุขภาพของไทย พบว่าที่ผ่านมาประสบความสำเร็จทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการต่างๆ มากขึ้น ระบบมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นตัวอย่างให้กับประเทศต่างๆเป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลกแม้กระทั่ง นายบันคีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติยังได้กล่าวชื่นชมความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพของไทย แต่จากการติดตามงานที่ผ่านมาเครือข่ายนักวิชาการมีความเป็นห่วงอนาคตของระบบนี้ เพราะที่ผ่านมา 5 เดือน ตั้งแต่ที่นายวิทยา บูรณศิริ รมว.สธ. มาเป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติชุดใหม่สามารถจัดประชุมคณะกก.ได้เพียง 2 ครั้ง มีเรื่องเสนอ 10 วาระเข้าสู่การพิจารณา แต่มีมติผ่านเพียง 2 เรื่องย่อย คือ เห็นชอบผลการประเมินตาม KPI ของสปสช ปี 2554.และรับทราบผลการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนและผู้ให้บริการต่อระบบบัตรทอง ปี 2554
ส่วนอีก 8 เรื่องสำคัญยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ต่างจากยุคสมัยของนายพินิจ จารุสมบัติ รมว.สธ. พรรคไทยรักไทย ที่ใช้เวลาเพียง 5 เดือนประชุมบอร์ด 8 ครั้ง ผ่าน 22 วาระ ตั้งแต่เรื่องวางระบบ E-service บริการประชาชนบัตรทองทั่วประเทศ อนุมัติงบจัดตั้งระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และจัดตั้งกองทุนบัตรทองร่วมกับ อบต. และเทศบาล เป็นต้น หรือแม้กระทั่งยุค รตอ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรมว.สธ. เพียง 2 เดือน ได้ประชุมบอร์ด 2 ครั้ง ผ่านวาระทั้งหมด 5 เรื่อง เช่น ผ่านแนวทางการดำเนินงานกรณีให้ประชาชนใช้บริการที่ใดก็ได้ภายในจังหวัดเดียวกัน เป็นต้น
รายงานข่าวแจ้งว่านายวิทยา บูรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ได้สั่งประชุมด่วนจากเดิมนัดไว้วันที่ 6 กพ. เป็น 24 มค. นี้ โดยมีวาระสำคัญเรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการเงินการคลังและคณะอนุกรรมการอื่นๆ อีก 12 คณะ โดยนพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านแพทย์แผนไทย จะเป็นผู้เสนอโผที่จัดทำขึ้นในห้องปลัดกระทรวงสาธารณสุขโดยจะเสนออนุกรรมการทั้งหมด จำนวน 217 คน เข้าสู่คณะกรรมการทั้ง 13 คณะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของกลไกกำหนดนโยบายของระบบบัตรทอง โดยเฉพาะคณะอนุกก.การเงินการคลังส่วนใหญ่มาจากเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณและผู้แทนสถาบันการแพทย์ชั้นสูง ต่างจากชุดเดิมที่มาจากองค์ ประกอบของหน่วยบริการที่หลากหลายและมีตัวแทนผู้ใช้บริการและท้องถิ่นร่วมด้วย
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่าการเอาพวกพ้องที่สั่งได้และไม่มีประสบการณ์ด้านระบบหลักประกันสุขภาพและไม่เปิดให้มีส่วนร่วมจากผู้ป่วยรวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการทำให้ระบบบัตรทองถอยหลังเข้าคลองและล่มสลายในที่สุดสอดคล้องกับแผนล้มระบบหลักประกันสุขภาพขั้นตอนที่สอง ที่มุ่งทำให้ระบบอ่อนแอลงทำให้กลุ่มผลประโยชน์เข้าช่วงชิงเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพได้ง่ายมากขึ้น นำไปสู่การผลักดันให้เพิ่มงบประมาณครั้งใหญ่ในปีงบประมาณหน้า
“ทางชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายผู้ป่วยและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพทุกกลุ่ม จะไม่ยอมปล่อยให้ฝ่ายการเมืองและแพทย์พาณิชย์ล้มระบบที่คุณหมอสงวนสร้างไว้อย่างแน่นอนและ รมว.สธ.จะต้องรับผิดชอบกับผลงานชิ้นโบว์ดำนี้”ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว
ข่าวแจ้งว่าการประชุมตั้งคณะอนุกรรมการการเงินและคณะอนุกรรมการอื่นๆ อีก 12 คณะในวันที่ 24 มค.นี้ หลายฝ่ายโดยเฉพาะทางกรรมการตัวแทนองค์กรเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งสภาวิชาชีพหลายสภาจะเคลื่อนไหวคัดค้านและคาดว่าจะหาข้อยุติได้ยาก ยกเว้นทางรมว.สธ.จะทบทวนเรื่องนี้กันใหม่ และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตทิศทางของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป