ศาลยกฟ้อง
ชาวบ้านและแกนนำกลุ่มคัดค้านโครงการท่อก๊าชไทย-มาเลเซีย อ.จะนะ จ.สงขลา มายังศาลจังหวัดสงขลาเพื่อฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น หลังชาวบ้านและแกนนำกลุ่มคัดค้านโครงการนี้ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมตำรวจอีก 5 นาย ฐานความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโดยมิชอบและร่วมกันทำร้ายร่างกาย กรณีออกคำสั่งให้ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมที่โรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อปี 2545
ชาวบ้านและแกนนำฯกล่าวว่า ไม่ว่าศาลจะพิพากษาออกในแนวทางใด ทุกคนพร้อมยอมรับคำตัดสินและเชื่อมั่นว่าชาวบ้านจะเป็นฝ่ายชนะคดี เนื่องจากวันที่ 21 ตุต.ค.2558 ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ตำรวจฟ้องร้องชาวบ้านและเอ็นจีโอ จำนวน 32 คน ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่าการชุมนุมเพื่อรักษาสิทธิ์ของชุมชนภายใต้กรอบกฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่กระทำได้
ล่าสุด ศาลจังหวัดสงขลาพิพากษายกฟ้อง พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีต ผบ.ตร. พร้อมนายตำรวจอีก 5 นาย ซึ่งคดีนี้นายสักกริยา หมะหวังเอียด กับพวกรวม 25 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง หลังใช้เวลาในการต่อสู้คดีนานถึง 13 ปี โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ที่สมควรแก่เหตุ ทางโจทก์ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานว่าจำเลยแต่ละรายกระทำผิดอย่างไรและเชื่อในหลักฐานของจำเลยที่อ้างถึงความจำเป็นต้องสลายการชุมนุม
หลังรับทราบคำพิพากษา ตัวแทนชาวบ้านได้ร่วมกันแถลงยืนยันจะยื่นอุทธรณ์เพื่อหาผู้รับผิดชอบต่อการใช้กำลังสลายการชุมนุม จนทำให้ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย แม้จะรู้สึกเสียใจกับคำพิพากษาแต่ก็เคารพในอำนาจศาล
นางสาว ส รัตนมณี พลกล้า ทนายความ กล่าวว่าศาลได้ให้เหตุผลในการยกฟ้องว่าหลักฐานไปไม่ถึงจำเลยในกรณีของจำเลยที่ 1 หรือ พล.ต.อ.สันต์ ศาลเห็นว่าไม่มีส่วนต้องรับผิดชอบในกรณีนี้เนื่องจากการกำหนดแผนรักษาความปลอดภัยในวันเกิดเหตุเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 หรือ พล.ต.ต.สัณฐาน ในการดูแลกำกับแผน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในขณะที่ พล.ต.ต. สัณฐานนั้นศาลได้ให้น้ำหนักกับหลักฐานฝ่ายจำเลยมากกว่า เนื่องจากมีผู้ชุมนุมมาล้อมที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และก่อนหน้านี้เคยมีเหตุการชุมนุมคล้ายกันเกิดขึ้นมาก่อนถึง 2 ครั้ง ศาลจึงเห็นว่าการสลายการชุมนุมจึงสมควรแก่เหตุ ในขณะที่จำเลยที่ 4, 6, 13 และ 14 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการสลายการชุมนุม ศาลมองว่าเป็นเพียงผู้รับคำสั่งและปฏิบัติตามหน้าที่ตามคำสั่งเท่านั้น
ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นใช้พิจารณาวันนี้ขัดกับข้อเท็จจริงของศาลปกครองสูงสุดและศาลฎีกาที่ตัดสินไปก่อนหน้านี้ ซึ่งต่างให้ความเห็นตรงกันว่าการชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ ศาลชั้นต้นไม่อ้างคำพิพากษาของศาลฎีกาทั้งที่ควรเป็นข้อเท็จจริงถึงที่สุด นางสาว ส กล่าวอีกว่าศาลฎีกาได้ตัดสินเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ยืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องชาวบ้านทั้ง 32 คน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องในข้อหาชุมนุมอย่างไม่สงบและพกพาอาวุธในขณะชุมนุม
ด้านนางสุไรด๊ะห์ โต๊ะหลี กล่าวว่าทางกลุ่มจะอุทธรณ์ต่อเพราะเห็นว่าศาลใช้มาตรฐานไม่เท่าเทียมกัน และยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ โดยได้เข้ามาสลายการชุมนุมทั้งๆ ที่ตัวแทนรัฐบาลขณะนั้นได้เจรจาและมีข้อตกลงให้ชาวบ้านรอเพื่อยื่นหนังสือให้รัฐบาลตามที่ทางกลุ่มเสนอ
ทั้งนี้ เหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มผู้คัดค้านโครงการท่อก๊าชไทย-มาเลเซีย เกิดขึ้นที่โรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2545 หลังชาว อ.จะนะ จำนวนหลายร้อยคนไปยังโรงแรมเจบีเพื่อยื่นหนังสือต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยขอให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าชไทย-มาเลเซียที่ อ.จะนะ แต่กลับถูกตำรวจเข้าสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายคน