ไม่เพียงแต่งานพากษ์เสียงที่เป็นผลงานที่โดดเด่นการเป็นนักร้อง ยังเป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่ทำให้ จุรี โอศิริ แจ้งเกิดในวงการ เพราะมีน้ำเสียงที่ไพเราะน่าฟัง ประกอบกับการออกเสียงภาษาไทย ที่ถูกต้องและชัดเจน ผลงานเพลงละครชีวิตเป็น 1 ใน 4 ผลงานเพลงของป้าจุ๊-จุรี โอศิริ ที่ได้บันทึกเสียงไว้ ในสมัยที่เป็นนักร้องของวงกรมโฆษณาการ หรือ วงสุนทราภรณ์ ซึ่งเป็นผลงานอีกด้านหนึ่ง ที่สะท้อนความสามารถที่หลากหลายนอกเหนือไปจากที่รู้จักกันดีว่า ศิลปินแห่งชาติผู้นี้ เป็นทั้งนักพากษ์ และ นักแสดง
ละครแห่งชีวิตของ จุรี โอศิริ ปิดฉากลงด้วยวัย 82 ปี นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของครอบครัว และ วงการบันเทิงในงานพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพเมื่อวานนี้ ( 26 ม.ค.) เราจึงได้เห็นภาพบุคคลในวงการบันเทิงจำนวนมากมาร่วมไว้อาลัยปูชนียบุคคลของวงการเป็นครั้งสุดท้าย
นายนพพล โกมารชุน ทายาทเพียงคนเดียวของ ป้าจุ๊ บอกว่า แม้มารดาจะจากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่ผลงานการแสดง และการปฏิบัติตัวที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนในวงการนี้จะยังคงอยู่ตลอดไป
ส่วนผลการคัดเลือกเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินผู้มีความสามารถ และอุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจนโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2554 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติประกาศรายชื่อศิลปินแห่งชาติใน 3 สาขา จำนวน 9 คน ดังนี้
สาขาทัศนศิลป์ได้แก่ นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ด้านจิตรกรรม , นายเมธา บุนนาค ด้านสถาปัตยกรรม , นายทองร่วง เอมโอษฐ์ ด้านประณีตศิลป์-ศิลปะปูนปั้น
สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ นายประภัสสร เสวิกุล ด้านนวนิยายและกวีนิพนธ์ , นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ด้านเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์
และสาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ นางรัจนา พวงประยงค์ ด้านนาฏศิลป์ไทย-ละคร , นายนคร ถนอมทรัพย์ ด้านดนตรีสากล-ประพันธ์และขับร้อง , นายเศรษฐา ศิระฉายา ด้านดนตรีไทยสากล-ขับร้อง และ รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล ด้านละครเวทีและละครโทรทัศน์
สำหรับศิลปินแห่งชาติในปี 2554 จะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันศิลปินแห่งชาติ และในวันดังกล่าวจะมีงานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่ศิลปินแห่งชาติ พร้อมกิจกรรมการแสดงและนิทรรศการศิลปินแห่งชาติ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติมาเมื่อปี2527 และประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติในปีแรกเมื่อปี 2528 จนถึงปี 2553 มีศิลปินสาขาต่างๆ ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติแล้วรวม 212 คน เสียชีวิตไปแล้ว 92 คน มีชีวิตอยู่ 120 คน
โดยผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติจะได้รับเงินตอบแทนเดือนละ 20,000 บาท และสามารถเบิกเงินสวัสดิการเพื่อการรักษาพยาบาลได้ตามระเบียบราชการ รวมทั้งมีค่าช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัย และ หากเสียชีวิต จะมีค่าช่วยเหลืองานศพ 15,000 บาท ค่าจัดทำหนังสือที่ระลึก 120,000 บาท