ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รอคำสัญญาปธน.อินโดฯ- 3 ปี “ไร้หมอกควัน” หยุดขยายสวนปาล์ม-เผาป่าพรุ-ทำลายป่าฝน

21 พ.ย. 58
09:31
718
Logo Thai PBS
รอคำสัญญาปธน.อินโดฯ- 3 ปี “ไร้หมอกควัน” หยุดขยายสวนปาล์ม-เผาป่าพรุ-ทำลายป่าฝน

18 ปีมาแล้ว ที่ชาวอินโดนีเซียต้องผจญชะตากรรม รับพิษจากหมอกควันในประเทศของตัวเอง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ก็ประสบปัญหาตามไปด้วย มากน้อยขึ้นอยู่กับระยะทางห่างจากอินโดนีเซีย และกระแสลมที่พัดมา

บางพื้นที่ของประเทศไทยมีค่า PSI (Pollution Standards Index) สูงถึง 200 ทั้งที่ค่ามาตรฐานไม่ควรเกิน 300 เพราะหากเกินจากนี้นับว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่บางช่วงของสิงคโปร์ค่า PSI สูงถึง 400 แต่สำหรับในอินโดนีเซียแล้ว ค่า PSI บางพื้นที่สูงถึง 3,000 หรือมากกว่านั้น
                                         

<"">
 
เจ้าหน้าที่ Save Our Borneo องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเกาะบอร์เนียว เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ที่สำนักงานอยู่ในเมืองปาลังการายา จ.เซ็นทรัลกาลิมันตัน ว่า ปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้น มีต้นตอมาจาก ชาวบ้านจำนวนหนึ่ง เผาซังข้าวหลังฤดูเก็บเกี่ยว และบางส่วนเผาป่าพรุเพื่อปลูกปาล์ม แต่หมอกควันจำนวนมหาศาล มาจากการเผาป่าพรุ และป่าฝนเขตร้อนของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ที่ได้รับสัมปทานการใช้ที่ดินจากรัฐบาล

สิ่งที่เราเรียกร้องก็คือ ต้องการให้รัฐบาลทบทวนข้อกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เอาผิดผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผาป่าจนเกิดหมอกควัน ก่อมลพิษ ทำลายสุขภาพ กลายเป็นปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลก

“เป็นการฉวยโอกาสของอุตสาหกรรม ที่ต้องการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน จนดูเสมือนว่า คนเผาป่าคือ ชาวบ้าน ทั้งที่ตนตอของปัญหา ส่วนใหญ่มาจากการเผาป่าพรุเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน เพราะซังข้าวมีจำนวนจำกัด เผาเพียง 1-2 วัน ก็หมด แต่ป่าพรุเป็นพื้นที่สะสมซากพืชจำนวนมาก ทับถมกันเป็นเวลานาน เมื่อมีการเผา ไฟจะเกิดขึ้นอยู่ด้านล่าง มองไม่เห็นเปลวไฟด้านบน แต่จะมีหมอกควันลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าจำนวนมาก เมื่อเผาพร้อมกันหลายจุด ก็เกิดหมอกควันจำนวนมาก ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวน ทั้งกระแสลมยิ่งทำให้หมอกควันลอยไปไกล ส่งผลกระทบหลายประเทศ ขณะที่รัฐบาลมักอ้างว่าควันเหล่านี้เกิดจากไฟป่าที่เกิดขึ้นเอง”

  

<"">
 
<"">

ยูยุน (Yuyun Indradi) นักรณรงค์ด้านป่าไม้ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักงานอินโดนีเซีย ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ที่กรุงจาการ์ตา เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ว่า 40 เปอร์เซนต์ของไฟไหม้ป่าในอินโดนีเซีย เกิดจากการเผาป่าพรุ ข้อมูลระบุว่า ปี 2557 ที่ผ่านมา มีการเผาป่าพรุเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นถึง 75 เปอร์เซนต์ นโยบายส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน และการให้สัมปทานบริษัทเอกชนใช้พื้นที่ป่าพรุ ยิ่งทำให้เกิดหมอกควันร้ายแรงขึ้นทุกปี

ขณะที่ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่ม FTA Watch เขียนไว้ในรายงาน “บทเรียนจากไฟป่าอินโดฯ...” เมื่อปี 2549 ระบุว่า การให้สัมปทานป่าไม้และการบุกรุกป่าพรุในอินโดนีเซีย เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่รัฐบาลอินโดนีเซีย ประกาศนโยบายส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก และการขายไม้เพื่อทำอุตสาหกรรมกระดาษ

ปี 2549 รัฐบาลอินโดนีเซียมีแผนขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ให้ได้ 9.9 ล้านเฮกตาร์ ในปี 2553 เพื่อสร้างผลผลิตส่งออกให้ได้มากกว่ามาเลเซีย เนื่องจากในปี 2549 อินโดนีเซียส่งออกปาล์มน้ำมันเป็นอันดับ 2 ของโลก และแล้วอินโดนีเซียก็ทำสำเร็จ แต่รัฐบาลยังไม่พอใจเพียงเท่านั้น จึงกำหนดนโยบายเพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มออกไปอีก 4 ล้านเฮกตาร์หรือ 25 ล้านไร่ เพื่อเพิ่มผลผลิตปาล์มในปี 2558 ขณะที่รมว.อุตสาหกรรม อินโดนีเซีย ระบุว่า ภายในปี 2563 อินโดนีเซียจะผลิตน้ำมันปาล์มดิบให้ได้ 50 ล้านตัน

                   

<"">
 

ยูยุน เจ้าหน้าที่กรีนพีซ อินโดนีเซีย กล่าวว่า การผลิตน้ำมันปาล์ม เป็นสาเหตุสำคัญประการเดียวในการตัดไม้ทำลายป่าในอินโดนีเซีย แผนที่ของกระทรวงป่าไม้แสดงให้เห็นว่า อินโดนีเซียกำลังสูญเสียพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนมากถึง 3,875,000 ไร่ ทุกปี (ระหว่างปี 2552-2554)

หากนับย้อนไปในช่วงทศวรรษที่ 1960 อินโดนีเซีย มีพื้นที่ป่ามากถึง 80 เปอร์เซนต์ ของพื้นที่ประเทศ แต่เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 1980 อินโดนีเซียนับเป็นประเทศที่มีอัตราการสูญเสียป่าไม้สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีอัตราการสูญเสียถึงปีละ 1 ล้านเฮกตาร์ หรือ 6.2 ล้านไร่ ทศวรรษที่ 1990 เสียพื้นที่ป่าปีละ 1.7 ล้านเฮกตาร์ หรือ 10.54 ล้านไร่ และทศวรรษที่ 2000 มีอัตราการสูญเสียอยู่ที่ปีละ 2-2.4 ล้านเฮกตาร์ หรือ 12.4-14.88 ล้านไร่

เช่นเดียวกับรายงานของกรรณิการ์ ที่ระบุว่า ไฟป่าในอินโดนีเซียรุนแรงขึ้นทุกปี นับตั้งแต่ปี 2540 คงไม่สามารถเรียกว่าเป็นภัยธรรมชาติได้ แต่ควรเรียกว่า “หายนะที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์” มากกว่า

ซึ่งวิกฤตหมอกควันที่เกิดขึ้น มีจุดริเริ่มมาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1980 ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) สนับสนุนให้รัฐบาลประธานาธิบดีซูฮาร์โต ทำสวนป่าเพื่ออุตสาหกรรม โดยอ้างว่าเพื่อฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม และลดการพึ่งพาไม้ธรรมชาติ แต่เบื้องหลังคือการผลักดันให้ขึ้นสู่ประเทศผู้ผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษยักษ์ใหญ่ของโลก                                                                                                                                                                                      

<"">

แต่ในความเป็นจริง อุตสาหกรรมกระดาษของอินโดนีเซียใช้ไม้จากสวนป่าเพียง 20-25 เปอร์เซนต์เท่านั้น ส่วน 75-80 เปอร์เซนต์ เป็นไม้จากป่าธรรมชาติ เช่นเดียวกับกรณีของปาล์มน้ำมัน ที่ให้อินโดนีเซียรับไปทำ ด้วยเหตุผลเพราะ ค่าแรงราคาถูก ที่ดินราคาถูก สภาพอากาศดี สภาพดินเหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการของจีนและอินเดีย

ทั้งสองปัจจัยคือจุดเริ่มต้นของการทำลายป่าฝนเขตร้อน และป่าพรุที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ยูยุน เจ้าหน้าที่กรีนพีซ ยังกล่าวถึงประเด็นเดียวกันว่า ปัญหาที่ทำให้เกิดการเผาป่าคือ ความต้องการทางเศรษฐกิจ ป่าไม้เคยเป็นอุตสาหกรรมที่ทำเงินให้อินโดนีเซีย รองจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่การจัดการที่ไม่ยั่งยืน ทำให้ป่าถูกทำลาย

สำหรับป่าไม้ 140 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งเป็นของรัฐ หากบริษัทผลิตน้ำมันปาล์มต้องการใช้พื้นที่เพื่อปลูกปาล์ม ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลท้องถิ่น ส่วนป่าสงวนควรมีสัดส่วนที่มากกว่าป่าที่ใช้เพื่อการผลิตปาล์ม เพราะปัจจุบันป่าสงวนเหลือเพียง 30 เปอร์เซนต์เท่านั้น ทั้งที่ความเป็นจริงควรจะมากกว่านี้ แต่ขณะนี้เศรษฐกิจกำลังเติบโตจึงให้สิทธิในการจัดการป่าในหลายส่วนมากขึ้น ทำให้เกิดความไม่สมดุลในการให้สิทธิบริษัทต่างๆ บริษัทบางแห่งได้รับสัมปทานเช่าสิทธิป่าไม้มากกว่า 10,000 เฮกตาร์ บางแห่งได้พื้นที่มากกว่า 100,000 เฮกตาร์ ขณะที่ประชาชนทั่วได้ มีพื้นที่ทำกินเพียงครอบครัวละ 2 เฮกตาร์เท่านั้น

“การคอร์รัปชั่นในหน่วยงานป่าไม้ของอินโดนีเซียมีค่อนข้างสูง ป่าไม้เคยทำเงินได้เป็นอันดับสาม ตอนนี้ตกมาอยู่อันดับที่ 20 มีรายได้เพียง 0.03 เปอร์เซนต์ ของ GDP ของอินโดนีเซีย”

ยูยุนเปิดเผยว่า เมื่ออินโดนีเซียประกาศนโยบายจะเป็นประเทศส่งออกปาล์มน้ำมันมากที่สุดในโลก และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาลงทุนธุรกิจปาล์ม ทำให้พื้นที่ปลูกปาล์มส่วนใหญ่ อยู่ในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ จากข้อมูลปี 2551 พบว่า พื้นที่ปลูกปาล์มของบริษัทเอกชน ร้อยละ 47.95 ขณะที่ผู้ผลิตรายย่อย มีพื้นที่ 43.72 ส่วนพื้นที่ของรัฐ อยู่ที่ร้อยละ 8.33 เท่านั้น

<"">

ขณะที่ เจ้าหน้าที่ Save Our Borneo อธิบายเหตุผลที่เจ้าของพื้นที่ที่ได้รับสัมปทาน ไม่ยอมตัดไม้ในที่ดินมาใช้ ก่อนลงมือปลูกปาล์ม แต่กลับใช้วิธีการเผาว่า ตามกฎหมายของอินโดนีเซีย การขออนุญาตตัดไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ เป็นขั้นตอนที่วุ่นวายมาก แม้จะเป็นไม้ของตัวเองก็ตาม การเผาจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่ธุรกิจเหล่านี้เลือกใช้ ทั้งรวดเร็ว ไม่ต้องจ้างคนงานมาตัดไม้ ชักลาก และใช้เวลาน้อยกว่า โดยคนเหล่านี้ไม่ได้คิดว่า หมอกควันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผู้คน และชั้นบรรยากาศเลย

ขณะที่ยูยุนกล่าวต่อว่า ปัญหาการเผาป่าในอินโดนีเซียมีมานานกว่า 18 ปีแล้ว แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาล แต่ข้าราชการในกระทรวงต่างๆ ยังเป็นกลุ่มเดิม ทั้งที่ควรมีการแก้ป้ญหา แต่เพราะการคอร์รัปชั่น และการทำงานที่ไม่กระตือรือร้น ทำให้คิดเพียงว่าเดี๋ยวก็มีฝนตก แล้วก็จะดีขึ้น หากไม่มีการร้องเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่มีปัญหา โดยเขาลืมคิดไปว่า “ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อสุขภาพกว่านี้ ไม่อย่างนั้น ถือว่ารัฐบาลล้มเหลวในการปกป้องประชาชน และปกป้องป่าไม้”

