คนไทยเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาเฉลี่ยวันละ 100 คน ห่วงเด็กเล็กใช้ยาต้านแบคทีเรียเกินจำเป็น
ผศ.เภสัชกรหญิงนิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา เปิดเผยว่า แต่ละปีมีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียประมาณ 88,000 คนและเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 38,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 100 คน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเฉลี่ยทั่วโลก จากการที่ประชาชนยังมีพฤติกรรมซื้อยากินเองเมื่อเจ็บป่วย บุคลากรทางการแพทย์จ่ายยาต้านแบคทีเรียเกินความจำเป็นและปัญหาดื้อยาภายในโรงพยาบาล โดยเสนอว่าควรมีองค์กรกลางเพื่อติดตามและเฝ้าระวังการใช้ยาต้านแบคทีเรีย เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพให้กับประชาชน รวมทั้งสหวิชาชีพควรให้ความรู้กับประชาชนลดการใช้ยาโดยไม่จำเป็น
ด้านเภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ระบุถึงการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น ทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจัดทำแผนยุทธศาสตร์จัดการปัญหาเชื้อดื้อยาจุลชีพของประเทศไทยและผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ
ขณะที่ รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ ผู้แทนสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย แนะนำผู้ปกครองควรรักษาตามอาการเมื่อลูกเจ็บป่วย โดยเฉพาะ 3 กลุ่มโรค คือ โรคหวัด ท้องเสียและบาดแผลสด ซึ่งไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านแบคทีเรีย เพราะหากเด็กได้รับยาต้านแบคทีเรียมากเกินไป จะส่งผลทำให้ร่างกายนั้นเสียสมดุล สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนในเด็ก ภาวะภูมิแพ้และโรคหอบหืด
ซึ่งคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เตรียมบรรจุเรื่องวิกฤตการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ ให้เป็น 1 ใน 5 ระเบียบวาระของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะ