นพ.วิชัย โชควิวัฒน ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านผู้สูงอายุในบอร์ด สปสช. เปิดเผยว่า ขณะนี้มีห้ากลุ่มผู้เสียประโยชน์ ภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายการเมืองได้เข้ายึดครองกำหนดอนาคตของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกำลังมีความพยายามจะผลักดันให้เปลี่ยนหลักการของระบบที่นายแพทย์สวงน นิตยารัมภ์พงศ์ ได้สร้างไว้ ทำให้เกิดเสียงคัดค้านและเป็นห่วงจากเครือข่ายผู้ป่วย ประชาชน สื่อมวลชน ภายในประเทศและนักวิชาการต่างประเทศ ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำลังจับตาดูพัฒนาการของระบบหลักประกันสุขภาพของไทยว่าจะไปทางไหน
ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านผู้สูงอายุ เปิดเผยต่อว่า ห้ากลุ่มผู้เสียประโยชน์ ได้แก่ หนึ่งผู้บริหารหัวเก่าบางคนของกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่ต้องการสูญเสียอำนาจในการใช้งบประมาณ และต้องการกำกับให้ สปสช.เป็นหน่วยงานหนึ่งกลับไปอยู่ภายใต้กระทรวง
กลุ่มที่สอง บริษัทยาข้ามชาติ เพราะระบบ สปสช.ทำให้ราคายาถูกลงและไม่ต้องการให้บอร์ด สปสช. ผลักดันการบังคับใช้สิทธิ์ กับสิทธิบัตรยาหรือซีแอลเหมือนที่ผ่านมา
กลุ่มที่สามธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ที่เกรงจะสูญเสียตลาด เช่น การผ่าตัดต้อกระจกและทำให้เสียราคาที่จะเรียกกำไรจากระบบสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม
กลุ่มที่สี่ ผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนในวิชาชีพแพทย์บางคน เพราะถูกครอบงำจากธุรกิจยา และธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีการให้สินบนปนน้ำใจแก่แพทย์บางส่วนที่มีบทบาทสูงในองค์กรวิชาชีพ
กลุ่มที่ห้า นักการเมืองที่ฉ้อฉล เพราะระบบงบประมาณแบบเหมาจ่ายลงสู่หน่วยบริการโดยตรง และบริหารกำกับโดยคณะกรรมการที่มาจากหลายภาคส่วน ทำให้การล้วงลูก ของนักการเมืองที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ทำได้ยากกว่าระบบงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข “แนวคิด หลักการ และวิธีการบริหารของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้มีผู้เสียประโยชน์ถึงห้ากลุ่ม จึงทำให้มีการรวมตัวกันภายใต้การประสานงานของผู้มีอำนาจทางการเมืองภายในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อครอบงำการกำหนดนโยบายของ สปสช. โดยไม่สนใจว่าประชาชนจะต้องเสียอะไร และระบบหลักประกันสุขภาพของไทยจะถดถอยอย่างไร
มีรายงานว่า มีความพยายามจะผลักดันให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติชุดใหม่มีมติให้ใช้เงินกองทุนบัตรทองซึ่งได้รับงบต่อหัวต่ำกว่าระบบอื่นอยู่แล้ว ขยายไปชดเชยความเสียหายให้กับผู้ป่วยในระบบประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และโรงพยาบาลเอกชน โดยการแก้ไขมาตรา 41 พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยโรงพยาบาลเอกชนไม่ต้องร่วมออกค่าใช้จ่ายหรือรับผิดชอบกรณีทำให้ผู้ป่วยเกิดความเสียหาย