    

<"">
     
ข้อมูลจากกรีนพีซ ระบุว่า ป่าพรุเป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนที่มากที่สุดในโลก ซึ่งป่าพรุในอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่มาก สามารถเก็บกักคาร์บอนได้มากถึง 35 พันล้านตัน นั่นหมายความว่า เมื่อระบายน้ำออก และจุดไฟเผา ป่าพรุจะกลายเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมหาศาล

“การตัดต้นไม้และขออนุญาตใช้ไม้จากหน่วยงานของรัฐ มีค่าใช้จ่ายและขั้นตอนยุ่งยาก ชาวบ้าน ผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน และผู้ผลิตกระดาษ จึงเลือกวิธีเผาป่า ที่นอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่าย ยังช่วยลดกรดในดิน ทำให้ต้นปาล์มเจริญเติบโตได้ดี”

อย่างไรก็ตามแม้ว่าเราจะได้รับข้อมูลจากหลายองค์กรทั้งในประเทศไทย อาเซียน และในประเทศอินโดนีเซีย ว่าต้นตอของปัญหาหมอกควันในอินโดนีเซียมาจากการเผาป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน และมีการเผาเกิดขึ้นทุกปีมานานถึง 18 ปีแล้ว

แต่เมื่อผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ เดินทางไปยังศูนย์ปฏิบัติการดับเพลิง ซึ่งรับผิดชอบดับไฟป่าของเมืองกาปวส และเมืองปาลังปีเซา จ.เซ็นทรัลกาลิมันตัน กลับไม่ได้รับคำตอบว่ามีพื้นที่เท่าใดที่เกิดไฟป่า หัวหน้าศูนย์ระบุว่า “ตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขที่อ่อนไหวเกินไป หากต้องการทราบต้องไปถามกระทรวงป่าไม้และสิ่งแวดล้อม”

อย่างไรก็ตามในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดไฟป่าเมื่อปลายเดือนส.ค.2558 ที่ผ่านมา รัฐบาลส่งทหารจากส่วนกลางมาช่วยดับไฟป่าจำนวน 500 นาย โดยมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ร่วมด้วย 82 นาย และตำรวจอีก 100 นาย และตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา พวกเขาไม่เคยได้หยุดเลยแม้แต่วันเดียว

         

<"">
<"">

ยูยุนยังกล่าวด้วยว่า ป่าของอินโดนีเซียเป็นป่าฝนเขตร้อนที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก มีเนื้อที่ 854 ล้านไร่ เป็นป่าสมบูรณ์ 549 ล้านไร่ การให้สัมปทานบริษัทเอกชนเข้ามาทั้งตัดไม้ขนาดใหญ่ และทำลายป่าพรุที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน การบริหารจัดการที่ไม่ดี ทำให้ป่าในอินโดนีเซียถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว คาดการณ์ว่าหากยังไม่มีการแก้ปัญหาเช่นนี้ ป่าของอินโดนีเซียจะหมดไปภายใน 15 ปี

อย่างไรก็ตามแม้วันนี้หมอกควันจะจางลงไปแล้ว แต่ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และแม้แต่องค์กรเอกชนของอินโดนีเซียเองก็ตาม ต่างเรียกร้องรัฐบาลอินโดนีเซีย ให้แสดงความรับผิดชอบ แก้ไขปัญหานี้ ไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพราะแม้ว่าที่ผ่านมา จะมี “ข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลภาวะหมอกควันข้ามพรมแดน” ก็ตาม แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลอินโดนีเซีย ตั้งแต่ต้น ด้วยการไม่ลงนามในข้อตกลงดังกล่าวที่มีขึ้นเมื่อปี 2545

ทำให้ทุกวันนี้มีประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบทางสุขภาพ ได้รับผลกระทบทางธุรกิจ จากหมอกควันดังกล่าว แม้แต่ประชาชนของอินโดนีเซียเอง มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคระบบทางเดินหายใจปีละกว่า 100,000 คน

ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย จะแก้ปัญหานี้หมดไปใน 3 ปี ตามที่ประกาศไว้หรือไม่

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง